ฝ่าอาถรรพ์ทำเลปราบเซียน 'ทศพล' คืนชีพแดนเนรมิต สู่ไนท์มาร์เก็ต สร้างสูตรโตแบบใหม่
สำรวจตลาดไนท์มาร์เก็ตไทยในปี 2568 กำลังถูกสั่นสะเทือน จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้กลุ่มคนไทยต่างระมัดระวังในการใช้จ่าย รวมถึงผลจากเศรษฐกิจโลกกระทบให้นักท่องเที่ยวปรับตัวลดลง และกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนได้ลดการเดินทางมาในประเทศไทย มีผลต่อค้าปลีกในหลายกลุ่ม รวมถึงไนท์มาร์เก็ตซบเซาลง ทั้งย่านที่โด่งดังอย่างบรรทัดทองที่มีลูกค้าชะลอตัวลง รวมถึงย่านพระราม 9 ไปจนถึงแดนเนรมิต เจอปัญหาเศรษฐกิจและลูกค้าที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ต้องปิดให้บริการไปในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นพื้นที่ใจกลางเมืองและการเดินทางที่สะดวก จึงถูกมองเป็นทำเลปราบเซียน หรือทำเลอาถรรพ์
ต่อมาในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ภาพของไนท์มาร์เก็ตไทย ได้ถูกพูดถึงอีกครั้งกับการกลับมาเปิดของ ไนท์มาร์เก็ตในแดนเนรมิต ภายใต้ชื่อว่า “ตลาดนัดเลียบด่วนแดนเนรมิต” (Liabduan Danneramit Night Market) จากการมีกลุ่มทุนภาคเอกชนไทยเข้ามาบริหารพื้นที่ใจกลางเมืองแห่งนี้ โดย “ผู้ก่อตั้ง “ตลาดนัดเลียบด่วน รามอินทรา” ไม่ใช่หน้าใหม่ แต่เป็นบิ๊กเนมในการทำตลาดไนท์มาร์เก็ตมายาวนานถึง 12 ปีแล้ว
“ทศพล วชิรเดชา” รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเชียร์รังสิต และเจ้าของตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา กล่าวว่า ภาพรวมตลาดไนท์มาร์เก็ตของประเทศไทยในปี 2568 เผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยปรับตัวลดลงอย่างมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัวเข้ามา สะท้อนได้จาก “ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา” ลูกค้าคนไทยลดการใช้จ่ายประมาณ 40-50%
อีกทั้งจากการประเมินตลาดไนท์มาร์เก็ตหลายแห่งของประเทศไทย ต่างอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มลูกค้าคนไทยต่างคุมเข้มในการใช้จ่าย ทำให้การลงทุนใหม่และการขยายตลาดไนท์มาร์เก็ตต้องประเมินสถานการณ์ทุกอย่างด้วยความรอบคอบ ดังนั้นการเข้ามาขยายการลงทุนแห่งใหม่ในปี 2568 ที่แดนเนรมิตสู่ “ตลาดนัดเลียบด่วนแดนเนรมิต” (Liabduan Danneramit Night Market) ตั้งแต่ช่วงวันที่ 23 พ.ค.2568 ที่ผ่านมา ถือเป็นการขยายลงทุนไนท์มาร์เก็ตแห่งที่สองในรอบ 12 ปี
“จุดเริ่มต้นในการเปิดตลาดไนท์มาร์เก็ต ในช่วง 12 ปีก่อน กับ “ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา” ได้ลงทุนพัฒนาทำโครงการคอนโดมิเนียม วี คอนโด เอกมัย-รามอินทรา ในช่วงปี 2554 มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาทและมีจำนวนห้องรวม 1,100 ยูนิต และมีพื้นที่เหลืออยู่ด้านหน้าโครงการ จึงพัฒนาสู่ตลาดไนท์มาร์เก็ต เพื่อให้ลูกค้าคอนโดมิเนียมได้รับความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ทางด้านศูนย์การค้าเชียร์รังสิต ได้มีเจนใหม่เข้ามาร่วมบริหารแล้ว ตอนนี้ผมทำหน้าที่เพียงผู้ถือหุ้น”
สำหรับเหตุผลที่สนใจเข้ามาขยายลงทุนในทำเลแห่งแดนเนรมิต โดยหลายฝ่ายต่างให้มมุมองที่ไม่เชื่อมั่นหลายด้าน ทั้งชื่อเสียงของทำเลแห่งนี้ถูกมองว่าไม่ค่อยเหมาะสมในการลงทุน หรือถูกมองว่ามีอาถรรพ์หรือไม่ ต่อมา เคยมีตลาดไนท์มาร์เก็ตที่โด่งดังเข้ามาบริหาร แต่ต้องหยุดไปเช่นกัน แสดงถึงสถานที่อาจไม่เหมาะสม สุดท้ายคือ สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2568 ไม่ดีจึงไม่ใช้ช่วงเวลาที่ดีในการขยายลงทุน แต่ทั้งนี้ บริษัทได้มีการศึกษาข้อมูลทุกอย่าง ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของการทำไนท์มาร์เก็ต ก่อนนำมาปรับปรุงพัฒนาใหม่ รวมถึงศึกษาทำเลในย่านลาดพร้าว-พหลโยธิน ที่มีคอนโดมิเนียมรายล้อมไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง รวมถึงทำเลการศึกษาที่มีมหาวิทยาลัยจำนวนกว่า 2-3 แห่ง รวมถึงยังมีสำนักงานหลายแห่ง นำไปสู่การตัดสินใจเปิดพร้อมได้ทำสัญญาการเช่าพื้นที่กับเจ้าของที่ดินคือ“ตระกูลเสรีเริงฤทธิ์” เป็นเวลา 6 ปี
อีกสิ่งสำคัญคือ การศึกษาดีมานด์ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นตัวตั้งว่ามีความต้องการตลาดไนท์มาร์เก็ตเป็นอย่างไร ทำให้ได้พัฒนาออกแบบและดีไซน์ตลาดใหม่ ทั้งการติดต่อร้านค้ายอดนิยมของตลาดในแต่ละแห่งทั่ว กทม. ดึงมาร่วมเปิด พร้อมเจรจาราคาสินค้าอาหารต้องอยู่อัตราที่คุ้มค่าคุ้มราคา ทำให้ราคาอาหารเริ่มต้นตั้งแต่ 20 บาทไปจนถึงหลัก 70-80 บาท หรือมากกว่านั้น มีหลากหลายตั้งราคาจับกลุ่ม A B และ C
“ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตลาดไนท์มาร์เก็ต ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ทุกอย่างต้องติดตามสถานการณ์รอบด้านและไม่ประมาท กลุ่มลูกค้าต้องมุ่งจับทุกกลุ่ม”
สำหรับอัตราการเช่าพื้นที่อยู่ที่เดือนละ 15,600 บาทต่อร้านค้า และไม่มีการเก็บค่าเช่าที่ล่วงหน้า หรือค่ามัดจำล่วงหน้าเหมือนแห่งอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เก็บประมาณ 3 เดือน ทำให้ค่าเช่าเฉลี่ยรายวันประมาณ 500 บาทต่อวัน และค่าไฟ ประมาณ 600 บาทต่อเดือน อีกทั้งได้ดีไซน์เต้นท์สำหรับร้านค้าที่เป็นทรงสูง มีสีเขียวและขาว พร้อมออกแบบด้านบนมียอดแหลมคล้ายกับภูเขาไฟฟูจิ
ขณะที่กลุ่มเป้าหมายได้เน้นลูกค้าคนไทย เนื่องจากย่านนี้มีนักศึกษาจำนวนมาก ทำให้ราคาต้องอยู่ในระดับย่อมเยา เพื่อให้เข้าถึงได้สะดวก โดยเฟสแรกได้เปิดโซนร้านอาหารจำนวน 300 ร้านค้า รวมถึงมีกลุ่มสินค้าแฟชั่น ถือว่าเป็นการใช้พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ จากพื้นที่ทั้งโครงการ 33 ไร่ และมีสถานที่จอดรถ 400 คัน อีกทั้งได้มีการวางแผนทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ จึงส่งผลให้เกิดการบอกปากต่อปากของกลุ่มลูกค้า และในปัจจุบันเกิดการแชร์ต่อจำนวนมากผ่านช่องทาง ติ๊กต๊อก (TikTok)
ทั้งนี้ผลจากการเปิดตัวในช่วงที่ผ่านมา ลูกค้าให้การตอบรับที่ดี สามารถสร้างทราฟฟิกต่อวันมากกว่า 2 หมื่นคน รวมถึงมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็น Gen Z กลุ่มครอบครัวและคนทำงาน ซึ่งมีสัดส่วนแบ่งเป็น คนไทย 80% และต่างประเทศ 20% รวมถึงมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ประมาณ 2 รถบัสในช่วงวันหยุด
แผนเฟสต่อไปได้เตรียมขยายพื้นที่ไปสู่การจัดทำโซนทางด้านความบันเทิง การจัดทำร้านเครื่องดื่ม และการเปิดโซนสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ของโครงการ คาดว่าจะดำเนินการได้สมบูรณ์ภายใน 1 ปีข้างหน้า
“ที่ผ่านมาบริษัทได้ศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อนต่างๆ มาตลอด ทำให้เข้าใจตลาดว่าช่วงแรกลูกค้าจำนวนมากต่างสนใจอยากเข้ามาใช้บริการ เพราะอยากเข้ามาลองชิมอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z และนิยมการถ่ายรูป สิ่งสำคัญจึงต้องสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเป็นประจำ ทั้งร้านค้าที่มีคุณภาพ และการจัดทำห้องน้ำติดแอร์ เพื่อให้ทุกคนมีความรู้สึกเหมือนเข้ามาใช้บริการในโรงแรมระดับ 5 ดาว”
ทางด้าน “ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา” ที่เปิดให้บริการมายาวนานถึง 12 ปี และมีร้านค้าเปิดให้บริการทั้งหมด 1,000 ร้านค้า โดยมีแผนลงทุนรีโนเวทใหม่ในปีนี้เช่นกัน และออกแบบใหม่ให้ตรงกับโจทย์ของกลุ่มลูกค้าในย่านแห่งนี้ โดยภาพรวมทราฟฟิกในย่านรามอินทรา อยู่ที่ประมาณ 7,000-8,000 คนต่อวัน และกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ต่างเป็นคนไทย
อย่างไรก็ตาม การรีโนเวทสาขาครั้งนี้ ถือว่าเร็วมากขึ้นกว่าปกติ จากที่ผ่านมา จะใช้เวลา 3 ปีในการรีโนเวทใหญ่ เนื่องจากสถานการณ์ของตลาดและกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วโดยที่ดินในการบริหารตลาดเป็นการลงทุนของบริษัทได้ซื้อที่ดิน ที่มีขนาด 20 ไร่ บริหารทั้งคอนโดมิเนียมและตลาดไนท์มาร์เก็ต
“โครงการ คอนโด เอกมัย-รามอินทรา ที่มีจำนวน 1,100 ยูนิต ยังมีลูกค้าบางส่วนประมาณ 20-30% ที่มีปัญหาเรื่องการกู้เงิน จึงไม่สามารถโอนโครงการได้ทั้งหมด ทำให้มีการปรับบางส่วนเปลี่ยนให้ลูกค้าเช่าแทน”
ทศพล กล่าวย้ำว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันที่ไม่ได้ง่าย แม้ว่าตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้เจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาตลอด ตั้งแต่การเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในช่วงปี 2540 การเกิดปฏิวัติในประเทศ ไปจนถึงการเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวอีกรอบ มีผลต่อผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่ม ถือว่ามีโจทย์ท้าทายตลอดเวลา จึงต้องประเมินและวิเคราะห์ปัจจัยรอบด้าน และศึกษาข้อมูล เพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ตลอดเวลา พร้อมด้วยการดึงคนรุ่นใหม่และเจนใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพองค์กร เพื่อทำให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเสมอ
อีกทั้งและไม่อยากให้ทุกคนมองว่า การทำตลาดนัดคือ“เสือนอนกิน” จากการได้รายได้จากค่าเช่าร้านค้า เนื่องจากต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และการสำรวจร้านค้าตลอดเวลา ประเมินทุกอย่าง เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจ และดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการตลอดเวลา! ดังนั้น ไม่สามารถหยุดนิ่งได้เลย