รร.บ้านหนองจูด จุดประกายอนาคต ปลูกทักษะอาชีพด้วย “ติดตายาง”
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. โรงเรียนบ้านหนองจูด อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ได้รับการขับเคลื่อน "เรียนรู้ ควบคู่สร้างรายได้" แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านรายวิชาเพิ่มเติมวิชาเกษตรที่เน้นการพัฒนาอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับนักเรียนระหว่างเรียน โดยเฉพาะการขยายพันธุ์ยางพาราด้วยวิธี ‘ติดตายาง’ อันเป็นทักษะสำคัญที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้จริงในชุมชน
โดยนางวารุณี ไชยสน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองจูด เปิดเผยว่า โรงเรียนได้จัดกระบวนการเรียนรู้โดยเน้นการบูรณาการทักษะอาชีพเข้าสู่การเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ภายใต้การสนับสนุนของนายอรรถพล อรรถชัยยะ รองผู้อำนวยการโรงเรียน และการดำเนินงานโดยครูผู้สอน นายเศรษฐวุฒิ บรรณาลังค์ ซึ่งได้ปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักใช้ความรู้ด้านเกษตรสร้างอาชีพและรายได้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน เพื่อให้การพัฒนาทักษะอาชีพด้านการเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับศูนย์เรียนรู้ยางพาราจังหวัดกระบี่ ภายใต้การนำของนายมนต์ชัยฤทธิ์ หนูขาว ผู้อำนวยการศูนย์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตรและเทคโนโลยี 2) สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน 3) สร้างงาน สร้างรายได้ระหว่างเรียนผ่านกิจกรรมทางการเกษตร
ทั้งนี้ โรงเรียนได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 และนำนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ ศูนย์เรียนรู้ยางพาราจังหวัดกระบี่ โดยมีวิทยากรหลัก ได้แก่ ว่าที่ ร.ต.นวพล รักขพันธ์ นักวิชาการเกษตร แผนกผลิตและส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ร่วมถ่ายทอดเทคนิคการติดตายางอย่างมืออาชีพ แรงผลักดันสำคัญของโครงการนี้ มาจากบริบทของชุมชน ที่โรงเรียนตั้งอยู่ใกล้ศูนย์เรียนรู้ยางพาราฯ และผู้ปกครองของนักเรียนจำนวนมากมีอาชีพรับจ้างติดตายาง นักเรียนจึงมีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนจากครอบครัว อีกทั้งยังสามารถช่วยผู้ปกครองหารายได้หลังเลิกเรียนหรือในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ผลจากการดำเนินโครงการ นักเรียนสามารถนำทักษะไปสาธิตในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 71 จังหวัดกระบี่ และได้ไปศึกษาดูงานเชิงอาชีพ ณ ศูนย์เรียนรู้ยางพาราจังหวัดกระบี่ ซึ่งช่วยเติมเต็มประสบการณ์เรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง การส่งเสริมอาชีพจากรากฐานของชุมชนผ่านการศึกษานั้น ไม่เพียงเสริมทักษะ แต่ยังปลูกฝังเจตคติที่ดีในการทำงานและการพึ่งพาตนเองของนักเรียน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเยาวชนให้เป็น “คนดี คนเก่ง และมีงานทำ” ตามเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษายุคใหม่