เปิดแนวคิด ‘รุ่ง-วิทัย’ แก้หนี้-รับวิกฤติ ศก. ลุ้น ครม.เคาะผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่
การคัดเลือกผู้สมัครผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท.ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน เชิญผู้สมัครมาแสดงวิสัยทัศน์ และสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2568
รวมทั้งส่งชื่อให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา 2 รายชื่อ โดย นายพิชัย จะเสนอชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 1 รายชื่อ ในวันที่ 15 ก.ค.2568 เป็นผู้ว่าการ ธปท.โดยรายชื่อที่เข้ารอบสุดท้าย 2 คน ประกอบด้วย
1.ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.มีประสบการณ์การทำงานที่ ธปท.เป็นส่วนใหญ่ เคยเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน และผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งมีส่วนร่วมสำคัญในการวางกลยุทธ์ของ ธปท.ผ่านมาตรการตลาดการเงิน และการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเงินทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติ
ขณะเดียวกันมีประสบการณ์ในการทำงานกับธนาคารเอกชน โดยเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Global Business and Strategy ธนาคารกรุงไทยในช่วงปี 2560-2562
2.นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มีผลงานสำคัญในการขับเคลื่อนธนาคารออมสินเป็น Social Bank หรือธนาคารเพื่อสังคม พร้อมทั้งนำธนาคารออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank เต็มตัว โดยสนับสนุนแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด รวมทั้งผลักดันการเข้าช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น
นอกจากนี้ มีบทบาทสนับสนุนนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะการผลักดันโครงการคุณสู้เราช่วย รวมถึงพร้อมดำเนินการนโยบายแฮร์คัตหนี้ให้ประชาชนที่รัฐบาลกำลังเตรียมการ ซึ่งธนาคารออมสินมีแผนยกหนี้หรือผ่อนปรนหนี้ให้ประชาชนที่มูลหนี้ไม่สูง
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์แคนดิเดตผู้ว่าการ ธปท.ทั้ง 2 คน เกี่ยวกับการสถานการณ์เศรษฐกิจรวมถึงปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน
“รุ่ง” มองปัญหาหนี้แบบครบวงจร
ดร.รุ่ง กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เป็นหนี้เร็ว และนานขึ้น รวมทั้งหลายคนในวัยเกษียณออกจากวังวนหนี้ไม่ได้ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดความรู้ด้านการเงิน และอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดที่บังคับให้หลายคนต้องเป็นหนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท.ใช้หลักการ “แก้ปัญหาอย่างครบวงจร” โดยดูทั้งฝั่งรายได้ที่เติบโตช้า และกำกับดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อแบบมีความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ ธปท.ผลักดัน “โครงการคุณสู้เราช่วย” เพื่อประคองลูกหนี้ที่ต้องการสู้ และแม้เฟสแรกช่วยลูกหนี้ได้ 50% ของยอดหนี้ ซึ่งบางส่วนอาจมองไม่สำเร็จ แต่ ธปท.พอใจเพราะโครงการนี้ต้องอาศัย “เจตจำนงของลูกหนี้” ที่ต้องการแก้ไขหนี้ตัวเองด้วย
“คุณสู้เราช่วย ชื่อบอกอยู่แล้วคุณต้องสู้ก่อน ไม่ได้ดีไซน์มาสำหรับทุกคน ถ้าสู้แปลว่ายังต้องผ่อนอยู่ แต่โครงการให้ผ่อน 50% ของงวดผ่อนเดิมช่วงปีแรก แล้วค่อยขยับเป็น 70%”
ส่วนโครงการคุณสู้เราช่วยระยะที่ 2 เริ่มจากการเห็นช่องโหว่ของระยะแรกที่มีลูกหนี้กว่า 2 ใน 3 ส่งคำขอเข้ามา แต่ไม่เข้าเงื่อนไขโครงการ ดังนั้นเฟสที่ 2 จะพิจารณาช่องโหว่เหล่านี้ให้ถี่ถ้วนขึ้น เช่น ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 30 วัน
แนวคิดดอกเบี้ยกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
ขณะที่ความร่วมมือธนาคารพาณิชย์กับโครงการนี้ ดร.รุ่ง กล่าวว่า ช่วงแรกธนาคารพาณิชย์ร่วมมือไม่เท่ากัน เพราะลักษณะหนี้ต่างกันมีอัตราตอบรับเข้าร่วมต่างกัน เช่น ถ้าหนี้บ้านหยุดจ่ายไม่เกิน 3 เดือน มีอัตราตอบกลับเร็วมาก แต่พอเป็นหนี้เสีย 6 เดือนขึ้นไป อัตราการตอบรับลดลงขณะที่หนี้รถมีอัตราตอบกลับเข้าร่วมโครงการน้อยมาก ยิ่งเป็นหนี้รถที่เสียเกิน 6 เดือนแทบจะไม่ตอบรับ
อีกทั้งพอร์ตหนี้แต่ละธนาคารแตกต่างกัน อย่างธนาคารรัฐไม่มีพอร์ตรถยนต์เลย ดังนั้นอัตราการตอบรับเข้าโครงการคุณสู้เราช่วย สูงกว่าพอร์ตธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนหนี้รถยนต์ในพอร์ตมากกว่า
“การตั้ง KPI ให้ธนาคารพาณิชย์รับลูกหนี้เข้าโครงการอาจยากในลักษณะสัดส่วนพอร์ตไม่เท่ากัน แต่ ธปท.มองที่ Best Effort หรือความพยายามสูงสุด คือในพอร์ตลักษณะของคุณ เราในฐานะผู้กำกับ ในฐานะผู้ผลักดันโครงการนี้ร่วมกับกระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานอื่น อยากเห็น Best Effort จากธนาคารพาณิชย์มากกว่า” ดร.รุ่ง กล่าว
ส่วนประเด็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบ่งเบาภาระให้กับลูกหนี้อีกทางนอกจากโครงการคุณสู้เราช่วยหรือไม่ ดร.รุ่ง กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยช่วยแบ่งเบาภาระได้แน่นอน แต่หากมองเชิงเศรษฐกิจภาพใหญ่ ประเทศไทยอาจต้องการ “อะไร” มากกว่าแค่การเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชน
“การลดดอกเบี้ยเพิ่มสภาพคล่องสภาพคล่องเหมือนให้เลือด แต่มันไม่ทำให้คุณแข็งแรงขึ้น สิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการมากกว่าในยามนี้คือ ธุรกิจในรูปแบบที่จะไปต่อได้ยั่งยืน และ Investment cycle ใหม่ที่เราไม่มีมาเป็นเวลาหลายสิบปี” ดร.รุ่ง กล่าว
แจง ธปท.ลดดอกเบี้ยแต่แบงก์พาณิชย์ไม่ลด
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2567 ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง แต่การส่งผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงค่อนข้างล่าช้า ดร.รุ่ง เห็นด้วยว่า เป็นความจริง สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะดอกเบี้ยของไทยอยู่ระดับต่ำหรือใกล้ Lower Bound
“จากประสบการณ์ทั่วโลก เวลาที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำหรือเริ่มใกล้ lower bound การส่งผ่านโดยทั่วไปจะช้าลง เป็นสิ่งหนึ่งที่วงวิชาการหรือด้านนโยบายการเงินพูดกันว่าเมื่อดอกเบี้ยต่ำมากๆ ประสิทธิผลของมันจะเริ่มน้อยลง เป็นภาพสะท้อนว่าทำไมธนาคารพาณิชย์ตอบสนองน้อยลงด้วย”
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับช่วงโควิด ดร.รุ่ง กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปี 2567 ธปท.ลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง transmission หรืออัตราการส่งผ่านสู่เศรษฐกิจจริง ยังดีกว่าช่วงโควิดเล็กน้อย แต่ต้องยอมรับว่า transmission ไม่เยอะมาก และไม่พอที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริง สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะ Credit Risk หรือความกังวลที่ลูกหนี้จะไม่สามารถคืนหนี้ได้หรือกังวลว่าลูกหนี้จะกลายเป็นหนี้เสีย
‘ข้อมูล’ หนุนแบงก์กล้าปล่อยสินเชื่อ
ดร.รุ่ง กล่าวว่า ธปท.ทำโครงการ Your Data เป็นความร่วมมือหลายภาคส่วนในการสร้าง “ถึงข้อมูล” ให้ลูกหนี้เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ โดยเมื่อลูกหนี้มีข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของตัวเองชัดเจน ธนาคารพาณิชย์จะกล้าปล่อยสินเชื่อขึ้น
รวมทั้ง ธปท.มีโปรแกรมแก้หนี้ DIY ให้ลูกหนี้กรอกข้อมูลลักษณะหนี้ และรายได้ จากนั้นจะคำนวณสถานะหนี้ว่าผ่อนไหวหรือเริ่มมีปัญหา รวมทั้งให้คำแนะนำเบื้องต้นว่าหนี้ก้อนไหนจะเข้าไปบริหารจัดการก่อน และจัดการอย่างไร เช่น ก้อนนี้ดอกเบี้ยสูง รวมทั้งจากข้อมูลที่ลูกหนี้กรอกเข้าไปจะทำเป็นจดหมายเพื่อการเจรจาเบื้องต้นให้เราได้ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นช่วยลูกหนี้ในการไปสานต่อกับสถาบันการเงิน
“วิทัย” ชี้ ธปท.อิสระแต่ต้องไม่โดดเดี่ยว
นายวิทัย กล่าวว่า แนวคิดสำคัญสำหรับบทบาท ธปท. “ต้องเป็นอิสระแต่ไม่โดดเดี่ยว” โดย ธปท.ต้องมีอิสระในการตัดสินใจแต่ต้องทำงานร่วมทุกภาคส่วนเพื่อเป้าหมายระยะยาว และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่นโยบายการเงินอย่างเดียวแก้ไม่ได้ และต้องทำงานร่วมกับนโยบายการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) , กระทรวงพาณิชย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกรับอานิสงส์บางส่วนจากการส่งออกที่เติบโตดีช่วง 3-4 เดือนแรก และจำนวนนักท่องเที่ยวเดือนม.ค.-มี.ค.แต่แนวโน้มครึ่งปีหลังน่ากังวลเพราะไม่แน่นอน เช่น ภาษีสหรัฐ สงครามยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนการเมืองในประเทศ
ทั้งนี้ ธปท.รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคได้ดี เช่น ดูแลอัตราเงินเฟ้อต่ำและทำให้สถาบันการเงินแข็งแกร่ง แต่บริบทเศรษฐกิจเผชิญปัจจัยภายนอกที่ซับซ้อนขึ้นอาจต้องเพิ่มบทบาทดูแลการเติบโตเศรษฐกิจมากขึ้น
"สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันหนักกว่าวิกฤติปี 2540 ที่ส่วนใหญ่กระทบคนรวย และสถาบันการเงิน แต่วิกฤติปัจจุบันกระทบคนส่วนใหญ่ ในขณะที่ไทยมีปัญหาขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาวทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว หนี้ครัวเรือนสูง และปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ปัญหาต้องคิดใหม่ทำใหม่ และมีความร่วมมือทุกภาคส่วน” นายวิทัย กล่าว
“คุณสู้เราช่วย” ผลลัพธ์ยังไม่ปัง
สำหรับโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ไปจนถึง “คุณสู้ เราช่วย” บรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นแก้ปัญหาได้หมด โดยช่วยลูกหนี้ที่ได้รับอานิสงส์ และได้รับการแก้ไขหนี้แล้วหลายแสนคน แต่ยังมีลูกหนี้หลายแสนคนเข้าไม่ถึงโครงการ
ส่วนลูกหนี้ออมสินได้ดำเนินโครงการนี้ไปแล้ว 33% ของระบบสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์รวมกัน บางส่วนของโครงการทำงานได้ดี แต่ไม่สามารถกล่าวได้ว่าช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด
นโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินมีบทบาทต่างกัน โดยนโยบายการคลังออกได้เร็วยิงตรงเป้า และเห็นผลในเวลาสั้น ส่วนนโยบายการเงินเป็นภาพใหญ่ เช่น การลดดอกเบี้ย กว่าจะเกิดผล 6-12 เดือน แต่ 2 ส่วนต้องทำงานพร้อมกัน
“การลดดอกเบี้ย อัดฉีดเงินหรือลดภาษีอย่างเดียวแก้ไม่ได้หมด ต้องประสานระหว่างนโยบายการเงิน การคลัง และมาตรการจากหน่วยงานกำกับอื่นไปทิศทางเดียวกัน และต่อเนื่อง และนโยบายการเงินควรชัดเจนและส่งสัญญาณเชิงรุกขึ้น”
นายวิทัย กล่าวว่า มุมมองแบงก์ที่ดูแลลูกค้ากลุ่มฐานราก การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่การลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งที่ผ่านมา ช่วยบรรเทาได้ และสิ่งสำคัญอยู่ที่การส่งสัญญาณไปตลาดที่ชัดเจนว่าการลดดอกเบี้ยจะเป็นมาตรการต่อเนื่อง และระยะยาว
รวมถึงการส่งผ่านไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งเริ่มมีผลที่จำกัดต่างจากช่วยดอกเบี้ยขาขึ้นที่ปรับขึ้นได้เต็มที่ และรวดเร็ว
“สิ่งนี้อาจเป็นผลมาจากการที่ธนาคารต้องใช้เวลาวิเคราะห์ผลกระทบ และเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้ต้นทุนความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้นทำให้สถาบันการเงินระวังปล่อยสินเชื่อขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายสินเชื่อ แม้ดอกเบี้ยจะลดลง”
แนะ 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
นายวิทัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในทางปฏิบัติมี 3 แนวทาง ได้แก่
1.เศรษฐกิจต้องเติบโต ซึ่งหมายความว่าประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นหาก Nominal GDP เติบโต 4% ต่อเนื่อง 2-3 ปี จะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดได้
2.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยช่วยให้ลูกหนี้ตัดเงินต้นได้มากขึ้นแม้จ่ายเท่าเดิม ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และทำให้สภาพเงินส่วนบุคคลดีขึ้น แล้วช่วยสะสม และลดหนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่ลง
3.มาตรการอื่นที่ต้องเสริม เช่น การโอนหนี้ไม่มีหลักประกันที่ธนาคารสำรองหมดแล้วออกมาให้หน่วยงานอื่นดูแลในราคาถูก เช่น 3-7% แล้วนำมาปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว
นอกจากนี้ ต้องเสริมให้สถาบันการเงินขยายสินเชื่อง่ายขึ้น โดยขยายบทบาทบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเพิ่มการค้ำประกันสินเชื่อหลายประเภทขึ้น รวมถึงกลุ่ม non-banks และพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ส่งออก และ SMEs ที่ถูกผลกระทบจากสินค้าต่างประเทศราคาถูก โดยทำให้ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
ชั่งน้ำหนัก ลดดอกเบี้ย ก่อหนี้เพิ่ม
นายวิทัย กล่าวว่า ธปท.อาจกังวลว่าการลดดอกเบี้ยมากเกินไปจะทำให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่ม อย่างไรก็ตามผู้ให้ข้อมูลเชื่อว่าโดยรวมแล้วประโยชน์ของการลดดอกเบี้ยเพื่อแก้หนี้มีน้ำหนักมากกว่า โดยการลดดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญ และจำเป็นในการบรรเทาหนี้ครัวเรือน และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนสูง แต่ความสำเร็จแท้จริงเกิดขึ้นได้เมื่อส่งผ่านถึงดอกเบี้ยเงินกู้
ขณะที่เศรษฐกิจซบเซา และกังวลจะซึมลึกนาน โดยอัตราเงินเฟ้อต่ำ และปี 2568 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมาย 1% เป็นสภาวะ “เงินเฟ้อต่ำ การเติบโตต่ำ” (low inflation, low growth) ขณะที่เครื่องยนต์หลักอย่างท่องเที่ยว และส่งออกอาจไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนหลักปี 2568-2569
“เศรษฐกิจตอนนี้เป็นความท้าทาย บางภาคส่วนดีมากอย่างสถาบันการเงินแข็งแกร่งมาก แต่ภาคส่วนอื่นที่เป็นส่วนใหญ่ไม่ค่อยดี”
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์