ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 25ก.ค.“อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” ที่ระดับ 32.28 บาทต่อดอลลาร์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 25ก.ค.2568ที่ระดับ 32.28 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.26 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
ท่ามกลางความหวังแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า (เรามองว่า ประเด็นความขัดแย้งและการสู้รบตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ส่งผลเล็กน้อยต่อการอ่อนค่าของเงินบาท)
ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็ดูจะเป็นไปอย่างจำกัด โดยบรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์และปรับสถานะถือครอง หากเงินบาท (USDTHB) อ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 32.30 บาทต่อดอลลาร์
ขณะเดียวกัน เราประเมินว่า การย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับของราคาทองคำในช่วงนี้ ยังคงสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) ทำให้ ราคาทองคำก็อาจมีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง และโดยรวมก็ยังคงอยู่ในแนวโน้มการแกว่งตัวในกรอบ Sideways ซึ่งจังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำก็อาจชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้
นอกจากนี้ เรามองว่า การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์อาจเป็นไปอย่างจำกัด และเงินดอลลาร์ก็พร้อมเคลื่อนไหวได้สองทิศทาง (Two-Way Risk) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า รวมถึง รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ซึ่งเรามองว่า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ชะตาแนวโน้มเงินดอลลาร์ในระยะสั้นได้
ขณะเดียวกัน หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ไม่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เรามองว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติก็ยังไม่มีเหตุผลในการเทขายสินทรัพย์ไทย กลับกัน ความหวังการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ
และแนวโน้มรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงระดับ Valuation ของหุ้นไทย จำนวนมากที่อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ก็อาจทำให้ บรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยได้
โดยรวมแม้เราจะยังคงประเมินว่า เงินบาทมีความเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงได้ หากเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ในกรณีที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส ส่วนราคาทองคำก็ถูกกดดันจากบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง แต่เราจะมั่นใจมากขึ้น ว่าเงินบาทได้กลับสู่แนวโน้มการอ่อนค่าลง หากเงินบาท (USDTHB) ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following
เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.15-32.35 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน ในลักษณะ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.21-32.33 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวไร้ทิศทางเช่นกัน ของเงินดอลลาร์และราคาทองคำ
อย่างไรก็ดี เงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาสดใส อาทิ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนกรกฎาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.2 จุด ดีกว่าคาด
ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ก็อยู่ที่ระดับ 2.17 แสนราย และ 1.955 ล้านราย ดีกว่าคาด
ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังเงินยูโร (EUR) ยังพอได้แรงหนุน หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ระดับ 2.00% ตามคาด
ส่วนประธาน ECB ก็ส่งสัญญาณไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อรอประเมินสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาส ECB เดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง ในปีนี้ เหลือ 66%
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 32.30 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด
บรรยากาศตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Alphabet +1.0% ที่ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้บรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ Nvidia +1.7%
ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงหนักของ Tesla -8.2% หลัง บริษัทรายงานผลประกอบการน่าผิดหวังและทาง Elon Musk CEO ของบริษัทยังได้เตือนว่าผลประกอบการในระยะข้างหน้าอาจเผชิญแรงกดดัน หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ลดการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.07%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.24% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนกรกฎาคม ของยูโรโซน ที่ปรับตัวสูงขึ้น ดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันบ้าง จากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปที่ออกมาผสมผสาน อีกทั้ง ECB ก็ส่งสัญญาณไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อรอประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนแถวโซน 4.40% แม้จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้โซน 4.45% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาดีกว่าคาด
ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงเลือกทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับเฟด รวมถึงความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน
และเราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ชัดเจนอีกครั้ง (หรืออาจจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง) ในช่วงสัปดาห์ต้นเดือนสิงหาคมที่ตลาดจะรับรู้ แนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ
อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ หลัง Risk-Reward มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโซน 4.50% ขึ้นไป สำหรับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ทยอยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายปรับสถานะของผู้เล่นในตลาดบางส่วน
อีกทั้งเงินยูโร (EUR) ก็พอได้แรงหนุนบ้าง หลัง ECB ส่งสัญญาณไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม พร้อมคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมล่าสุด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 97.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 97.1-97.6 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ แม้จะเผชิญแรงกดดันจากจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค. 2025) ยังพอได้รับแรงหนุนจากโฟลว์ซื้อ Buy on Dip จากบรรดาผู้เล่นในตลาดแถวโซนแนวรับ 3,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นบ้าง สู่โซน 3,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ และยูโรโซน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ รวมถึง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนกรกฎาคม
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มภาคการผลิตของสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) เดือนมิถุนายน และรอลุ้น รายงานคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 โดย เฟด สาขา Atlanta (GDPNow)
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน พร้อมรอติดตามแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด ส่วนในฝั่งไทย สถานการณ์ความขัดแย้งและการสู้รบตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตามเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.30-32.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (10.04 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ
โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ ประกอบกับตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกท่ามกลางความหวังว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับหลาย ๆ ประเทศคู่ค้าจะมีแนวโน้มได้ข้อสรุป
ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ที่ลดลง 4,000 ราย มาอยู่ที่ 217,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว (ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 226,000 ราย) และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.ค. ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 54.6 ในเดือนก.ค. (ขยับขึ้นจากระดับ 52.9 ในเดือนมิ.ย.)
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.10-32.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า (รวมไทย) ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก สถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชา และตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ