สายหมู…ดิบ เสี่ยง’หูดับ’จริงไหม ?
วันนี้”เดลินิวส์” นำบทความจากเพจรามาแชนแนล พูดถึงเรื่อง “โรคหูดับ” จากการ “กินหมูดิบ” หรือโรคสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดย อ. พญ.ทศพร วิศุภกาญจน์ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่สามารถติดต่อสู่คนได้ จากการกินหมูดิบ หรืออาหารที่ทำจากหมูดิบ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย การรู้แนวทางป้องกันและสาเหตุของการเกิดโรคหูดับจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคนี้ได้
“โรคหูดับ” หรือ “โรคไข้หูดับ” เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ซึ่งอยู่ในทางเดินหายใจและในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อสู่คนได้จากการสัมผัสโดยตรงกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา และการรับประทานเนื้อหมู หรือเลือดของหมูที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ
โรคหูดับมีอาการเป็นอย่างไร ?อาการจะเริ่มแสดงให้เห็นภายใน 3 วัน โดยมักมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัวและตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด ทําให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบได้ เชื้อสามารถลุกลามไปยังบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ทำให้หูตึงไปจนถึงหูหนวกและสูญเสียการทรงตัว
ใครบ้างเสี่ยงติดเชื้อ โรคหูดับ ?สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ที่มีการสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียนี้ อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงจากโรคหูดับนี้ได้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ได้แก่
- ผู้บริโภคเนื้อหมูดิบหรืออาหารที่ทำจากหมูดิบ ผู้ที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในบางภูมิภาค รวมไปถึงผู้ที่ชื่นชอบการบริโภคอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกอย่างถูกสุขลักษณะ การบริโภคเนื้อหมูที่ไม่ผ่านการปรุงสุกในอุณหภูมิที่เหมาะสม อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียยังคงอยู่และก่อให้เกิดโรคหูดับตามมา
- ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงหรือจัดการหมู โรคหูดับมักเกิดในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเนื่องจากจำเป็นต้องมีการสัมผัสกับหมูเป็นประจำ รวมไปถึงผู้ประกอบอาชีพในโรงฆ่าสัตว์ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียจากหมูได้ และพ่อค้าแม่ค้าเนื้อหมูที่อาจมีการสัมผัสกับเนื้อหมูดิบเป็นประจำทุกวัน
- ผู้ประกอบอาชีพในโรงงานผลิตเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมู ผู้ที่ทำงานในโรงงานแปรรูปเนื้อหมู เช่น การผลิตไส้กรอก หมูยอ หรือผลิตภัณฑ์จากหมูอื่น ๆ ที่อาจมีการสัมผัสกับเนื้อหมูดิบ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหูดับ
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือมีโรคประจำตัว ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ป่วยโรคไต รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่เสื่อมลงตามวัย เมื่อได้รับเชื้อทำให้ง่ายต่อการเป็นโรคหูดับ
- ผู้ที่มีการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในฟาร์มนอกจากหมูแล้ว อาจรวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อได้ เมื่อสัมผัสกับเชื้อแล้ว ก็เกิดเป็นความเสี่ยงในการเป็นโรคหูดับ
โรคหูดับรักษาหายไหม ? แนวทางการรักษาและวินิจฉัย
การรักษาโรคหูดับจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยแพทย์จะให้การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน เซฟาโลสปอริน หรือแวนโคมัยซิน เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และทำการรักษาตามอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย เช่น การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด และการดูแลรักษาในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) ในกรณีที่มีอาการรุนแรง โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคหูดับโดยการซักประวัติการบริโภคอาหาร ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis และเจาะหลัง (Lumbar puncture) เพื่อตรวจสอบน้ำไขสันหลังในกรณีที่สงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
วิธีป้องกัน โรคหูดับ
การป้องกันโรคไข้หูดับจากหมูดิบ มีวิธีและแนวทางในการป้องกัน ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมูที่ ดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ หลู้ หมูหมักดิบ ก้อยหมู
- แยกอุปกรณ์ที่ใช้รับประทานอาหาร เช่น ตะเกียบ ช้อนส้อม ที่ใช้กับหมูไม่สุกและหมูสุก
- เลือกบริโภคเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน หมูที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์ ปลอดจากเชื้อโรค
- ปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึง
- ไม่ใช้เขียงหมูดิบในการหั่นอาหารอื่นที่จะรับประทานโดยไม่ปรุงสุกเพิ่ม เช่น ผักสด ผลไม้สด หรืออาหารอื่นที่สุกแล้ว เพราะจะทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อโรค
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ ก่อนและหลังสัมผัสเนื้อหมู
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหมูที่ป่วยหรือตาย หากจำเป็นต้องสัมผัส ควรสวมถุงมือและหน้ากากอนามัย
- เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูควรหมั่นสังเกตอาการของหมู หากพบหมูมีอาการป่วย ควรรีบแยกหมูออกจากฝูง และแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในพื้นที่ทราบ
การป้องกันโรคหูดับจากหมูดิบเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค