โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิลเลียม โพวนีย์ กัปตันชาวอังกฤษร่วมไทยสู้ศึกพม่า เมื่อก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เปิดวีรกรรม “วิลเลียม โพวนีย์” กัปตันชาวอังกฤษเข้าร่วมฝ่ายไทย รบกับพม่าดุเดือด ก่อนชิ่งหนี!?

ในช่วงสงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มีชาวต่างชาติที่ร่วมรบในกองทัพกรุงศรีอยุธยามากมาย ทั้ง แขก จีน ฝรั่ง หนึ่งในนั้นมีกัปตันชาวอังกฤษนามว่าวิลเลียม โพวนีย์ (William Powney) รวมอยู่ด้วย

วิลเลียม โพวนีย์ เกิดที่เมืองมัทราสในอินเดีย ไม่มีข้อมูลว่าเขาเกิดวันไหน แต่เขาได้รับศีลล้างบาปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1726 (พ.ศ. 2269 – ก่อนการเสียกรุงฯ 41 ปี)

โพวนีย์เกิดมาในครอบครัวผู้มีอันจะกิน ทำให้เขาได้ทำงานในบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (The East India Company – EIC) ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่เขาจะมาทำธุรกิจเดินเรือค้าขายเป็นของตนเอง แต่เขาก็ยังมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับ EIC อยู่ และบางครั้งเขาก็ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ EIC ด้วย

โพวนีย์หรือที่ในพงศาวดารเรียกเขาว่า“อะลังกะปูนี” เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาไม่นานหลังจากสงครามพระเจ้าอลองพญาผ่านพ้นไป โดยเขานำของขวัญหายากมาถวายแด่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ นั่นคือ สิงโต นกกระจอกเทศ ม้าอาหรับ และของล้ำค่าอื่นๆ

โพวนีย์กลับมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งใน พ.ศ. 2308 และในช่วงเวลานั้นเองที่เขาเป็นผู้ร่วมทำศึกกับพม่า เกิดวีรกรรมสงครามบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงตั้งแต่เมืองนนทบุรีถึงเมืองธนบุรี

พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์บันทึกไว้ว่า “…ในขณะนั้นกำปั่นอังกฤษลูกค้าลำหนึ่ง บันทุกผ้าสุหรัด เข้ามาจำหน่าย ณะ กรุง โกษาธิบดีให้ล่ามว่ากับนายกำปั่นว่าถ้าพม่าจะเข้ามารบเอาเมืองธนบูรีอีก นายกำปั่นจะอยู่ช่วยหฤๅจะไปเสีย นายกำปั่นว่าจะอยู่ช่วยรบ แต่ขอให้ถ่ายมัดผ้าขึ้นฝากไว้ให้กำปั่นเบาก่อน ครั้นถ่ายมัดผ้าขึ้นแล้วก็ถอยกำปั่นล่องลงมา ทอดอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่…”

ต่อมา กองทัพพม่ายกเข้ามายึดป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนป้อม ยิงตอบโต้กับเรือกำปั่นของโพวนีย์ จนเมื่อถึงเวลาค่ำ โพวนีย์จึงถอนสมอเรือล่องขึ้นไปพักอยู่เหนือเมืองนนทบุรี สันนิษฐานว่าคงจะกลับมาตั้งตัวใหม่ เพราะพระยายมราช ขุนนางของกรุงศรีอยุธยา เคยตั้งทัพอยู่ที่เมืองนนทบุรี แต่เมื่อโพวนีย์ไปถึงก็ทราบว่าพระยายมราชเลิกทัพไปแล้ว ขณะที่กองทัพพม่าก็ได้ยกทัพแบ่งมาตั้งค่ายบริเวณวัดเขมา และตลาดแก้ว เป็นสองค่ายบนสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา

พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์บันทึกต่อไปว่า “…ครั้นเพลากลางคืนนายกำปั่นจึ่งฃอเรือกราบลงมาชักสลุบช่วงล่องลงไปใหม่ หมีให้มีปากเสียง ครั้นตรงค่ายพม่าวัดเขมา ก็จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้างยิงค่ายพม่าทั้งสองฟาก พม่าต้องปืนล้มตายป่วยลำบากแตกหนีออกหลังค่าย ครั้นเพลาเช้าน้ำขึ้นสลุบช่วงก็ลอยขึ้นมาหากำปั่นใหญ่ ซึ่งทอดอยู่เหนือเมืองนนทบูรี…”

ถือว่าโพวนีย์ใช้กลยุทธ์ที่เฉียบแหลมมาก ให้เรือลากเรือปืนลงมาอย่างเงียบเชียบในเวลากลางคืน แล้วโจมตีค่ายพม่าทั้งสองฝั่งแม่น้ำโดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้กองทัพพม่าบาดเจ็บล้มตาย และหนีแตกกระเจิง อย่างไรก็ตาม โพวนีย์พยายามใช้กลยุทธ์นี้อีกครั้ง แต่คราวนี้ถูกกองทัพพม่าตลบหลัง พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์บันทึกว่า

“…ฝ่ายทับพม่าก็ยกเข้าค่ายเมืองนนทบูรี ครั้นเพลาค่ำให้ชักสลุบช่วงล่องลงไปอีกปืนรายแคมยิงค่ายเมืองนนท พม่าหนีออกไปซุ่มอยู่ข้างหลังค่าย อังกฤษแลไทลงสำปั้นขึ้นไปเกบของในค่ายพม่า ๆ กลับกรูกันออกมาจากหลังค่ายไล่ฟันแทงไทแลอังกฤษ แตกหนีออกจากค่ายลงสำปั้น พม่าตัดศีศะล้าต้าอังกฤษได้คนหนึ่งเสียบประจานไว้หน้าค่าย…”

การพ่ายแพ้ในครั้งนี้คงทำให้โพวนีย์ติดต่อขออาวุธยุทโธปกรณ์จากราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเพิ่มเติม พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์บันทึกว่า

“…นายกำปั้นจึ่งบอกกับล่ามว่า ปืนในกำปั่นกระสุนย่อมกว่าปืนพม่า เสียเปรียบฆ่าศึก จะขอปืนใหญ่กระสุนสิบนิ้วสิบกระบอก แล้วจะขอเรือพลทหารสิบลำจะลงไปรบพม่าอีก ล่ามกราบเรียนพญาพระคลัง ๆ กราบบังคมทูล จึ่งโปรดให้เอาปืนใหญ่สิบกระบอกลงบันทุกเรือใหญ่ไปขึ้นกำปั่น แต่ทับเรือสิบลำนั้นยังหาทันจัดแจงให้ไปไม่ ครั้นเพลาบ่ายอังกฤษล่องกำปั่นแลสลุบช่วงลงไป จนพ้นเมืองธนบูรีแล้วจึ่งทอดสมออยู่…”

แต่หลังจากนั้นโพวนีย์ก็ไม่ได้สู้รบกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาอีก เขาได้หลบหนีออกจากอาณาจักรแห่งนี้ไป แม้พงศาวดารจะระบุว่า โพวนีย์ได้ปืนใหญ่มาจากราชสำนัก แต่จากบันทึกของอาเดรียง โลเนย์ (Adrien Louney) ระบุว่า “…แต่ครั้นมิได้รับดินปืนและกระสุนที่เขาต้องการจากกรุงศรีอยุธยาเขาก็ละทิ้งชาวสยามสัมพันธมิตรที่ยังอ่อนหัดเสีย…”

โพวนีย์ไม่ได้ไปตัวเปล่า เขายังจับคนไทยไปอีกด้วยกว่าร้อยชีวิต พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์บันทึกว่า “…ขณะนั้นไทในกรุงลอบลงเรือน้อยลงมาเก็บผลไม้หมากพลู ณะ สวน อังกฤษจับขึ้นไว้บนกำปั่นมากกว่าร้อยคน แล้วก็ใช้ใบหนีออกไปท้องชะเลครั้นเพลาค่ำไทหนีขึ้นมาถึงพระนครได้บ้าง จึ่งรู้ว่ากำปั่นอังกฤษมิได้อยู่รบพม่าหนีไปแล้ว ได้แต่มัดผ้าซึ่งขนไว้สี่สิบมัด…”**

และยังได้ปล้นเรือสำเภาจีนอีก 6 ลำ ก่อนแล่นเรือออกไปโดยไม่ย้อนกลับมาอีกเลย…

แล้วทำไมตอนแรกโพวนีย์ถึงร่วมต่อสู้กับกรุงศรีอยุธยา?

คำตอบคือ กองทัพพม่าเป็นฝ่ายโจมตีเรือของเขาก่อน นั่นคงทำให้เขารู้สึกแค้นมาก ดังที่โลเนย์ บันทึกไว้ว่า “กัปตันเรืออังกฤษคนหนึ่งชื่อ โปนี (Pauny) ได้นำเรือบรรทุกสินค้าเต็มสองลำมาจอดที่ท่าเรือ พระเจ้าแผ่นดินส่งคนไปชักชวนเขาให้มารบสู้กับพม่า โดยสัญญาจะให้ผลประโยชน์ทางการค้าตอบแทนหลายประการ กัปตันเรืออังกฤษแสดงความสนใจต่อคำชักชวนนั้นน้อยเต็มทีและเขาคงมิได้ตอบรับ ถ้าหากพม่ามิได้ไปโจมตีเรือของเขาก่อน…”**

สอดคล้องกับข้อมูลของ ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (François-Henri Turpin) ก็ฉายภาพให้เห็นว่า โพวนีย์ไม่ได้ตั้งใจจะร่วมรบแต่แรก โดยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ขอให้โพวนีย์ช่วยป้องกันบ้านเมือง พระองค์ไว้วางพระราชหฤทัยในความกล้าหาญ และความสามารถของเขา มากกว่าข้าราชบริพารของพระองค์ที่ทั้งอ่อนแอ และขลาดกลัว

แต่โพวนีย์ก็รู้สึกหวั่นใจไม่น้อย เขาไม่มีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของกองทัพกรุงศรีอยุธยา ประกอบกับการที่ชาวดัตช์ซึ่งตอนนั้นมีกิจการการค้าที่มีทรัพย์สินมหาศาลอยู่ในพระนคร พวกเขาก็ถึงขั้นยอมสละละทิ้ง และออกไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว

ตุรแปงเล่าว่าโพวนีย์ตัดสินใจจะไม่ช่วยเหลือกรุงศรีอยุธยา “…ชาวอังกฤษผู้กล้าหาญนี้ อ่อนแอเกินกว่าที่จะเสนอเข้าทำการป้องกัน และจิตใจสูงมากเกินกว่าจะยอมแพ้…” แต่โพวนีย์ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี จนเมื่อเขาตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของพวกพม่า ที่เตรียมยิงใส่เรือของเขา นั่นจึงทำให้เขาเปลี่ยนใจ

ตุรแปงบันทึกว่า“…เปานี ถูกความจำเป็นบังคับให้ยินยอมที่จะเข้าร่วมป้องกันเมืองหลวง…” โดยเหตุ “ความจำเป็น” ที่ทำให้โพวนีย์ต้องเข้าร่วมฝ่ายไทยก็เพราะกองทัพพม่าเป็นฝ่ายโจมตีเรือของเขาก่อนนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของโลเนย์

อย่างไรก็ตาม แม้พงศาวดารจะบอกว่า โพวนีย์ถ่ายมัดผ้าเก็บไว้ที่พระนครเพื่อทำให้เรือเบา แต่จากบันทึกของตุรแปงกลับให้ข้อมูลต่างออกไป โดยโพวนีย์ร่วมรบกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาอย่างมีเงื่อนไขว่าต้องส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นให้เขา ขณะเดียวกันราชสำนักกรุงศรีอยุธยาก็ขอให้โพวนีย์มอบมัดผ้าเก็บไว้ในพระนครเพื่อเป็นเครื่องประกันว่าจะไม่ทรยศ

ตุรแปงเล่าต่อไปว่า จากนั้นโพวนีย์ก็ได้ทำศึกกับกองทัพพม่า จนเมื่อเขาร้องขออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติม กลับถูกปฏิเสธ ตุรแปงมองว่าราชสำนักกรุงศรีอยุธยากลัวว่าโพวนีย์จะมีอำนาจมากเกินไป และอาจถึงขั้นยึดอำนาจกรุงศรีอยุธยาเสียเอง เมื่อตอนที่โพวนีย์ขออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมนั้น พวกขุนนางก็อ้างว่ากองทัพพม่ากำลังมุ่งโจมตีอีกด้านหนึ่งของพระนคร จึงจำเป็นต้องใช้ปืนใหญ่ทั้งหมดในการต่อต้านศัตรู

ตุรแปงบันทึกว่า “…ชาวอังกฤษผู้นี้ต้องยุ่งยากมากในการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ เขาได้ตัดสินใจเลิกเกี่ยวข้องกับชนชาติ ซึ่งไม่รู้จักวิธีต่อสู้หรือวิธีสนับสนุนบุคคลซึ่งเป็นมิตรด้วยและพร้อมที่จะปกป้องพวกเขา…”

อย่างไรก็ตาม จากบันทึกของตุรแปงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โพวนีย์ไม่ได้หลบหนีไปโดยไม่บอกกล่าว เขาได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ถึงเหตุผลในการละทิ้งหน้าที่ และการปล้นสำเภาจีน 6 ลำนั้น เขาก็ยังได้ให้ใบเสร็จไปถวายแก่กษัตริย์ ซึ่งสิ่งของที่เขาปล้นไปก็มีมูลค่าเท่ากับมัดผ้าที่เขาทิ้งไว้ในพระนคร

นักประวัติศาสตร์ยุคหลังหลายคนวิเคราะห์สภาพกรุงศรีอยุธยาในช่วงเวลานั้นว่า ปัจจัยหนึ่งในการล่มสลายของอาณาจักรมาจากระบบการเกณฑ์ไพร่ล้มเหลว เป็นเหตุให้ไม่มีกำลังคนใช้ในการทำศึกสงคราม

ในยามที่กรุงศรีอยุธยาขาดกำลังคนอย่างมาก การได้โพวนีย์มาร่วมรบย่อมช่วยเพิ่มศักยภาพของกองทัพกรุงศรีอยุธยาได้มาก แม้เราอาจไม่แน่ใจได้ว่าการมีโพวนีย์อยู่ช่วยจะเป็นเพียงแค่การซื้อเวลาหรือไม่ แต่จากทัศนะของโลเนย์กลับคิดว่า“วิลเลียม โพวนีย์” กัปตันชาวอังกฤษผู้นี้คือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้กรุงศรีอยุธยาได้รับชัยชนะหากเขาไม่เดินทางออกไปจากแผ่นดินนี้เสียก่อน ดังที่โลเนย์บันทึกไว้ว่า

“…ความจริงถ้ากัปตันเรืออังกฤษผู้นี้มิได้กลับไป และคนไทยได้แลเห็นความกล้าหาญของเขา คนไทยอาจไม่พ่ายแพ้แก่พม่าในครั้งนี้ก็ได้ แต่เมื่อเขากลับไปแล้ว คนไทยก็เสียโอกาสสุดท้ายที่จะมีชัยชนะ…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง เขียน, สมศรี เอี่ยมธรรม แปล. (2552). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง. ธนบุรี : สหประชาพาณิชย์.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2553). นนทบุรี : ศรีปัญญา

ศานติ ภักดีคำ ตรวจสอบและบรรณาธิการ. (2558). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ไกรฤกษ์ นานา. (2553). 500 ปี สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ไทย-โปรตุเกส. กรุงเทพฯ : มติชน.

Dhiravat na Pombejra. (2017). Alangkapuni: An English Captain at the Siege of Ayutthaya. Journal of Siam Society, Vol 105.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กันยายน 2567

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : วิลเลียม โพวนีย์ กัปตันชาวอังกฤษร่วมไทยสู้ศึกพม่า เมื่อก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ศิลปวัฒนธรรม

พระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ สร้างสมัย ร. 2 แลนด์มาร์กสยามประเทศ

11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

“สังวาล” พระพุทธชินราช ของใหม่ที่ใส่ประดับองค์พระสมัยหลัง มาจากไหน?

11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

กรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2) ทรงทำอะไร? ในศึกใหญ่ “สงคราม 9 ทัพ”

11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

“ธนบุรี” ถิ่นหนูชุม! เพราะพระเจ้าตากฯ ไม่โปรดให้เลี้ยง “แมว” จนเกิดเรื่องยุ่งในวัง!?

11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

5 อาหารควร ‘งด’ ถ้าอยากลดน้ำหนักให้สำเร็จ

Manager Online

เปิดเหตุผล! ทำไมถึงต้องดูซีรีส์ GL เรื่อง “Mission Love or Lies ภารกิจลวงรัก”

Insight Daily

ไม่อยากแก่ฟังทางนี้ ! ชวนดูสิ่งที่ควรทำ ถ้ายังไม่อยากแก่

SistaCafe

สภากาชาดไทยเปิดช่องทางบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยชายแดนไทยกัมพูชา

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

หนังใหม่ 2025 : เตรียมระเบิดภูเขาเผากระท่อม “เขาชุมทอง คะนองชุมโจร”

PPTV HD 36

พุทธวิถีในยุค...พระเก๊ เงินแท้... จากภาพยนต์ไทยเรื่อง THE STONE (เดอะสโตน พระแท้ คนเก๊)

กรุงเทพธุรกิจ

ภาพหาชมยาก "หลวงพ่อใหญ่" วัดม่วง อ่างทอง บูรณะทาสีใหม่

Manager Online

พิพิธภัณฑ์ THE MET ในนิวยอร์กมีผู้เยี่ยมชมกว่า 5.7 ล้านคนในปีงบประมาณ 2025

THE STANDARD

ข่าวและบทความยอดนิยม

คำว่า มรสุม มาจากไหน? เปิดที่มาชื่อลมประจำฤดู 2 ชนิดของไทย

ศิลปวัฒนธรรม

เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ที่มาชื่อถนนพาหุรัด

ศิลปวัฒนธรรม

วิลเลียม โพวนีย์ กัปตันชาวอังกฤษร่วมไทยสู้ศึกพม่า เมื่อก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2

ศิลปวัฒนธรรม
ดูเพิ่ม
Loading...