กลุ่มอิเล็กฯ ห่วงภาษีทรัมป์! ตัวเลขสูงสะเทือนลงทุนไทย
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และอุปนายกสมาคมเซมิคอนดักเตอร์ไทย เปิดมุมมองในงานเสวนา “กรุงเทพธุรกิจ Roundtable: The Art of The (Re)Deal” ว่า สำหรับโลคอลคอนเทนต์ของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนเตอร์กล่าวได้ว่าจะมีกรอบเวลาของมัน จากประวัติศาสตร์ 50 ปี โลคอลคอนเทนต์ ช่วงที่เริ่มต้นมีเพียง 5% เท่านั้น และใช้เวลาถึงกว่า 50 ปี กว่าจะขยับมาถึง 50% เนื่องจากเป็นเรื่องเทคโนโลยีระดับสูง คุณภาพ และความแม่นยำที่สูงมาก
ดังนั้น หากต้องพิจารณาในรายเซ็กเตอร์ต้องดูถึงอายุด้วย อย่างพวกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์วันนี้ 50% เป็นโลคอลคอนเทนต์ และถ้านับรวมโลคอลเซอร์วิส เข้าไปด้วยอาจถึง 60-70% เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้เกิดการผลิตในประเทศ แต่ถ้าไปดูที่เซมิคอนดักเตอร์นับว่ายังต่ำมาก ฉะนั้นต้องดูเป็นรายเซ็กเตอร์ซึ่งแต่ละประเภทจะมี ไทม์มิงในการเทคออฟซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร
อย่างไรก็ดีในกลุ่มอิเล็กฯ สมาร์ตอิเล็กฯ และเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด “เรื่องสวมสิทธิยืนยันได้ว่าเป็นศูนย์” เพราะผ่านการตรวจสอบและจัดการกันมาแล้วโดยภาคเอกชนตั้งแต่เมื่อห้าปีที่แล้ว เนื่องจากเคยถูกจับตามองมาก่อน หากไม่จัดการก็จะขายไม่ได้
สำหรับก้าวต่อไปในเรื่องของการผลักดันโลคอลคอนเทนต์นโยบายของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์แน่นอนว่ายังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ขณะนี้นับว่าไทยมีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ คุณภาพดี บริหารจัดการได้ง่าย เพียงแต่ด้วยคุณภาพที่สูงต้องใช้เวลานานมากในการเริ่มต้น
ที่ผ่านมากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ต่างคุ้นเคยกับการนำเข้าและส่งออกที่ศูนย์เปอร์เซ็นต์ กระทั่งวันนี้โดนที่ 10% ก็ปรับตัวยากอยู่แล้ว หากมีตัวเลขอะไรที่มากกว่านี้หรือยิ่งแย่ไปกว่าประเทศคู่แข่ง สิ่งแรกที่จะได้เห็นเลยคือผลกระทบต่อแรงงาน การลดโอทีเพราะจำเป็นต้องลดการผลิต และถ้าอุตสาหรรมใดที่สามารถโยกกำลังการผลิตได้เขาก็จะโยกไปยังประเทศที่ได้เรทต่ำกว่าเป็นเรื่องปกติ
ประเมินขณะนี้ การลาออก การไม่มีโอที และผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุด ส่วนเรื่องถัดมาที่น่ากลัวคือการมองไปถึงระยะยาวว่าประเทศไทยจะขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างไร สำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จุดยืนวันนี้มั่นใจว่าเป็นแม่แบบที่ดีมาก ขณะนี้บริษัทหลายแห่งได้นำเอไอมาผสมผสานและยกระดับการผลิตแล้ว ส่วนที่กำลังจะตามมาก็คือการผลักดันเรื่อง คลีน กรีน ซีโร่เวสต์ ซึ่งล้วนคำนึงถึงผลกระด้านสิ่งแวดล้อม
ถึงวันนี้คงต้องรอดูความชัดเจนว่าผลจะออกมาในรูปแบบใด ถ้าตัวเลขออกมาสูงมากย่อมส่งผลกระทบในหลายส่วน เช่น มีบริษัทหนึ่งที่เป็นรายใหญ่กำลังมีแผนตั้งอาร์แอนด์ดีในประเทศไทยโดยมีนักวิจัย 3,000 คน จากทั้งหมดจะมีคนไทยกว่า 1,500 คน ซึ่งก็ต้องรอดูความชัดเจน
สิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบหมด แล้วยิ่งตัวเลขที่น่ากลัวแบบนี้ย่อมสร้างความกังวลและทำให้ทุกคนจะต้องมีแพลนบีในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ธุรกิจ
สำหรับสาเหตุที่กลุ่มอิเล็กฯ มีการจัดการเรื่องสวมสิทธิก่อนที่อื่นๆ เนื่องจากข้อพิพาทระหว่างสองยักษ์ใหญ่นั้นเกิดมา 5-6 ปีแล้ว และอิเล็กฯ นับว่ามีความอ่อนไหวมากที่สุด
หากถามว่าจะเก็บไว้สองคนได้ไหมแน่นอนว่า มีการทำอย่างนั้น ทว่าต้องมีการชัดเจนเรื่องการบริหารจัดการและเรื่องโปรดักส์ ฉะนั้นเรื่องเก็บไว้ทั้งหมดเป็นเรื่องที่สามารถทำได้และวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น
คำว่าเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสเป็นเรื่องสำคัญ เห็นด้วยที่ในระยะสั้นรัฐบาลต้องดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ระยะยาวอย่าทิ้งจุดยืนของประเทศ
"ผมเชื่อว่าจุดยืนของประเทศวันนี้ ที่ขัดไม่ได้และภาพชัด คือเทคโนโลยี อย่างปีที่แล้วมีการขอบีโอไอแบบทำลายสถิติเทียบปีต่อปีเพิ่มขึ้นกว่า 35% ปีนี้ผ่านมา 4-5 เดือนโตกว่า 43% และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอิเล็กฯ ซึ่งขณะนี้ทุกคนรออย่างเดียวว่าจะเดินหน้าไหม หากขับเคลื่อนตรงนี้ได้ไม่ดีพลาดที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาในประเทศผลกระทบระยะยาวกับประเทศไทยจะสูงมาก"
ที่น่าเป็นห่วงยังมีเรื่องของการพัฒนาคน เช่นที่กลุ่มอิเล็กฯ ร่วมมือกับกระทรวงอว. เดินแผนมา 4 ปีซึ่งอาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าเสียดายมากเพราะกว่า. อิเล็กฯ จะยิ่งใหญ่ถึงวันนี้ใช้เวลามากว่า 50 ปี ฉะนั้นต้องขับเคลื่อนอย่างระมัดระวัง
ส่วนเรื่องการจำกัดชิปเอไอที่นำเข้าไทย เนื่องจากระยะหลังที่มาลงทุนในไทยจำนวนมากคือดาต้าเซ็นเตอร์ และหลายแห่งที่เป็นไฮเอนด์จะใช้ชิปที่อ่อนไหว ผมว่าสหรัฐเขาส่งสัญญาณว่าเราต้องแสดงให้เห็นว่าเรานำมาใช้และมันไม่ได้รั่วไหลออกไป มีการตอบโจทย์กับภาคธุรกิจอย่างชัดเจน ผมว่าเราพิสูจน์ได้
เรื่องการเยียวยาสำหรับกลุ่มอิเล็กฯ มั่นใจว่าแข็งแรงพอคงไม่ได้ร้องขอมาตรการในเรื่องนี้ แต่กำลังมองถึงในเชิงของการแบ่งปันข้อมูลซึ่งในแต่ละเซ็กเตอร์ของอิเล็กฯ มีความซับซ้อนมากสามารถให้ความร่วมมือกับภาครัฐได้ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติที่ได้ขับเคลื่อนไปแล้วกับพันธมิตรในหลายๆ ราย
ความคลุมเครือไม่ชัดเจนย่อมไม่ส่งผลดี ที่น่าเป็นห่วงหากดีลครั้งนี้ทำให้การลงทุนด้านเทคโนโลยีมีผลกระทบไม่มาเมืองไทยแล้วไปประเทศอื่นผมว่า 5-10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะลำบากมาก