เตือนระวัง! แมลงก้นกระดก พบคนป่วยโรคเบาหวานถูกกัด แผลบวมแดง ใจสั่น ถึงขั้นช็อก
เตือนระวัง! แมลงก้นกระดก เล็ก แต่ร้าย ล่าสุดพบเคสคนป่วยโรคเบาหวานถูกกัด แผลบวมแดง ไข้ขึ้น ใจสั่น ถึงขั้นช็อก โชคดีนำส่งโรงพยาบาลทัน
เพจเฟซบุ๊ก "Drama-addict" โพสต์เตือนภัยให้ระวังแมลงก้นกระดก โดยระบุว่า ตอนนี้หน้าฝนแล้ว แมงก้นกระดก ก็มาตามฤดู อันนี้ลูกเพจฝากมา แม่เขาสัปดาห์ที่แล้วตอนแรกมีอาการแสบๆคันๆที่ขา นึกว่าโดนยุงกัด
ต่อมาแผลเริ่มบวมแดง ขยายใหญ่ขึ้น และแม่เขาเริ่มมีไข้ หน้ามืดใจสั่น ช๊อคความดันตก จึงรีบนำส่ง โรงพยาบาล
สรุปคือ แม่เขาถูกแมลงก้นกระดกสัมผัสตัว (แมงก้นกระดกนี่มีพิษตามตัว ไม่จำเป็นต้องกัดหรือต่อย แค่สัมผัสมันก็จะได้รับสารพิษจนเกิดอาการระคายเคืองแล้ว) แล้วแม่เขาเป็นเบาหวานด้วย ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย พอเกิดแผลอักเสบจากแมลงก้นกระดก แล้วเกิดติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนจนกลายเป็นแผลติดเชื้อ และช็อคในเวลาต่อมา
ล่าสุดคุณแม่เขาได้รับการรักษาจนปลอดภัยแล้ว จึงฝากเตือนกัน ใครมีแผลบวมแดงร้อน รีบไปหาหมอ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน
แผลผู้ป่วยเบาหวานถูกแมลงก้นกระดกกัด
แมลงก้นกระดก (Rove beetles) หรือที่เรียกกันว่า ด้วงก้นกระดก ด้วงก้นงอน หรือ ด้วงปีกสั้น เป็นแมลงขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำสลับส้มเป็นปล้องๆ จุดเด่นของแมลงชนิดนี้คือเมื่อเกาะแล้วจะมีลักษณะเหมือนก้นกระดกขึ้นมา มักพบในช่วงฤดูฝน โดยเข้ามาตอมหลอดไฟในบ้านและร่วงหล่นตามพื้น
สาเหตุของโรค
เกิดจาก แมลงก้นกระดก ปล่อยพิษที่มีชื่อว่า พิเดอริน (Pederin) ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการแสบร้อนเป็นรอยไหม้หลังจากสัมผัสพิษประมาณ 8-12 ชั่วโมง โดยส่วนมากมักเกิดจากการสัมผัส ปัด หรือบี้ตัวแมลง จนทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง
อาการของโรค
สำหรับผู้ป่วยที่โดนกรดจากแมลงก้นกระดก จะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน พบรอยไหม้ และตุ่มน้ำเป็นเป็นผื่น ที่มีลักษณะคล้ายเป็นเริมหรืองูสวัด แต่จะพบเป็นรอยยาว ไม่เป็นกระจุก มักพบรอยบริเวณนอกเสื้อผ้า ในบางคนที่แพ้พิษอาจมีอาการรุนแรง เช่น พุพอง คลื่นไส้อาเจียน หรือเริ่มมีไข้ แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
วิธีการรักษา
สำหรับการรักษา เบื้องต้นเมื่อโดนพิษจากแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้น้ำเกลือสำหรับล้างแผลล้างทันที แต่หากเกิดตุ่มน้ำและรอยแดงขึ้นแล้วสามารถทายาเพื่อรักษารอยแดงซึ่งจะหายไปเองประมาณ 2-3 วัน แต่หากมีอาการรุนแรงเนื่องจากแพ้พิษให้รีบพบแพทย์ แพทย์จะใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ในการรักษา ส่วนรอยดำที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ จางและหายไปเอง ไม่เป็นแผลเป็น
วิธีป้องกัน
เราสามารถป้องกันแมลงก้นกระดกด้วยการปิดหน้าต่างและประตูให้สนิท เนื่องจากแมลงประเภทนี้ชอบเข้ามาเล่นแสงไฟในเวลากลางคืน และตรวจเช็คบริเวณที่นอนเสมอว่าไม่มีแมลงอยู่ ที่สำคัญหากพบแมลงก้นกระดกห้ามสัมผัสโดยการปัด หรือบดขยี้ ควรใช้วิธีเป่า หรือสะบัดออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กรมควบคุมโรค เตือน ฤดูฝน ช่วงฤดูการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส RSV
- ไทยป่วยเบาหวาน พุ่ง! 6.5 ล้านคน ชูแนวคิด iPDM ดูแลผู้ป่วยเบาหวานไทย
- เตือนคนป่วย “เบาหวาน” โลกร้อนอาจทำให้ร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม
- เปิดตัว "บาร์บี้เบาหวานชนิดที่ 1" ติดอุปกรณ์ทางการแพทย์
- กิน “แมลง” อาจดีต่อโลก แต่ไม่ดีต่อใจ งานวิจัยชี้ชัด คนฝั่งตะวันตกยังรู้สึกแขยง