Colors of the Wind เพลงจากการ์ตูน Pocahontas อายุ 30 ปีที่อยู่ๆ ก็โดนใจคนเจนฯ Z เพราะมันอาจพูดถึงสถานการณ์โลกและผู้คนยุคนี้ได้อย่างร่วมสมัย
ในยุคที่บรรดาการ์ตูนแห่งความทรงจำสมัยเด็กๆ ของใครหลายคนจากค่ายวอลต์ ดิสนีย์ ถูกหยิบยกมาขัดถูใหม่ออกมาเป็นเวอร์ชั่นคนแสดง (Live Action) มากมายหลายเรื่องอยู่เรื่อยๆ อย่างล่าสุดก็เรื่อง Lilo & Stitch ที่ชวนให้เราย้อนวันวานได้อย่างอบอุ่นหัวใจอีกครั้ง
และ Pocahontas ก็เป็นหนึ่งในการ์ตูนดิสนีย์เพียงไม่กี่เรื่องที่โชคร้ายหน่อยตรงที่ว่ามันเต็มไปด้วยประเด็นเปราะบางซึ่งอาจทำให้แฟนๆ ไม่น่าจะได้เห็นมันในเวอร์ชั่นคนแสดงในเร็วๆ นี้ก็จริง แต่อยู่ๆ เพลงซาวด์แทร็กอย่าง Colors of the Wind จากการ์ตูนเรื่องนี้ที่ฉายครั้งแรกเมื่อปี 1995 ก็กลับกลายเป็นเพลงการ์ตูนดิสนีย์ที่คนรุ่นใหม่หลายคนบอกว่าพวกเขา ‘อิน’ กับมันอย่างไม่น่าเชื่อ!
อันที่จริงแล้วตัวเนื้อเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ของการ์ตูนยุค 90s อย่าง Pocahontas นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์และชวนถกเถียงกันมาตลอดว่า ‘มีปัญหา’ กับการที่มัน Romanticise และเผยแพร่ทัศนคติบางอย่างที่ไม่ถูกต้องนัก อย่างเช่นการล่าอาณานิคม การเข่นฆ่าชนพื้นเมืองเพื่อแย่งชิงดินแดน การเเบ่งแยกเชื้อชาติสีผิว แล้วแทนที่ด้วยเรื่องราวความรักโรแมนติกของหนุ่มนักสำรวจคนขาวกับหญิงสาวพื้นเมือง อะไรแบบนั้น
ทว่าเนื้อหาในเพลงประกอบอย่าง Colors of the Wind ที่ว่าด้วยการเคารพธรรมชาติและผู้คนที่อาจแตกต่างจากเรา กลับโดนใจคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลและเจนฯ Z ที่เติบโตมาทันได้ดูการ์ตูน หรือมีโอกาสได้ย้อนฟังเพลงนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ Lanie Pritchett สาว Tiktok วัย 22 จากมหาวิทยาลัย Stephen F. Austin State ในเท็กซัส ที่เคยหยิบยกบางท่อนจากเพลงการ์ตูนเรื่องนี้มาลิปซิงค์ในวันที่ Donald Trump เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเธอบอกว่าอยากหยิบเพลงนี้มาสื่อสาร ‘บางสิ่ง’ ที่อยู่ในใจ จนกระทั่งคลิปของเธออันนั้นกลายเป็นไวรัลที่มีคนดูกว่าครึ่งล้านในชั่วข้ามคืน
นั่นอาจเป็นเพราะว่า Colors of the Wind คือเพลงที่มีแมสเสจไม่ธรรมดาอยู่ในนั้นมาตั้งแต่ก่อนกาล ทั้งเรื่องความแตกต่างหลากหลาย (Inclusivity) ของเชื้อชาติวัฒนธรรม ผู้คน วิถีชีวิต ความคิดความเชื่อ รวมไปถึงเรื่องของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและโลก ซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาที่สวยงาม นั่นทำให้มันยังมันเป็นส่วนหนึ่งของป๊อปคัลเจอร์ในทุกวันนี้ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ แม้จะมีอายุอานามร่วม 30 ปีแล้วก็ตาม อย่างท่อนหนึ่งของเพลงที่น่าจะสื่อสารกับสถานการณ์ทุกวันนี้ที่ว่า :
“You think the only people who are people
Are the people who look and think like you
But if you walk the footsteps of a strangerYou'll learn things you never knew, you never knew… ”
—
“ท่านคิดว่ามีแค่คนกลุ่มเดียวที่เป็นมนุษย์
คือพวกพ้องที่มองและคิดเห็นเหมือนอย่างท่าน
แต่หากท่านดินตามรอยเท้าแห่งคนแปลกหน้า
ท่านจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่มีวันจะได้รู้… ”
เพลงที่ได้รางวัลออสการ์ สาขา Best Original Song รวมถึงรางวัลแกรมมี่ สาขาเพลงยอดเยี่ยมในเวลานั้นอย่าง Colors of the Wind เป็นเพลงที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ในปี 1992 โดยนักแต่งเพลง Alan Menken และนักเขียนบทละครบรอดเวย์ Stephen Schwartz เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบการ์ตูนเรื่อง Pocahontas ที่ว่าด้วยหญิงสาวชนพื้นเมืองกับหนุ่มนักสำรวจชาวอังกฤษผู้มาเยือนดินแดนไกลโพ้นที่เขาไม่รู้จักในยุคล่าอาณานิคมของชาวยุโรปช่วงปี ค.ศ. 1600s
และโดยไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินนี้มาก่อนอย่างชาวพื้นเมืองโพวฮาตาน (Powhatan) ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่เป็นรัฐเวอร์จิเนียและแมรีแลนด์ในปัจจุบัน หญิงสาวผิวทองแดงจึงสอนให้หนุ่มผิวขาวรู้จักเคารพสิ่งที่อยู่รอบตัว นั่นก็คือธรรมชาติ รวมถึงสรรพสัตว์และผู้คน ซึ่งสำหรับเขาและกลุ่มคนผู้มาเยือนอาจมองว่าเป็นแค่ดินแดนห่างไกลความเจริญ ไร้อารยธรรมศิวิไลซ์ เหมือนเป็น ‘คนป่า (เถื่อน)’ แต่ใดๆ แล้วทุกคนก็ล้วนเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน ตามเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ร้องว่า ‘whether we are white or copper skinned’ คือไม่ว่าเราจะเป็นคนผิวขาวหรือทองแดง ก็ควรที่จะเคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกันอย่างมนุษย์คนหนึ่งเฉกเช่นเดียวกัน
ผู้ร่วมแต่งเพลงอย่าง Stephen Schwartz บอกว่า เขาเเรงบันดาลใจของเนื้อเพลงนี้นั้นได้มาจากถ้อยคำของ Chief Seattle หรือหัวหน้าอินเดียนแดงเผ่าดูวามิช (Duwamish) และเผ่าซูความิช (Suquamish) เจ้าของสุนทรพจน์ที่เขียนถึง Franklin Pierce ประธานาธิบดีคนที่ 14 ของอเมริกา ในตอนที่รัฐบาลของคนผิวขาว ณ ขณะนั้นมีความต้องการขอซื้อดินแดนของชาวอินเดียนแดงในยุคกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีเนื้อหาว่า :
“ประธานาธิบดีที่วอชิงตันได้ส่งข่าวมาว่าท่านใคร่ซื้อผืนแผ่นดินของเรา แต่พวกท่านอาจซื้อขายผืนฟ้าได้หรือไร และความอบอุ่นของผืนแผ่นดินนี้เล่า อาจซื้อขายได้ละหรือ สำหรับพวกเราแล้ว ความคิดเช่นนี้ ช่างเป็นความคิดที่ประหลาดนัก ในเมื่อพวกเรามิได้เป็นเจ้าของความสดชื่นในอากาศ ทั้งประกายระยิบระยับของสายน้ำก็ไม่ใช่สมบัติของเรา เช่นนี้แล้ว ท่านจะสามารถซื้อมันได้ด้วยหรือ”
“ทุกอณูอนุภาคของผืนพิภพนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับประชาชนของข้าพเจ้า ในทุกประกายของใบสน ในทุกเม็ดของทรายตามชายฝั่ง ในทุกเกล็ดหมอกกลางป่าไม้สีดำ ในทุกๆ เสียงร่ำร้องอึงอลของหมู่แมลง…เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก และโลกก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา ดอกไม้หอมคือน้องสาวของเรา ทั้งกวาง ม้า และอินทรีใหญ่ ต่างก็เป็นพี่น้องของเรา ทั้งยอดผา น้ำหวานในทุ่งหญ้า ไออุ่นในตัวลูกม้าและในกายมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดต่างอยู่ร่วมในครอบครัวเดียวกัน”
และเนื้อหาท่อนนี้นี่เองที่ได้ปรากฏอยู่ในเพลง Colors of the Wind อย่างสวยงาม ถ่ายทอดด้วยภาษาที่สละสลวยว่า :
“You think you own whatever land you land on
The Earth is just a dead thing you can claim
But I know every rock and tree and creature
Has a life, has a spirit, has a name”
—
“ท่านคิดว่าเธอครอบครองดินแดนใดก็ได้ที่ย่างเหยียบ
ผืนดินนี้เป็นเพียงสิ่งไร้ชีวิตที่ท่านต้องการ
แต่ข้ารู้ดี ทั้งหิน ทั้งพฤกษา และทุกสรรพสิ่ง
มีทั้งนาม และมีชีวิต มีจิตใจ”
โดยผู้แต่งอย่าง Menken เคยให้สัมภาษณ์ว่าถ้อยคำอันทรงพลังของอินเดียนแดงเหล่านี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ ในเรื่องของการเคารพธรรมชาติ และถึงแม้เพลงจะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างแรง ตรงไปตรงมา มันก็ไม่เคยถูกตีกลับจากทางดิสนีย์เลยตั้งแต่เขาเสนอมันให้กับสตูดิโอ แถม Jeffrey Katzenberg ผู้อำนวยการสตูดิโอขณะนั้นก็อีเมล์กลับมาหาด้วยว่า เขาเอาแต่เล่นเพลงนี้ในเครื่องเล่นพกพา แล้วก็เปิดมันให้คนโน้นคนนี้ฟังซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ เพราะชอบมากๆ เลยละ
ในตอนแรก ค่ายดิสนีย์ต้องการจะให้นักร้องชาวอเมริกันพื้นเมืองจริงๆ เป็นคนร้องเพลงนี้ในเวอร์ชั่นออริจินัลซาวด์แทร็ก แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่มันถูกขับร้องโดย Judy Kuhn นักร้อง-นักแสดงละครบรอดเวย์เจ้าของเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ตัวละครนางเอกอย่างโพคาฮอนทัสนั้น ดิสนีย์ก็ได้เลือก Irene Bedard ซึ่งเป็นชาวอเมริกันพื้นเมืองแท้ๆ มาเป็นผู้ให้เสียงพากษ์
ผู้ร้องเพลงนี้อย่าง Judy Kuhn เองยังยอมรับว่ามองย้อนกลับไปในเวลานั้น เพลงนี้ช่างฟังดูแปลกประหลาด และเธอก็ไม่คิดว่ามันจะเชื่อมโยงอะไรกับใครได้มากมายขนาดนี้ “สำหรับฉันมันฟังดูเศร้า แต่ก็เปี่ยมด้วยความหมายลึกซึ้งตลอดกาลจริงๆ ค่ะ” Judy Kuhn กล่าว
นอกจากนั้นแล้ว บรรดาชาวมิลเลนเนียลและเจนฯ Z ยังหยิบเพลงนี้ไปแปลในอีกหลายภาษา ให้กับหลากหลายบริบทของสิ่งที่พวกเขา ‘อิน’ อย่างเช่น Tiktoker ชาวออสเตรเลียน คนหนึ่งที่ใช้เพลงนี้ร้องให้กับการต่อต้านการเลือกปฏิบัติกับชนเผ่าอะบอริจิน ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในออสเตรเลีย
เช่นเดียวกับ Alex Rose Holiday นักร้อง-นักแต่งเพลง วัย 27 ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายนาวาโฮ (Navajo) กลุ่มชาติพันธ์ุอินเดียนแดงที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ ได้แปลเพลงนี้เป็นภาษานาวาโฮ โดยยอมรับว่าเราอาจจะต้องแยกแยะระหว่างเนื้อเรื่องที่ถูกกระแสสังคมต่อต้านว่าส่งเสริมความคิดที่รุนแรงและเป็นอันตรายของการเหมารวมคนพื้นเมืองอเมริกัน กับเนื้อเพลง Colors of the Wind ซึ่งให้ความหมายที่แตกต่างออกไป
“ฉันรู้สึกว่าเพลงนี้มันแยกออกจากตัวการ์ตูนนะ มันเป็นเพลงที่กล่าวถึงมุมมองที่เรามีต่อธรรมชาติและโลกของพวกเรามากกว่า” Alex Rose Holiday กล่าว และการร้องเพลงนี้ใหม่ในภาษาพื้นเมืองนาวาโฮสำหรับเธอนั้นก็ยิ่งเหมือนเป็นการ ‘เรียกคืน’ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะกับคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติอย่างเธอ “สำหรับฉัน มันคือการทวงคืนบางอย่างจากผู้คนที่แต่งมันขึ้นมา แล้วสร้างสรรค์มันใหม่ในแบบของพวกเราต่างหากค่ะ”
ก็อาจจะเหมือนกับที่หลายคนบอกว่า ความน่าทึ่งของเพลง Colors of the Wind คือการที่มันพูดถึงสิ่งเหล่านี้อย่างกว้างๆ ไม่ว่าเราจะมาจากวัฒนธรรมแบบไหน เชื้อชาติ ผิวสีอะไร หรือมีความเชื่อแบบใด ซึ่งนี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้มันสามารถ ‘สื่อสาร’ และเข้ากันได้กับแทบทุกบริบทความเป็นไปทั้งของเราและของโลกได้ในทุกยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั่นเอง
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2025/06/30/movies/colors-of-the-wind-pocahontas.html
https://www.archives.gov/publications/prologue/1985/spring/chief-seattle.html
https://www.sarakadee.com/2009/07/19/another-american-for-green-world/
https://mindfurie.wordpress.com/2014/09/07/%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%87-colors-of-the-wind-pocahontas/
‘ถ้อยประท้วงของคนป่า’ แปลเป็นภาษาไทยและเรียบเรียงโดย พจนา จันทรสันติ ตีพิมพ์หนังสือ ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง จาก Chief Seattle’s Speech ถ้อยความประวัติศาสตร์ของหัวหน้าเผ่าชาวอินเดียนแดง ถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1854, นิตยสาร The Aborigines
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- Colors of the Wind เพลงจากการ์ตูน Pocahontas อายุ 30 ปีที่อยู่ๆ ก็โดนใจคนเจนฯ Z เพราะมันอาจพูดถึงสถานการณ์โลกและผู้คนยุคนี้ได้อย่างร่วมสมัย
- สำรวจตัวละครแซฟฟิกใน Girl’s Love ไทย จาก Rocket Media Lab เมื่อปัญหาไม่ใช่ความ ‘ไม่แน่ใจ’ ในอัตลักษณ์ทางเพศ แต่คือการคัดง้างกับกรอบความเป็น ลูกสาว แม่ และภรรยา
- “อัลบั้มนี้ฉันมีจุดมุ่งหมายที่จะปลดปล่อยตัวเองอย่างเต็มร้อย ระเบิดโลกที่อยู่ในใจให้ออกมา” การกลับมาของ LORDE ในอัลบั้ม Virgin ที่สำหรับเธอแล้วคือ ‘ภารกิจ’ การเยียวยาตัวเองในทุกช่วงวัย
ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : Mirror Thailand.com