“ชาญชัยและคณะ” ขนหลักฐานส่ง ป.ป.ช. 11 รายการ จี้ดำเนินคดีปมตัดงบแบงก์รัฐ-โยก‘แจกเงินหมื่น’ผิด ม.144?
“ชาญชัยและคณะ” ขนหลักฐานส่ง ป.ป.ช.เพิ่ม 11 รายการ จี้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ปมสั่งตัดงบใช้หนี้แบงก์รัฐ 35,000 ล้านบาท – โยก ‘แจกเงินหมื่น’ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 หรือไม่?
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ อันประกอบด้วย พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีต สว. , นายสมชาย แสวงการ อดีตสว., นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ปี 2560 และนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ “ทนายนกเขา” ยื่นเอกสารและหลักฐานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ประกอบการพิจารณาความผิดกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ณ สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.สนามบินน้ำ
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส. นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้ตนและคณะได้มายื่นเอกสารและหลักฐานให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพิ่มเติมอีก 11 รายการ เพื่อให้ ป.ป.ช.ใช้ประกอบการพิจารณาการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 144 กรณี ครม.รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และ ครม.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 รวมทั้ง สส.และ สว. ดำเนินการตัดงบประมาณรวม 35,000 ล้านบาท ที่จัดสรรไว้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 5 แห่ง นำไปชำระหนี้ทั้งต้นเงินกู้ , ดอกเบี้ย และเงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย โดยมีการงบประมาณดังกล่าวนี้ไปใช้ในโครงกาดิจิทัล วอลเล็ต โดยไม่ได้สั่งการระงับ หรือ ยับยั้ง
นายชาญชัย กล่าวว่า หลังจากที่ตนมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ไว้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ขณะนี้ก็เป็นเวลาครบ 60 วันแล้ว จึงขอติดตามเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติว่า กรณีดังกล่าวนี้ให้ ป.ป.ช.ดำเนินการโดยพลัน นอกจากมาติดตามเรื่องแล้ว ตนขอส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับ ป.ป.ช.อีก 11 รายการดังนี้
เรื่องการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1
เรื่องการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2
เรื่องปรับปรุงแผนงานบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 3
เรื่องการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
เรื่องการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สินสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1
เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เล่มที่ 14 รัฐวิสาหกิจ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานการสอบบัญชีและงบการเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2567
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินรายงานการสอบบัญชีและงบการเงินธนาคารออมสินและบริษัทย่อยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567
การเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ของสำนักงบประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567
สำเนาเอกสาร ด่วนที่สุดที่ นร. 0903/204 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2568 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความเห็น แนวทางการเสนอและการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี2569 ในการดำเนินการดังกล่าวต้องปฏิบัติตาม ม.144 วรรคหนึ่ง และวรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561โดยเคร่งครัด
บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 38 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 น.
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากเอกสารที่แนบมานี้จะเห็นว่า รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร, ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการรายย่อย แต่รัฐบาลไม่มีเงิน จึงสั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 5 แห่ง ไปดำเนินธุรกรรม หรือ มาตรการตามนโยบายของรัฐ โดยมีมติ ครม.อนุมัติให้สถาบันการเงินเหล่านี้ไปกู้เงิน และเป็นไปตามกรอบ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และถือเป็นเงินที่กำหนดให้จ่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชน, ธุรกิจขนาดกลางกลางขนาดย่อม, เกษตรกร หรือ ผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ. 2561 โดยให้สำรองจ่ายเงินช่วยเหลือไปก่อน จากนั้นรัฐบาลก็จะจัดสรรงบประมาณ (ภาษี) มาใช้คืนเงินต้น หรือ ดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 5 แห่ง ในภายหลัง โดยตั้งงบประมาณรายจ่ายมาชำระหนี้ให้เป็นรายปีๆไป จนกว่าจะใช้หนี้หมดเท่ากับรัฐบาลกู้เงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 5 แห่งไปโดยปริยาย
ดังนั้น กรณีที่มีการแปรญัตติปรับลด หรือ ตัดทอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ตั้งไว้เพื่อชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 5 แห่ง เพื่อโยกเงินไปใช้ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 144 ที่ห้ามไม่ให้มีการแปรญัตติลด หรือ ตัดทอนรายจ่ายเกี่ยวกับเงินที่รัฐบาลมีข้อผูกพัน ต้องชำระ ต้นเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย ดังเช่น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 20 (5) กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายไปชดเชยความเสียหายจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ให้ในโอกาสแรกที่กระทำได้ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ยังมีการแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ให้กับกองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในการพิจารณาของ สส., สว.หรือ คณะ กมธ. ทั้งการเสนอ การแปรญัตติ หรือ การกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ สส., สว. หรือ กมธ. มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณจะกระทำมิได้