'พลังของตัวละคร'ยกระดับนักเขียนบท สร้างสรรค์ตัวละครได้ทุกแพลตฟอร์ม
โดยสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมของผู้ชมที่เปลี่ยนไปรับชมเนื้อหาผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในรูปแบบซีรีส์และภาพยนตร์มากขึ้น แทนที่จะรับชมละครโทรทัศน์แบบเดิม
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เป็นเพียงการย้ายแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนเทคนิคและวิธีการเล่าเรื่องซีรีส์มักใช้ภาพเป็นสื่อหลัก และมีบทสนทนาน้อยกว่าละครทีวี แต่กลับเรียกร้องสมาธิในการรับชมที่สูงกว่าภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม แก่นแท้ของการเล่าเรื่องยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ “พลังของตัวละคร” ไม่ว่าสื่อใดๆ หากสามารถสร้างตัวละครที่แข็งแกร่งและน่าสนใจได้ ก็จะสามารถดึงดูดผู้ชมและทำให้เรื่องราวทรงพลัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
มทร.กรุงเทพฯ ปั้นคนคุณภาพ! หนุน Soft Power บันเทิงไทยสุดปัง
แกะสูตร ‘เน็ตฟลิกซ์’ ตรึงคนดู เปิดตัว190 ประเทศทั่วโลก โปรโมตไร้ขีดจำกัด
ยกระดับนักเขียนบทไทยสู่ตลาดสากล
เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ร่วมกับ สำนักงานสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทย (THACCA) และ One Family One Soft Power (OFOS) โดยการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการ “พลังของตัวละคร” (The Power of Characters) อบรมนักเขียนบทหลักสูตรขั้นสูงสำหรับมืออาชีพ
เพื่อขยายศักยภาพของนักเขียนบทไทยผ่านการพัฒนาตัวละคร โดยมีนักเขียนบทมืออาชีพระดับแนวหน้าของไทยจากอุตสาหกรรมบันเทิงสี่สาขา ได้แก่ ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ (ปราณประมูล) สาขาบทละครโทรทัศน์ นนทรีย์ นิมิบุตร สาขาบทภาพยนตร์ นิกร แซ่ตั้ง สาขาบทละครเวที และอภิรักษ์ ชัยปัญหา สาขาบทซีรีส์ มาร่วมแชร์ประสบการณ์
เปิดโอกาสให้นักเขียนบทมืออาชีพซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคม รวมทั้งนักเขียนบทละครโทรทัศน์ บทภาพยนตร์ บทซีรีส์ บทละครเวที นักเขียนนวนิยาย หรือเป็นทีมงานในวงการบันเทิง ที่มีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 2 ปีและมีผลงานไม่น้อยกว่า 2เรื่อง เพื่อให้สามารถเขียนงานได้หลากหลายขึ้นไม่ยึดติดกับแนวเดิมๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน
คฑาหัสต์ บุษปะเกศ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าการอบรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อ“Upskill” และ “Reskill” นักเขียนบทมืออาชีพที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว ให้สามารถสร้างสรรค์งานเล่าเรื่องที่หลากหลายครอบคลุมทั้งละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ และละครเวที ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ในยุคที่ตลาดคอนเทนต์ไร้พรมแดน ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของนักเขียนบทในตอนนี้คือการทำให้ตัวเองเป็น “ตัวจริง” ในวงการให้ได้ เราต้องเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทิ้งพื้นฐานการเขียนแบบดั้งเดิมที่เป็นรากฐานสำคัญ
จากนักเขียนรับจ้างสู่เจ้าของลิขสิทธิ์ทางปัญญา (IP)
การพัฒนา “การเล่าเรื่องที่มีความเป็นสากลมากขึ้น” มีความสำคัญต่อการผลิตคอนเทนต์ในปัจจุบันไม่ได้มุ่งเน้นแค่ผู้ชมในประเทศอีกต่อไป เพราะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและลาตินอเมริกา ต่างให้ความสนใจละครและซีรีส์ไทยอย่างมาก คอนเทนต์ไทยหลายเรื่องสามารถสร้างมูลค่าและเป็น Soft Power ที่สำคัญได้ ในพื้นที่การแข่งขันปัจจุบันคนที่จะอยู่รอดได้ต้องมีความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ที่มีทั้งความเข้าใจในเทคนิคการเล่าเรื่องที่ดี ความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ และความสามารถในการสร้างเนื้อหาที่สามารถสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้ กล้าที่จะเล่าเรื่องที่สอดแทรกประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม หรือประเด็นร่วมสมัยอื่นๆ แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้ได้ในเวลาเดียวกัน
ด้าน อภิรักษ์ ชัยปัญหา นักเขียนบทซีรีส์ อาทิ THE REBOUND เกมนี้เพื่อนาย, เกมรักทรยศ และ CEO บริษัท YOLO PRODUCTION หนึ่งในวิทยากรโครงการ เสริมว่า ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของโครงการอบรมนี้คือการเปิดโอกาสให้นักเขียนบทได้เป็น“เจ้าของลิขสิทธิ์ทางปัญญา” (Intellectual Property - IP) ของตนเองแทนที่จะเป็นเพียงผู้รับจ้างเขียนบทที่ได้รับค่าจ้างเป็นครั้งๆ ไป ผู้เข้าอบรมจะได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาพล็อตเรื่องของตนเองจนเป็น IP ที่พร้อมนำไปเสนอขายหรือหาผู้ร่วมลงทุนได้
“การเป็นเจ้าของ IP นี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อการเพิ่มมูลค่าและอำนาจการต่อรองของนักเขียนหากนักเขียนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็น “Showrunner” (เจ้าของโปรเจกต์)หรือผู้สร้างที่นำเสนอไอเดียของตนเองให้ผู้ผลิตเข้ามาลงทุนได้ พวกเขาสามารถสร้างรายได้มหาศาล จากเดิมที่อาจได้เพียงค่าพล็อตหลักหมื่นหรือค่าเขียนบทหลักแสน ก็สามารถเพิ่มเป็นค่าผลิตต่อเรื่องได้สูงถึง 15-20 ล้านบาทหรือในบางกรณี IP หนึ่งชิ้นสามารถสร้างมูลค่าได้ตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลายสิบล้านบาทซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับสากล เช่น Netflix ที่ให้ความสำคัญกับนักเขียนในฐานะเจ้าของโปรเจกต์”
อนาคตที่เปิดกว้างและไร้ขีดจำกัด
CEO บริษัท YOLO PRODUCTION มองว่า ในยุคที่เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โอกาสสำหรับผู้ที่มีไอเดียก็เปิดกว้างขึ้น นักเขียนบทที่มีประสบการณ์และได้รับการ Upskill/Reskill จะมีเครื่องมือที่หลากหลายขึ้นในการสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้มีโอกาสในการได้งานมากขึ้น การก้าวเข้าสู่การเป็น Content Creator หรือ Showrunner ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนจำนวนมากเหมือนในอดีต แต่เน้นที่ไอเดียและความสามารถในการขับเคลื่อนโปรเจกต์
ปัจจุบันสื่อบันเทิงจำนวนมากได้พัฒนาบทให้ไปได้ไกลกว่ามุมมองแบบเดิมๆ และมีการสอดแทรกประเด็นที่หลากหลายและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่น ประเด็นครอบครัวแตกแยก ความหลากหลายของสังคม ความเหลื่อมล้ำในชนชั้น การค้ามนุษย์ หรือพุทธพาณิชย์ ดังเช่นในเรื่อง เกมรักทรยศ (รีเมกจาก Dr. Foster), สืบสันดาน, สาธุ, ฉลาดเกมโกง, หรือมาตาลดา หลายเรื่องได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบุคลากรในวงการที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ
และเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก นักเขียนบทไทยจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนวงการให้เติบโตต่อไป ด้วยการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง การเปิดรับเทรนด์การเล่าเรื่องใหม่ๆ และการกล้าที่จะนำเสนอประเด็นที่สำคัญและเป็นสากล ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมและประเทศ แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพของ “Soft Power” ของไทยในเวทีโลกอย่างแท้จริง
"เป้าหมายสูงสุดของโครงการคือการพัฒนานักเขียนบทที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว ให้สามารถเขียนบทข้ามแพลตฟอร์มได้ ไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์ ซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือละครเวที ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานของนักเขียนบทในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและละครโทรทัศน์มีงานน้อยลงคาดหวังว่าเมื่อจบโครงการ ผู้เข้าอบรมจะสามารถสร้างลิขสิทธิ์ทางปัญญา (IP) หรือโครงเรื่องของตัวเองได้ 1 เรื่องซึ่งสามารถนำไปขายหรือหาผู้ลงทุนต่อยอดได้ สามารถเป็น“เจ้าของโชว์” (Showrunner) (ผู้สร้าง/เจ้าของโปรเจกต์) ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นมาก (เช่น จากค่าพล็อต 50,000-100,000 บาท เป็นค่าผลิต 15-20 ล้านบาทต่อเรื่อง) มูลค่าของ IP หนึ่งชิ้นสามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาล ตั้งแต่ 500,000 บาท ไปจนถึง 50 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น"
โครงการ “พลังของตัวละคร” เปิดรับสมัครผู้เข้าอบรมแบบออนไซต์ 30 คนและแบบออนไลน์ โดยกิจกรรมจะจัดขึ้นในวันที่ 23-24, 30-31 สิงหาคม 2568 ณ โรงแรม S31 สุขุมวิท ผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่เฟสบุกแฟนเพจสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์https://www.facebook.com/TVdramascriptwritersAssociationOfficialpage