BLACKPINK WATER และ 5 วิธีจัดคอนฯ แบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม
กล่องน้ำดื่มสีชมพู-ดำ “BLACKPINK Water” คือน้ำดื่มรักษ์โลกของสี่สาว BLACKPINK ที่เปิดตัวพร้อมการกลับมาของวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากเกาหลีใต้ ที่จุดประกายความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมในแวดวงเทศกาลดนตรีขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเราสามารถอินไปกับเสียงเพลงและสิ่งแวดล้อมได้พร้อมกัน
BLACKPINK จัดคอนเสิร์ตล่าสุด “BLACKPINK WORLD TOUR IN GOYANG” ที่เมืองโกยาง ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 5–6 กรกฎาคม 2568 คอนเสิร์ตครั้งนี้ของวง BLACKPINK จัดเพียง 2 วัน แต่มีผู้เข้าร่วมรวมถึง 78,000 คน สะท้อนถึงการใช้พลังงานมหาศาลในการดูแลมวลชนหลายหมื่นที่มารวมตัว ณ ที่เดียวกัน
โดยทั่วไปแล้วการจัดอีเวนต์อย่างคอนเสิร์ต แม้จะชุบชูจิตใจ แต่ไม่ใช่กิจกรรมที่ดีต่อโลกเท่าไรนัก ยิ่งในสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาพลังงาน และขยะ แต่หากจะตัดความบันเทิงออกไปเสียหมด ความสมดุลด้านศิลปะและวัฒนธรรมคงจะขาดหายไป
ดังนั้นการหา “ตรงกลาง” คือการจัดกิจกรรมเพื่อความบันเทิงที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด กล่องน้ำดื่มขนาด 330 มล. อันเกิดจากความร่วมมือของบริษัท Tetra Pak และ YG Entertainment คือก้าวหนึ่งที่สำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ลดขยะพลาสติก แต่เป็นการโปรโมตความยั่งยืน และแนวทางรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แฟนเพลงหลายหมื่นคน ผ่านกล่องน้ำกว่า 80,000 กล่อง
แล้วนอกเหนือจากกล่องน้ำดื่ม ยังมีวิธีอะไรอีกบ้างที่ทำให้ผู้จัดคอนเสิร์ตสามารถรวมเอาความยั่งยืนเข้ามาในกระบวนการการจัดคอนเสิร์ต Spotlight แบ่งปัน 5 แนวทางในการจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีอย่างยั่งยืน อ้างอิงข้อมูลจาก Ticket Fairy
ลดขยะ ขวดน้ำพลาสติกและอาหารคือตัวการสำคัญ
คอนเสิร์ตสร้างขยะ คำนี้ไม่ผิดจากความจริง เพราะทั้งขวดน้ำ กระป๋องเครื่องดื่ม แก้ว เต็นท์ อุปกรณ์โครงสร้าง หรือแม้แต่ชุดใส่ไปคอนเสิร์ตที่ไม่ได้ถูกหยิบกลับมาใช้อีก ล้วนนับเป็นขยะทั้งสิ้น
ในปี 2019 เทศกาลดนตรีเป็นผู้สร้างขยะถึง 53,000 ตันในสหรัฐฯ และมากถึง 23,500 ตันในสหราชอาณาจักร และหนึ่งในปัญหาหลักคือขวดพลาสติก
การใช้กล่องน้ำจากเยื่อไม้ของวง BLACKPINK จึงเป็นการแก้ไขปัญหาหลักวิธีหนึ่ง แต่นอกจากการใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายแล้ว ยังมีวิธีการลดขยะจากขวดพลาสติกอื่น ๆ เช่น การจัดให้มีจุดเติมน้ำที่ผู้ชมสามารถเตรียมแก้วไปเติมได้ หรือการจัดระบบรีไซเคิลอย่างครอบคลุม เพื่อให้มั่นใจว่าขวดพลาสติกหรือขยะที่รีไซเคิลได้ชนิดอื่น ๆ มีปลายทางที่การรีไซเคิล ไม่ใช่หลุมขยะ
นอกจากขยะพลาสติก ยังมีขยะอาหารที่เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ ทางออกที่เป็นที่นิยมคือการร่วมมือกับองค์กรที่สามารถรับขยะอาหารหลังงานเอาไปสร้างประโยชน์ได้ เช่น การทำเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งองค์กรในไทยที่เป็นตัวอย่างด้านการแปรอาหารเหลือจากงานอีเวนต์เป็นปุ๋ยหมักคือ “ชูชก (ShooShoke)” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะอาหารเหลือทิ้ง มีไอเดียเศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และนำปุ๋ยอินทรีย์นั้นไปใช้ในการทำเกษตรกรรม หนึ่งในคู่ค้าของบริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด (AME) เช่นในงานบ้านและสวนแฟร์
เลือกใช้พลังงานจากแหล่งยั่งยืน
อีกปัจจัยการจัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีที่กระทบสิ่งแวดล้อมมากคือพลังงาน ตั้งแต่การจัดสถานที่ เวที ระบบแสง สี เสียง การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของทีมงาน หรือผู้เข้าชม และอีกมากมายเกินจะระบุได้หมด เหล่านี้ล้วนใช้พลังงานมหาศาล FestivalPro ประมาณการว่า เทศกาลดนตรีขนาดใหญ่สามารถใช้ไฟฟ้าได้มากถึง 30,000 เมกะวัตต์เลยทีเดียว
ทางหนึ่งที่สามารถคงความยิ่งใหญ่อลังการของคอนเสิร์ตเอาไว้ได้พร้อมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บริเวณใกล้เคียง ซึ่งส่วนนี้อาจเป็นความรับผิดชอบของสถานที่จัดงาน และด้านออร์แกไนเซอร์ก็สามารถเฟ้นหาพาร์ตเนอร์สถานที่จัดที่มีบริการพลังงานสะอาดให้
การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบนี้ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงกว่าการใช้พลังงานฟอสซิล การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทำได้ไม่ยาก และสามารถอำนวยความสะดวกให้มีเครื่องชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับร้านค้า หรือบูธต่าง ๆ ได้อีกด้วย
เพื่อให้การใช้พลังงานเสถียรตลอดทั้งงาน ควรเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี ใช้พลังงานในช่วงกลางคืนจากพลังงานที่เก็บในช่วงกลางวัน
นอกจากการใช้พลังงานสะอาด การประหยัดพลังงานยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ควรให้ข้อมูลผู้มีส่วนร่วมต่าง ๆ เพื่อลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น และเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ที่ลดการใช้พลังงานลงถึง 80% เมื่อเทียบกับหลอดไส้แบบดั้งเดิม ไฟ LED ยังมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า ลดความจำเป็นในการเปลี่ยนบ่อย ช่วยลดปริมาณขยะได้อีกทาง
เดินทางอย่างไม่ทำร้ายโลก
ศิลปินเดินทางแสดงคอนเสิร์ตรอบโลกด้วยเครื่องบินส่วนตัว เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกวิจารณ์มาเสมอ เนื่องจากเครื่องบินส่วนตัวใช้พลังงานมากกว่าการนั่งเครื่องบินพาณิชย์ชั้นประหยัดถึง 5–14 เท่า ตามข้อมูลจาก Airport Technology นี่ยังไม่รวมถึงการเดินทางของผู้ชมอีกหลายพันหรือหลายหมื่นคน
ดังนั้นการส่งเสริมการเดินทางที่ยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็น ผู้จัดคอนเสิร์ตหลายแห่งส่งเสริมให้ผู้มาร่วมคอนเสิร์ตเดินทางด้วยการแชร์รถ (carpool) และใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
คอนเสิร์ตบางแห่งมีบริการรถรับ-ส่ง เพื่อส่งเสริมการแชร์รถ เช่น จัดรถรับส่งจากจุดสำคัญในเมือง อย่างสถานีรถไฟ สนามบิน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรือจัดลานจอดพิเศษสำหรับรถที่มีผู้โดยสารหลายคนเท่านั้น พร้อมทั้งให้ส่วนลดบัตรเข้างานหรือคูปองอาหารแก่ผู้ที่ใช้บริการ
อย่าลืมส่งเสริมการใช้จักรยานสำหรับผู้ชมที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ด้วยการมอบส่วนลด คูปองอาหาร ของที่ระลึก หรือเตรียมจุดจอดจักรยานให้เพียงพอ และสามารถร่วมมือกับระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่เพื่อจัดส่วนลดค่าโดยสารแก่ผู้ชมได้ด้วย
สนับสนุนท้องถิ่น
ไม่ใช่แค่ผู้ชมที่เดินทางมา บางครั้งน้ำ อาหาร หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เดินทางไกลเพื่อมาร่วมงานคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรี ซึ่งล้วนใช้พลังงาน แนวทางหนึ่งในการลดการใช้พลังงานคือการร่วมมือกับผู้ค้าท้องถิ่นที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย
เช่น เลือกใช้ผัก ผลไม้ และผลิตผลเกษตรอินทรีย์จากท้องถิ่น เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าในด้านบรรจุภัณฑ์และกระบวนการแปรรูป พร้อมรณรงค์ให้ขายอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก ซึ่งใช้ทรัพยากรน้อยกว่าและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเนื้อสัตว์
นอกจากนี้ยังสามารถร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น เช่น บริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สีเขียว มีใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อม หรือให้บริการอีเวนต์อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่จัดงาน ร้านค้า หรือขนส่ง
จับมือกับแฟนเพลง–ผู้ร่วมงาน
นี่ไม่ใช่การจบบทความให้สวย แต่หากไร้ความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมงาน เพียงผู้จัดและพาร์ตเนอร์ก็อาจลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ไม่มากนัก
ผู้จัดควรให้ความรู้และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในแนวทางสีเขียว เช่น:
- แนะนำวิธีแยกขยะ
- ส่งเสริมให้นำขวดน้ำหรือภาชนะใช้ซ้ำมาเอง
- แนะนำการเดินทางที่ยั่งยืน พร้อมมอบของที่ระลึกหรือส่วนลดแก่ผู้ที่เดินทางด้วยวิธีดังกล่าว
- จัดเวิร์กชอปให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม
ในคอนเสิร์ต BLACKPINK WORLD TOUR IN GOYANG ก็มีการจัดบูธรีไซเคิลภายใต้ชื่อเก๋ ๆ อย่าง “Be a BLINK, Make the Right Move” เพื่อให้ความรู้การรีไซเคิลแก่บลิงก์ ให้กลายเป็นหนึ่งในแฟนคลับศิลปินที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ความบันเทิงและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แนวทางตรงข้าม หากแต่สามารถสอดประสานกันได้อย่างสร้างสรรค์ หากเราพิจารณาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง ประโยชน์ที่ได้ไม่เพียงแค่ต่อโลก แต่ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ผู้จัดงาน ศิลปิน และกลุ่มแฟนคลับอีกด้วย
อ้างอิง: Ticket Fairy, FestivalPro, RTS