“พระเซเลบ” รสนิยมมวลชนชาวพุทธไทย ที่มาจากการเสื่อมศรัทธาข่าวฉาวพระดัง?
“พระเซเลบ” รสนิยมมวลชนชาวพุทธไทย ที่มาจากการเสื่อมศรัทธาข่าวฉาวพระดัง?
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2540 เป็นต้นมา เกิดปรากฎการณ์ชนชั้นกลางจำนวนมากสนใจธรรมะมากขึ้น และเมื่อพระสงฆ์สามารถนำคำสอนทางพระพุทธศาสนามาถ่ายทอดได้ดี เข้าใจง่าย เข้าถึงคนส่วนใหญ่ สังคมไทยจึงให้คำนิยามพระสงฆ์เหล่านั้นว่า “พระเซเลบ” (celeb ย่อมาจาก celebrity)
อาสา คำภา เล่าประเด็นนี้ไว้ใน “ลอกคราบพุทธแท้ : ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย” (สำนักพิมพ์มติชน, 2567) ผลงานที่ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาพุทธกับชนชั้นกลางของไทยอย่างถึงแก่น
ขอเก็บความเนื้อหามาเล่า ดังนี้
พระที่สังคมนิยามว่าเป็น “เซเลบ” เป็นพระที่มีความรู้ มีภาพลักษณ์เป็นพระปัญญาชนที่เฉลียวฉลาด ถ่ายทอดพุทธธรรมให้เข้าใจง่าย เพลิดเพลิน ดึงดูดชาวพุทธโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางให้เข้าถึงศาสนาได้มากขึ้น และได้รับนิมนต์ไปออกงานและออกสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์
เมื่อสื่อนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับพระที่มีชื่อเสียงมากเข้า ประชาชนก็เกิดความศรัทธา เป็นผลให้พระเหล่านั้นมีลูกศิษย์ลูกหาเพิ่มขึ้นทวีคูณ จนเกิดความเชื่อที่ว่า การได้บวชเรียนกับพระอาจารย์ หรือได้ไปปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์ แม้เพียงเวลาสั้นๆ ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต
อีกทั้งเมื่อมีเรื่องราวของผู้ประสบความสำเร็จทางโลก แต่กลับยินดีหันหลังให้ชื่อเสียงเงินทอง แล้วตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ก็ยิ่งทำให้ชาวพุทธซาบซึ้งมากขึ้น จนเป็นเหมือนอุดมคติสูงส่งที่ชนชั้นกลางไทยให้การยกย่อง
อาสา บอกในหนังสือว่า โดยภาพรวมอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ชาวพุทธชนชั้นกลางไทยดูจะชื่นชมพระสงฆ์ที่มีบุคลิกสงบสมถะเรียบง่าย หรือมีภาพลักษณ์ปัญญาชน หรือไม่ก็ต้องมีความพิเศษหรือกิมมิคอันโดดเด่น ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและน่าดึงดูดในการเข้าสู่ธรรมะ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอิทธิพลของสื่อก็มีผลหนุนส่งให้พระเหล่านี้ “เกิด” และ “ดับ” ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ภาพของ “พระน้ำดี” หรือพระชื่อเสียงโด่งดัง เริ่มถูกทำให้กลายเป็น “รูปปฏิมา” ที่จับต้องได้ และเข้าไปอยู่ในกระบวนการขวนขวายแสวงหาพระดี-พระแท้ ของชาวพุทธที่ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยว ท่ามกลางโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 2530-2540
เหล่านี้เองที่ยังผลให้ความเชื่อทางศาสนาหลากมิติ ทั้งประกาศก คำสอน พิธีกรรม กลายมาเป็นจุดยึดเหนี่ยว และเป็นที่พักพิงทางอารมณ์ (emotional refugee) ของชาวพุทธชนชั้นกลางไทยมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการเกิดปรากฏการณ์ “ช็อปปิงครูอาจารย์” ที่เห็นได้ชัดแม้แต่ในกลุ่มชนชั้นกลางปัญญาชนที่ดูมีสติปัญญาที่สุด
สิ่งนี้ยังอาจสะท้อนทัศนะบริโภคนิยมที่ชนชั้นกลางไทยทั่วไปคุ้นเคย ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
อาสามีข้อสังเกตด้วยว่า การที่ชาวพุทธชนชั้นกลางไทยต้องพยายามสร้างหรือจินตนาการภาพของพระสงฆ์ที่ดี ที่เหมาะกับการเป็นที่ยึดเหนี่ยว ส่วนหนึ่งอาจเพราะความเสื่อมศรัทธาจากข่าวฉาวของพระดัง
ข่าวฉาวที่ว่า สั่นสะเทือนวงการคณะสงฆ์ไทยอย่างแรงตลอดช่วงทศวรรษที่ 2530 ซึ่งเป็นทศวรรษอันรุ่งโรจน์ของชนชั้นกลางไทย
ทั้งข่าวการทุจริตเครื่องราชฯ ของวัดหลวงในกรุงเทพฯ, ข่าวฉาวพระนิกร ปี 2533, ข่าวฉาวพระยันตระ ปี 2537, ข่าวพระภาวนาพุทโธล่วงละเมิดสีกา ปี 2538 รวมถึงข่าวเณรแอ จอมขมังเวทย์ ปี 2537 ฯลฯ
“แน่นอนว่าข่าวฉาวของพระชื่อดังยังคงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน พระเซเลบกระทั่งบุคคลที่เชื่อกันว่าเป็นอริยเจ้าต่างโยกคลอนกันไม่เว้นแต่ละวัน ขณะที่สาธุชนชาวพุทธผู้หวังยึดเกาะครูอาจารย์เป็นที่พักพิงทางอารมณ์ก็ตกอยู่ในภวังค์อกหักซ้ำซาก อย่างไรก็ตาม นี่ดูจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกของชาวพุทธชนชั้นกลางมากกว่ากลุ่มอื่นๆ” อาสา ทิ้งท้ายประเด็นนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- “จีวรดอกพิกุล” เทรนด์จีวรลายดอก “พระสงฆ์ไทย” ยุคต้นรัตนโกสินทร์
- “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” ที่รัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้ง เปลี่ยนสีจีวรครั้งแรกเมื่อไหร่ และทำไมถึงเปลี่ยน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “พระเซเลบ” รสนิยมมวลชนชาวพุทธไทย ที่มาจากการเสื่อมศรัทธาข่าวฉาวพระดัง?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com