คอนโดฯ Q2/68 อุปทานใหม่ในกทม.ลดฮวบ 94.2% ต่ำสุดในรอบ16ปี
ครึ่งปีหลัง2568ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังเผชิญปัจจัยลบรอบด้าน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างรับมือโดยเปิดตัวโครงการลดลงโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมและมุ่งระบายสินค้าในมือมากขึ้น ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ เผชิญกับการชะลอตัวครั้งใหญ่ ยูนิตเปิดขายใหม่ลดลง 94.2% เหลือเพียง 373 ยูนิตเท่านั้น ต่ำที่สุดในรอบมากกว่า 16 ปี
ท่ามกลางปัจจัยลบที่รุมเร้าส่งผลให้ผู้ซื้อต้องชะลอการตัดสินใจ ผู้พัฒนาหลายรายเลือกที่จะชะลอแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปและมุ่งเน้นระบายสต็อกเก่า แม้ภาพรวมดูท้าทายแต่ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทยยังมองว่าในช่วงครึ่งหลังของปีภาพรวมตลาดอาจปรับตัวดีขึ้น
หากภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นใหม่ๆ หรืออัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลง ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ อาจกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะ คอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คอนโดใกล้รถไฟฟ้า แคมปัสคอนโด และคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพชั้นในที่มีกลุ่มลูกค้าชัดเจน กลยุทธ์พัฒนาจะเน้นเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มพรีเมียม เช่น นักลงทุนต่างชาติและกลุ่มผู้บริหารมืออาชีพที่พร้อมจ่ายเพื่อคุณภาพและความสะดวกสบาย
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย แนะนำว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาทองสำหรับผู้ซื้อที่มีความพร้อมทางการเงิน ซึ่งตอนนี้ถือเป็นโอกาสทองในการเจรจาราคาที่ดีกว่าปกติ พร้อมโปรโมชั่นและข้อเสนอพิเศษมากมาย แต่ผู้ซื้อจะต้องระมัดระวังและต้องวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ เลือกผู้พัฒนาที่มีผลงานน่าเชื่อถือ และให้ความสำคัญกับทำเลที่รัฐมีแผนลงทุนในอนาคต เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของตลาดและสร้างความมั่นคงในระยะยาว
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงการชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยมีจำนวนยูนิตเปิดขายใหม่เพียงแค่ 2 โครงการ 373 ยูนิตเท่านั้นและทั้ง 2 โครงการเป็นการพัฒนาโดยผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปรับตัวลดลงมากถึง 94.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 16 ปีนับตั้งแต่ปี 2552
โดยต่ำกว่าแม้กระทั้งในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ขณะที่มูลค่าโครงการใหม่เหลือเพียงแค่ 2,100 ล้านบาท เท่านั้นจากปกติโดยทั่วไปมูลค่าการลงทุนรายไตรมาสอยู่ในช่วง 10,000 – 30,000 ล้านบาท ความเงียบของตัวเลขเหล่านี้สะท้อนภาพรวมของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังอยู่ในช่วงรอจังหวะใหม่อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความชะลอตัวนี้มีความหลากหลายและซับซ้อน ตั้งแต่อุปสงค์ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง
ส่งผลให้ผู้ซื้อบ้านกลุ่ม real demand ต้องชะลอการตัดสินใจซื้อ ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนและนโยบายรัฐที่ยังไม่ชัดเจน ล้วนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย มองในด้านของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ว่า การพัฒนาโครงการใหม่ท่ามกลางต้นทุนก่อสร้างและราคาที่ดินที่สูง รวมถึงในภาวะที่ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานครชะลอตัวอย่างชัดเจน ทำให้ผู้พัฒนาส่วนใหญ่เลือกที่จะชะลอการเปิดโครงการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมุ่งเน้นไปที่การเร่งระบายสต็อกที่มีอยู่มากกว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องฤดูกาลของตลาดที่มีผลต่อจังหวะการเปิดขาย โดยผุ้พัฒนาหลายรายเลือกเลื่อนแผนการเปิดตัวไปยังไตรมาส 3 หรือ 4 ซึ่งเป็นช่วง High Season ของการตลาดอสังหาริมทรัพย์