สส.ปชน.จี้ แจงปัญหา “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” แอปฯ ไร้ประสิทธิภาพ
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายสมชาติ เตชถาวรเจริญ สส.ภูเก็ต เขต 1 พรรคประชาชน ตั้งกระทู้สดตั้งคำถามต่อ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงกรณีปัญหาโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง
โดยนายสมชาติ กล่าวว่า สภาพการท่องเที่ยวในปีนี้ของประเทศไทยซบเซาลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะนักท่องเที่ยวจีนไม่มั่นใจในความสามารถของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามแก๊งค้ามนุษย์ จนจำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของเราลดลงเหลือไม่ถึงครึ่ง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงจัดสรรงบประมาณจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 157,000 ล้านบาทมาดำเนินการโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” จำนวน 1,750 ล้านบาท
จนถึงวันนี้ผ่านมา 16 วัน มีการใช้สิทธิ์ห้องพักไปแล้ว 158,383 สิทธิ์ เฉลี่ยตกวันละไม่ถึง 10,000 สิทธิ์ซึ่งต่ำกว่าที่คาด เป็นเพราะรัฐบาลทำงานไม่เป็น ขาดความรู้ความสามารถในการออกแบบโครงการ การสร้างแอปพลิเคชันให้สามารถใช้งานได้
ทั้งที่โครงการนี้คล้ายคลึงกับโครงการที่ผ่านมาคือโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่รัฐบาลกลับเลือกพัฒนาแอปฯ ใหม่โดยอ้างว่าต้องการข้อมูลนักท่องเที่ยว ทั้งที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างในการพัฒนาแอปฯ สามารถระบุเงื่อนไขในทีโออาร์ให้ผู้รับจ้างส่งมอบข้อมูลนักท่องเที่ยวได้อยู่แล้ว ข้ออ้างนี้จึงฟังไม่ขึ้น
หลังการเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 พบว่าทั้งประชาชนผู้ใช้สิทธิ์และผู้ประกอบการ ต้องเจอปัญหามากมายจากการที่รัฐบาลวางแผนการทำงานกันไม่เป็น เช่น การลงทะเบียนของประชาชนมีขั้นตอนเยอะและยุ่งยาก เว็บไซต์ล่ม การสื่อสารชื่อโดเมนเว็บไซต์ผิดพลาด ประชาชนไม่ได้รับรหัส OTP ทางอีเมล ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้ แอปฯ ค้างบ่อยเพราะเชื่อมกับระบบ ThaID (ไทยดี) ของกรมการปกครอง ซึ่งไม่รองรับผู้ใช้งานจำนวนมากพร้อมๆ กัน
ทำให้ประชาชนหลายคนหมดความอดทน ล้มเลิกความตั้งใจในการเข้าร่วมโครงการไปเลยก็มี และเมื่อโรงแรมทำการจองผิดพลาด ประชาชนจึงไม่ได้โอนชำระเงินให้แก่โรงแรม แต่ระบบกลับไม่คืนสิทธิ์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์จองใหม่อีกครั้ง เท่ากับเสียสิทธิ์ไปเลย การอนุมัติผู้ประกอบการเข้าระบบและการอนุมัติแก้ไขราคาเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายสูญเสียโอกาสในการขายห้องพัก
รัฐบาลขาดความรู้ความเข้าใจตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างสิ้นเชิง นิยามความหมายของ “วันหยุด” และ “วันธรรมดา” อย่างไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากช่วงที่มีนักท่องเที่ยวไทยเข้าพักโรงแรมจำนวนมาก ปกติแล้วคือคืนวันศุกร์และวันเสาร์ ซึ่งรัฐบาลต้องไปเร่งกระตุ้นการเข้าพักในคืนวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดี แต่รัฐบาลกลับไปเร่งกระตุ้นการเข้าพักในคืนวันจันทร์ถึงวันศุกร์
รัฐบาลยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการตั้งราคาขายของโรงแรม เพราะปัจจุบันการตั้งราคาขายเป็นแบบขั้นบันไดตามอัตราการเข้าพัก (Dynamic pricing) แต่แอปฯ ของโครงการบังคับให้โรงแรมล็อกราคาไว้คงที่ตามชนิดของห้องพัก สิ่งที่ตามมาคือเกิดการร้องเรียนจากประชาชนว่าราคาขายห้องพักในโครงการ สูงกว่าในแอปฯ จองห้องพักอื่นๆ
แอปฯ ยังมีความผิดพลาด อนุญาตให้จองห้องพักครั้งละ 2-3 ห้องในคืนเดียวกันได้ ทั้งที่เงื่อนไขโครงการไม่อนุญาตให้จองเกินหนึ่งห้องในคืนเดียวกัน จนทำให้ประชาชนถูกยกเลิกการจองห้องพักในเวลาต่อมา เป็นการสร้างความสับสนแก่ประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการโรงแรม ไม่รู้ว่าจะได้เงินจากรัฐครบถ้วนหรือไม่ในกรณีที่ลูกค้าเช็คเอาท์จากโรงแรมแล้ว
จึงขอตั้งคำถามต่อรัฐมนตรีดังนี้
(1) ในปีงบประมาณ 2569 รัฐบาลชุดนี้ขยันทำแอปฯ มาก มีคำของบประมาณทำแอปฯ ใหม่ของหน่วยงานรัฐมากกว่า 4,200 ล้านบาท แต่แอปฯ รัฐที่คนไทยรู้จักมีไม่ถึงร้อยแอปฯ ที่เหลือส่วนมากไม่มีคนใช้ ถูกทิ้งร้างกลายเป็น “แอปฯ ผี” ทั้งที่ใช้งบจริง ทำจริง ตรวจรับจริง แต่ประชาชนไม่เคยได้ใช้จริง เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ใช้ธนาคารกรุงไทยทำโครงการนี้ เพราะมีแอปฯ ที่ประชาชนและผู้ประกอบการต่างเคยติดตั้งอยู่แล้ว คือแอปฯ เป๋าตังและถุงเงิน รัฐบาลจะได้ประหยัดงบประมาณด้วย และถ้ารัฐมนตรีกังวลเรื่องการส่งต่อข้อมูล ก็สามารถระบุในทีโออาร์ได้อยู่แล้ว
(2) ตนได้เข้าค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทำแอปฯ ของโครงการนี้ในเว็บไซต์ www.tat.or.th/procerement รวมถึงเว็บกระทรวงการท่องเที่ยวฯ แต่ไม่พบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ เป็นเพราะเว็บไซต์ไม่ได้อัปเดต หรือเพราะใช้ชื่อโครงการอื่น หรือใช้หน่วยงานภาครัฐอื่นเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้าง หรือให้ผู้รับจ้างทำงานไปก่อนแล้วค่อยไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลังหรือไม่ และขอทราบว่างบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างทำแอปฯ ในโครงการนี้ใช้เงินทั้งสิ้นกี่บาท
(3) กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมถึงหน่วยงานภายใต้การกำกับ มีการสร้างแอปฯ ไปแล้วจำนวนเท่าไร รวมเป็นเงินกี่บาท ใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีผู้ใช้งานมากแค่ไหน
(4) ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายกรณีแอปฯ ทำงานผิดพลาด โดยเฉพาะกรณีที่อนุญาตให้จองห้องพักได้มากกว่าหนึ่งห้องต่อคืนและลูกค้าได้เช็คอินเข้าพักเรียบร้อยแล้ว ตนหวังว่ารัฐมนตรีจะไม่โยนภาระความเสียหายให้ผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้สิทธิ์โดยสุจริตให้ต้องรับผิดชอบความผิดพลาดของพวกท่าน
(5) มีการกำหนดวิธีชำระเงินของประชาชนโดยให้โอนผ่านแอปฯ ธนาคาร แล้วอัปโหลดสลิปโอนเงินเข้าไปในระบบ แต่ตนตรวจพบว่าเราสามารถอัปโหลดรูปภาพหรือกระทั่งไฟล์อะไรก็ได้เข้ามาแทนที่สลิปโดยระบบไม่มีการตรวจสอบ นี่เป็นช่องว่างที่อาจทำให้เกิดการทุจริต เช่น ส่งสลิปปลอมเข้าระบบเพื่อรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐโดยความจริงแล้วไม่ได้มีการโอนเงินกัน จึงขอสอบถามถึงมาตรการป้องกันการทุจริตและหากเกิดการทุจริต ใครจะรับผิดชอบที่ไม่ปิดช่องโหว่ของระบบจนทำให้เกิดความเสียหาย
(6) แอปฯ นี้จะสามารถใช้งานได้อย่างมีความเสถียรเมื่อไร สามารถขยายขีดความสามารถของระบบ ThaiD ของกรมการปกครอง ให้รองรับผู้ใช้งานจำนวนมากโดยเฉพาะช่วงเทศกาลได้อย่างเพียงพอหรือไม่อย่างไร
ด้าน รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า โครงการที่ผ่านมา ททท. ยังมีคดีค้างกับผู้ประกอบการและประชาชนในกรณีการทุจริตประมาณ 1,300 กว่าคดี สิ่งที่เราอยากให้เกิดคือฐานข้อมูลของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนไทย เพื่อสามารถวางแผนและยุทธศาสตร์ในการท่องเที่ยวในอนาคตอย่างยั่งยืน ส่วนที่ไม่ใช้ฐานข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย เพราะปัจจุบันธนาคารกรุงไทยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจการจะไปผูกพันกับธนาคารหนึ่งที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ อาจเป็นการปิดกั้นธนาคารพาณิชย์อื่นๆ
โครงการนี้ไม่เหมือนโครงการที่ผ่านมา ที่ผ่านมาเราเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิ์ 500,000 สิทธิ์แล้วปิดการลงทะเบียนทันที และต้องจองภายใน 3 วัน ถ้าไม่จองถือว่าหมดสิทธิ์ แต่ครั้งนี้เราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้คนที่มีแผนและพร้อมจะเที่ยว ได้มีการซื้อ-จอง-จ่ายเงิน นี่คือความแตกต่าง ความจริงแล้วตนคิดว่าประชาชนไม่ต้องยืนยันตัวตนหรือเข้าระบบเลยด้วยซ้ำ เพราะคนไทยทุกคนควรมีสิทธิ์ แต่จากคดีที่ค้างอยู่ ทำให้หน่วยงานต้องป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดการทุจริต เป็นที่มาที่เราต้องลงทะเบียน
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ความจริงโครงการนี้ต้องเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน แต่มีความล่าช้าในการของงบประมาณ จึงต้องขออภัยประชาชนอีกครั้งในความไม่สะดวก ทุกอย่างเป็นขั้นตอนในการทำงาน มั่นใจว่าประชาชนไม่ได้ทราบเหมือนที่คนในกระทรวงหรือ ททท. รู้ ซึ่งเราพยายามอุดรูรั่วนั้น ส่วนที่กล่าวว่ามีการจองสิทธิ์เข้าไปแล้วระบบปฏิเสธ ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ์นั้น เรื่องนี้จะรับไปตรวจสอบ
สำหรับงบประมาณในการจัดทำแอปฯ ที่ใส่มาในเอกสารคือ 10 ล้านบาท แต่ด้วยความล่าช้าของการอนุมัติ ททท. ซึ่งมีพันธมิตรอยู่แล้วและมีระบบที่จะทำโครงการนี้พอสมควร จึงทำเองก่อน และได้แจ้งทางสำนักงบประมาณว่าไม่ขอใช้งบ คืนงบ 10 ล้านบาทให้รัฐบาล
จากนั้น นายสมชาติ กล่าวว่า รัฐมนตรียังตอบคำถามไม่ครบ เรื่องงบจัดซื้อจัดจ้างสรุปแล้วอยู่ที่ไหน สอดไส้อยู่ในโครงการอะไร ขอให้รัฐมนตรีทำการบ้านเพื่อความสบายใจของประชาชน เพราะทั้งหมดเป็นเงินภาษี และรัฐมนตรียังไม่ได้ตอบคำถามที่สำคัญ คือที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินไปแล้วเท่าไหร่ไปทำแอปฯ และถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมา ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะเป็นรัฐมนตรีเองใช่หรือไม่ หรือจะโยนความรับผิดชอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชา
ด้านนายสรวงศ์ กล่าวว่า งบประมาณแอปฯ นี้อยู่ในงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 157,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณอนุมัติเงินออกมา แต่ 10 ล้านบาทที่เราขอนั้น เราได้คืนรัฐบาลไปเพราะได้เงินมาไม่ทันการณ์กับการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้จ้างคนที่มีประสบการณ์หรือเป็นเรื่องเป็นราว เป็นปัญหาที่เราต้องแก้
ตอนนี้มั่นใจว่าประชาชนเข้าแอปฯ ต่างๆ ได้ตามปกติ ผู้ประกอบการก็เข้ามาเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้ 6,000 กว่าราย ส่วนงบในการทำแอปฯ กระทรวงอื่นตนไม่แน่ใจ แต่กระทรวงท่องเที่ยวฯ ไม่ได้ใช้งบเยอะ และถ้ามีความเสียหายในโครงการนี้ ไม่มีทางที่ตนจะปฏิเสธความรับผิดชอบ
นายสมชาติ ทิ้งท้ายว่า ขอฝากให้รัฐบาลนำคำแนะนำที่ตนอภิปรายวันนี้ไปปรับปรุงระบบเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับความสะดวก ถ้าปรับปรุงไม่ทันในเฟสนี้ ให้เอาไปปรับปรุงโครงการในเฟสถัดไป