สัญญาณส่งออก ก.ค.ชะลอตัว ครึ่งปีนำเข้าจีนพุ่งแรง31.8%
การส่งออกไทยเดือน มิ.ย.2568 มีมูลค่า 28,649 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 15.6% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 27,588 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.1% ดุลการค้าเกินดุล 1,061 ล้านดอลลาร์
ส่วนภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 166,851 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 15.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 166,914.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.6% ดุลการค้าขาดดุล 62.2 ล้านดอลลาร์ และถ้าหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 14.2%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจัยหนุนการส่งออกเดือน มิ.ย.2568 ขยายตัวมาจากการชะลอการใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐ ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐเร่งนำเข้าสินค้าไทยมากขึ้น เพื่อปิดความเสี่ยงด้านราคาในอนาคต โดยความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนเติบโตได้ดีตามการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล
ขณะที่สินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะผลไม้สดและแช่แข็งฟื้นตัวกลับมาได้ดีในเดือน มิ.ย.นี้ เช่นเดียวกับ มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ต่างขยายตัวในเดือนนี้
สำหรับการส่งออกเดือน มิ.ย.2568 ที่ขยายตัว 15.5 % มาจากสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 13.5% โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 10.7% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 17.4%
สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้กระป่องและแปรรูป และสินค้าที่หดตัว เช่น ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
ทั้งนี้ ครึ่งปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 2.4% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 17.6% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ
ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ทั้งนี้ ครึ่งปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 19.3%
ตลาดส่งออกสหรัฐพุ่งแรง
ด้านตลาดส่งออก ขยายตัวดีเกือบทุกตลาด โดยการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้น 19.3% ประกอบด้วยตลาดสหรัฐ เพิ่ม 41.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ
ส่วนสินค้าส่งออกไปสหรัฐที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัว 29.7%
ด้านตลาดจีน เพิ่มขึ้น 23.1% , ตลาดสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 11.9% , CLMV เพิ่มขึ้น 9% , อาเซียน เพิ่มขึ้น 6.5% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 3.2%
ครึ่งปีนำเข้าจีนพุ่งแรง31.8%
ด้านการนำเข้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ต้องจับตาดูการนำเข้าจากจีนมีมูลค่าสูงถึง 49,514 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วมีการนำเข้า 37,555 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 38.1%
สำหรับสินค้าสำคัญที่นำเข้าจากจีนสูงสุดช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ คือ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 8,677 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 78.75% รองลงมาเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 5,002 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 35.11% , เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 3,269 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16.17% , เคมีภัณฑ์ 2,972 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.14% และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 2,806 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 28.56%
ส่งสัญญาส่งออก ก.ค.ชะลอตัว
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งออกเดือน ก.ค.2568 คาดว่าจะชะลอตัวลง แต่ไม่น่าจะติดลบ เพราะช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา คู่ค้าเร่งนำเข้า จนทำให้การส่งอกรวมเพิ่มถึง 15%
ส่วนในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ส.ค.-ธ.ค.) การส่งออกจะชะลอตัวลง แต่ต้องรอดูผลการเจรจาภาษีสหรัฐว่าจะสรุปอย่างไร และหากได้อัตราเดียวกับประเทศในภูมิภาคที่ 18-20% การส่งออกไทยไม่กระทบมาก แต่ถ้าโดนมากกว่านี้จะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะสินค้าส่งออกของภูมิภาคนี้ใกล้เคียงกันและไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก
“การส่งออกครึ่งปีหลังจะชะลอตัวแน่นอน จากผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐและเงินบาทที่แข็งค่า แต่ทั้งปีคาดว่าจะยังโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 2-3% โดยช่วง 6 เดือนที่เหลือ จะต้องมีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 23,300-23,800 ล้านดอลลาร์” นายพูนพงษ์ กล่าว
ภาษีทรัมป์ชี้ชะตาส่งออกไทย
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มการส่งออกครึ่งหลังของปี 2568 การดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐส่งผลต่อการค้าไทยและโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลของการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐ ก่อนที่ภาษีต่างตอบแทนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค.2568 เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อทิศทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคตของไทย
ทั้งนี้ ไทยยื่นข้อเสนอฉบับใหม่ที่เปิดตลาดมากขึ้นให้กับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ซึ่งได้รับการตอบรับในทิศทางที่ดี และคาดว่าไทยจะได้รับอัตราภาษีที่เหมาะสม และยังแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นในภูมิภาคได้ในระยะยาว
ดังนั้นการสร้างความสมดุลทางการค้ากับสหรัฐถือว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยเร่งปรับปรุงโครงสร้างการส่งออกไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศเพื่อรองรับการกระจายความเสี่ยงการผลิตและลงทุน และยกระดับสภาพแวดล้อมทางการค้าของประเทศให้แข่งขันได้ในระดับโลกเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ประเมิน ไม่ว่าผลการเจรจาการค้ากับสหรัฐจะมีข้อสรุปอัตราภาษีที่ระดับใด โดยกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการรองรับและป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า ซึ่งเฝ้าระวังสินค้าสำคัญใน 49 รายการมากขึ้น ในแหล่งกำเนิดสินค้าที่กรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้ให้ใบรับรองเอง
รวมทั้งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีการจัดคณะผู้แทนการค้าไปเปิดตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ละตินอเมริกา ยุโรป ส่วนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างไทย-EU, ไทย-เกาหลีใต้ และไทย-UAE
ขณะที่รัฐบาลจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) 2 แสนล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ