“พิชัย” ลุ้นกล่อมสหรัฐฯ ลดภาษีทรัมป์
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า การจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เหลือ 42,000 ล้านบาทจากวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 157,000 ล้านบาท หลัก ๆ จะจัดสรรไปเพื่อรับมือกับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงิน ส่วนความคืบหน้าเรื่องการเจรจาภาษีกับสหรัฐ จะหารือกันอีกรอบในวันที่ 24 ก.ค. นี้ เพื่อตอบคำถามประเด็นสหรัฐฯ สอบถามเพิ่มเติม ส่วนอัตราภาษีตอบโต้ที่ไทยจะได้รับนั้นจะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้หรือไม่ ในฐานะคนทำงานก็ต้องตั้งความหวังแบบนั้นอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนายพิชัย เป็นประธาน โดยจัดสรรงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ 42,000 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการเพื่อรับมือผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ โดยเน้นโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอี พยุงการจ้างงาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
นอกจากนั้นมีงบประมาณบางส่วนที่จัดสรรในโครงการเกี่ยวกับการเพิ่มทุนมนุษย์ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้จัดสรรเงินให้กับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วงเงิน 10,000 ล้านบาท และอีกส่วนจะจัดสรรเพิ่มให้กับกองทุนเพื่อกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ก.ย.ศ.) ซึ่งในส่วนของ ก.ย.ศ. จะอนุมัติเม็ดเงินในส่วนนี้ให้กับนักเรียน นักศึกษาในภาคเรียนต่อไปทำให้เม็ดเงินลงกระจายลงไปได้รวดเร็ว ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ นั้นเงินทุนจะนำไปใช้ในการดึงดูดการลงทุน ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตในประเทศ
สำหรับรายการงบประมาณที่ขอจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ประชุมให้ความเห็นว่าไม่สามารถที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างได้ทันในวันที่ 30 ก.ย. 2568 และอาจซ้ำซ้อนกับงบประมาณในปี 2569 ที่จะเริ่มออกมาใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2568 นี้ โดยให้กระทรวงมหาดไทยไปทบทวนโครงการและรอจัดสรรงบฯ จากแหล่งงบประมาณอื่นต่อไป
น.ส. ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม กล่าวก่อนการประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจว่าเศรษฐกิจไทยประสบปัญหาเรื่องการขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพ และสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเมื่อเทียบกับจีดีพีอยู่ในระดับต่ำทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งได้อีกครั้ง
ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการ/รายการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้วงเงิน 157,000 ล้านบาท โดยงบประมาณถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะผลการเจรจาเรื่องภาษีตอบโต้กับสหรัฐฯ วันนี้ขอให้คณะกรรมการร่วมกันทบทวนและพิจารณาข้อเสนอโครงการตามมติที่ประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ และสอดคล้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้งบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกิดประโยชน์เต็มที่ต่อระบบเศรษฐกิจบรรเทาผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน
ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทย เดือน มิ.ย. 68 มีมูลค่า 28,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 938,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% เทียบเดือน มิ.ย. 67 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 27,588.2 ล้านเหรียญฯ หรือ 914,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.1% ได้ดุลการค้า 1,061.7 ล้านเหรียญฯ หรือ 23,654 ล้านบาท ส่วนช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 68 การส่งออกมีมูลค่า 166,851.9 ล้านเหรียญฯ หรือ 5,578,959 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เทียบช่วงเดียวกันของปี 67 การนำเข้า 166,914.1 ล้านเหรียญฯ หรือ 5,651,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.63% ขาดดุลการค้า 62.2 ล้านเหรียญฯ หรือ 72,282 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกในเดือน มิ.ย. 68 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 13.5% สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ฯลฯ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 17.6% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ฯลฯ ทางด้านตลาดส่งออก ขยายตัวดีเกือบทุกตลาด โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 41.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน, จีน เพิ่ม 23.1%, สหภาพยุโรป เพิ่ม 11.9%, CLMV เพิ่ม 9%, อาเซียน เพิ่ม 6.5% ญี่ปุ่น เพิ่ม 3.2% เอเชียใต้ เพิ่ม 20.1% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 14.1% เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกในเดือน มิ.ย. 68 ขยายตัว มาจากการที่คู่ค้าเร่งสต๊อกสินค้าก่อนมาตรการภาษีสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้, ได้แรงหนุนจากการส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ อาทิ ผลไม้ มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ส่วนปัจจัยกดดัน ยังเป็นความไม่ชัดเจนของนโยบายภาษีสหรัฐฯ ความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน
ส่วนการส่งออกในเดือน ก.ค. 68 คาดจะยังคงขยายตัว จากการเร่งนำเข้าก่อนภาษีสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ส.ค. นี้ แต่ช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ส.ค.-ธ.ค.) การส่งออกน่าจะชะลอลง แต่ต้องรอดูผลการเจรจาภาษีสหรัฐฯ ว่าจะสรุปยังไง หากได้อัตราเดียวกับประเทศในภูมิภาคที่ 18-20% การส่งออกจะไม่ได้กระทบมาก แต่หากไทยถูกเก็บมากกว่านี้ จะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน
“การส่งออกครึ่งปีหลังชะลอแน่นอน จากผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐฯ และเงินบาทที่แข็งค่า แต่ทั้งปีคาดว่า จะยังโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 2-3% เมื่อเทียบปีก่อน โดยในช่วง 6 เดือนที่เหลือ จะต้องมีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 23,300 – 23,800 ล้านเหรียญฯ”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “พิชัย” ลุ้นกล่อมสหรัฐฯ ลดภาษีทรัมป์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รัฐผนึกเอกชนดิ้นหนีตายภาษีทรัมป์ 36% หากลดไม่ทันเสียหายยับ
- ”วิทัย” ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ “พิชัย” หวังมาช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-หนี้
- “พิชัย” ลุ้นกล่อมสหรัฐฯ ลดภาษีทรัมป์
- “พิชัย”ย้ำชงครม.วันนี้เคาะผู้ว่าธปท.ใหม่ วงในชี้“วิทัย”ยังเต็งหนึ่งไม่มีพลิกล็อคแน่
- คลังเคาะงบ 4 หมื่นล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ รับมือผลกระทบภาษีทรัมป์
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath