‘อัครา’ วิจัยใช้ประโยชน์หางแร่ ผลิตอิฐบล็อกขาย สร้างรายได้ให้ชุมชน
“อัครา รีซอร์สเซส” เผยปี’67 นำส่งรายได้จากการทำเหมืองจ่ายค่าภาคหลวงแล้ว 651 ล้าน แถมเงินบำรุง และสมทบให้อีก 4 กองทุน รวมแล้วหลักร้อยล้าน พร้อมทำประโยชน์ สร้างความยั่งยืน ดึงจุฬาฯทำวิจัยของเสีย “หางแร่” กว่า 20 ล้านตัน ผลิตเป็นอิฐบล็อกขายสร้างรายได้ยกให้ชุมชน ส่วนน้ำในบ่ออีก 6 ล้านคิว โยกใช้ทำเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงปลา ยันฟื้นฟูแล้ว ไม่มีสารตกค้าง
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามกฎหมายใหม่ของการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย ได้กำหนดการจ่ายค่าภาคหลวงให้กับทางภาครัฐในอัตราที่ประมาณ 20% โดย ปี 2567 มีการจ่ายค่าภาคหลวงให้กับรัฐอยู่ที่ 651 ล้านบาท รวมถึงเงินบำรุงพิเศษอีก 5% คิดเป็นเงิน 32.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีภาระในส่วนของการนำส่งเงินเข้ากองทุนอีก 4 กองทุน ประกอบด้วย 1.กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ในอัตราที่ 10% ของค่าภาคหลวง ซึ่งกำหนดไว้ว่า ต้องไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท/ปี 2.กองทุนพัฒนาหมู่บ้านพื้นที่รอบเหมืองแร่ 5% ของค่าภาคหลวง หรือต้องไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท/ปี 3.กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ 4.กองทุนประกันความเสี่ยง ทั้ง 2 กองทุนหลัง นำส่งในอัตราเท่ากัน คือ 3% ของค่าภาคหลวง หรือต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท/ปี
แต่ละกองทุนจะทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบเหมืองแร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดําเนินกิจกรรมหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหมู่บ้านรอบเหมืองแร่ของบริษัท ทั้งในด้านการพัฒนาอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน
ดังนั้น ภายใต้วัตถุประสงค์ของกองทุน อัคราฯในฐานะผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำมาตั้งแต่ปี 2536 โดยแหล่งเดิม คือ บ่อ A ซึ่งเป็นตัวหลักของกระบวนการถลุงแร่ทั้งหมด เพื่อให้ได้ทองคำและเงินออกมานั้น ปัจจุบันมีหางแร่ที่อยู่ในบ่อเก็บหางแร่ปริมาณมากกว่า 20 ล้านตัน โดยไม่ถูกนำออกมาใช้ประโยชน์ใด ๆ
ล่าสุดทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำหางแร่ดังกล่าวไปทดลองทำการวิจัยในหลาย ๆ เรื่อง และพบว่าหางแร่สามารถทำซีเมนต์หรือวัสดุก่อสร้างได้ ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมและยังเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยที่จะนำเอาของเหลือจากกระบวนการเหมืองแร่ มาเป็นวัสดุผลพลอยได้ที่สามารถใช้ได้จริง ในรูปแบบของอิฐบล็อกที่มีความละเอียดสูง
โดยการผลิตอิฐบล็อกดังกล่าว อัคราฯไม่ได้ทำในเชิงธุรกิจ แต่จะมอบหางแร่ทั้งหมดให้กับทางชุมชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทางจุฬาฯจะนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยในลักษณะที่ไม่ยุ่งยากเกินไป ไม่ซับซ้อนเกินไป ไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรราคาสูง ให้สามารถผลิตอิฐบล็อกและขายได้เพื่อเป็นรายได้ของชุมชน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จะเห็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกสู่ตลาด ซึ่งเรื่องดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งโครงการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ตั้งขึ้น
“เรื่องนี้มันจะเป็นการเสริมแนวคิดในการรียูส รีไซเคิล ลดปริมาณขยะ ลดปริมาณของเสีย มันไปได้หมด แน่นอนว่าเราต้องมีผลการวิเคราะห์ผลการทดสอบ เมื่อเอาอิฐไปสร้างบ้าน สร้างที่อยู่อาศัย จะต้องมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจ โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสุขภาพ เราเชื่อว่าคนต้องกลัวว่าอิฐที่ผ่านกระบวนการไซยาไนด์มาจะปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งเรามีการวิจัยที่เป็นหลักฐาน เราต้องสร้างความมั่นใจจากทุกข้อมูลของเราที่มีอยู่”
นอกจากการใช้ประโยชน์จากหางแร่แล้ว บริษัทยังช่วยสนับสนุนชาวบ้านในพื้นที่ด้วยการนำน้ำในบ่อที่มีปริมาณมหาศาลถึง 6 ล้านคิว ไปใช้ในการทำเกษตรกรรม หลังจากที่บริษัทได้ทดลองใช้น้ำเพื่อการเกษตร ปลูกผักบุ้ง ปลูกผักไฮโดโปรนิก รวมทั้งทดลองเลี้ยงปลานิลในกระชังภายในเหมืองมาระยะหนึ่ง เมื่อนำปลามาตรวจวิเคราะห์พบว่า เนื้อปลาไม่มีสารตกค้างและสามารถนำมารับประทานได้ ขั้นตอนต่อไป บริษัทจะทดลองเลี้ยงปลาสวยงามในกระชัง เพราะปลาเหล่านี้มีความไวต่อสิ่งแวดล้อมมาก คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 6 เดือน น่าจะมีข้อพิสูจน์ในเชิงวิชาการและเชิงประจักษ์ว่าน้ำในบ่อใช้ได้ บริษัทจะดึงเอาน้ำในส่วนนี้ออกมาให้ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร
“บ่อเหมืองดังกล่าวเรายังอยู่ได้อีกประมาณ 7-8 ปี ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานในปี 2571 และเราก็ต้องต่ออายุเพื่อทำเหมืองต่อได้อีก 10 ปี ซึ่งจะทำให้ได้ของเหลืออย่างหางแร่อีกมาก ตอนนี้เราก็กำลังทำแผนผังโครงการระยะสั้น ถ้าจบสัมปทานจากนั้น เราก็ต้องเข้าสู่ระยะของการฟื้นฟู ปรับพื้นที่ถมดิน พัฒนาต่อไปให้เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อใช้ทำการเกษตรได้ตามกฎหมาย”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘อัครา’ วิจัยใช้ประโยชน์หางแร่ ผลิตอิฐบล็อกขาย สร้างรายได้ให้ชุมชน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net