ผลสำรวจเผย คนรุ่นใหม่ 25% กินข้าวคนเดียวทุกมื้อ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตระยะยาว
“ฉันเหงา ฉันกินข้าวคนเดียวมา 2 เดือนแล้วนะเว้ย”
.
ประโยคยอดฮิตสุดคลาสสิกจากภาพยนตร์เรื่อง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ที่ตีแผ่ความเหงาของคนทำงานได้เป็นอย่างดีผ่านการกินข้าวคนเดียวของพนักงานออฟฟิศธรรมดาทั่วไปที่ โสด ไม่มีเพื่อน และไม่มีใครให้แลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตด้วยยามพักเที่ยง
.
ตัดภาพมาในปัจจุบัน ด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทำให้รูปแบบการทำงานและวิถีชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินข้าว ที่โดดเดี่ยวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
.
โดยข้อมูลล่าสุดจาก World Happiness Report 2025 เผยว่า คนอเมริกันอายุ 18-24 ปี ถึง 25% นั้น “กินข้าวคนเดียวทั้ง 3 มื้อ” ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
.
ซึ่งที่น่ากังวลคือ การกินข้าวคนเดียวนั้น สามารถสร้างอิทธิพลในแง่ลบต่อความพึงพอใจในชีวิต พอๆ กันกับการมีงานทำหรือรายได้เลยทีเดียว
.
โดยพฤติกรรมการกินข้าวคนเดียวนี้ แม้จะได้รับความนิยม ดูเหมือนว่าไม่อันตราย และเป็นถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไปในบริบทโลกยุคปัจจุบัน แต่อันที่จริงแล้ว การกินข้าวคนเดียวเป็นสัญญาณเตือนถึงการสูญเสียการเชื่อมต่อทางสังคมที่สำคัญต่อสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่ และถ้าไม่รีบแก้ไข อาจกลายเป็นวิกฤตความสุขที่ร้ายแรงในอนาคตเลยทีเดียว
.
.
“ร่วมโต๊ะอาหารกับผู้อื่น” ยาวิเศษแห่งความสุขที่คนรุ่นใหม่กำลังพลาด
.
"มนุษย์เราควรกินอาหารร่วมกับผู้อื่นอย่างน้อย 13 มื้อต่อสัปดาห์" นี่คือจำนวนมื้ออาหารที่เหมาะสมที่สุดต่อความสุขตามการวิจัย แต่คนอเมริกันโดยเฉลี่ยกินข้าวร่วมกับผู้อื่นเพียง 7.9 มื้อต่อสัปดาห์เท่านั้น
.
Jan-Emmanuel De Neve ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Oxford อธิบายว่า การแบ่งปันมื้ออาหารกับผู้อื่นมีความสำคัญต่อความพึงพอใจในชีวิตไม่แตกต่างจากการมีงานทำหรือมีรายได้ที่ดี
.
เมื่อเราย้อนกลับไปดูข้อมูลจาก American Time Use Survey พบว่าในปี 2023 มีคนรุ่นใหม่อายุ 18-24 ปี ถึง 25% ที่กินอาหารทั้งสามมื้อโดยลำพังเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา
.
"นี่เป็นการเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากเมื่อ 20 ปีก่อน" De Neve กล่าว พร้อมเตือนว่านี่เป็นภัยเงียบต่อสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่ที่หลายคนอาจยังไม่ตระหนัก
.
.
โทรศัพท์มือถือ ตัวการสำคัญที่ขโมยช่วงเวลาแห่งการเชื่อมต่อ
.
ตั้งแต่ปี 2000 Robert Putnam นักสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard ได้ตีพิมพ์หนังสือ "Bowling Alone" ที่ชี้ให้เห็นว่าชาวอเมริกันเริ่มขาดการเชื่อมต่อกับครอบครัว เพื่อน และเพื่อนบ้านมากขึ้น
.
Putnam ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการทำงาน ครอบครัว ชีวิตในเขตชานเมือง รวมถึงโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การเชื่อมต่อทางสังคมลดลง
.
แต่สำหรับคนอายุ 18-24 ปี การเข้ามาของสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาได้ทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น โดยมีคนรุ่นใหม่อายุ 18-29 ปี ถึง 98% ที่มีสมาร์ตโฟน ตามข้อมูลสำรวจของ Pew Research Center ในปี 2024
.
"สมาร์ตโฟนกำลังทำให้เราเสียสมาธิจากมนุษย์คนอื่นๆ ในห้อง" De Neve กล่าว "และยังกลายเป็นข้อแก้ตัวที่ดีในการไม่ต้องคุยกับใคร"
.
Vivek Murthy อดีตศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐฯ ได้แบ่งปันข้อสังเกตสำคัญจากการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกา "ค่าเริ่มต้นในตอนนี้คือ คุณไม่พูดกับใครเลยเมื่อเข้าไปในโรงอาหาร และนั่งกินคนเดียว" Murthy สะท้อนความเป็นจริงที่น่าเศร้าของคนรุ่นใหม่
.
.
5 วิธีสร้างการเชื่อมต่อผ่านมื้ออาหาร กลับคืนความสุขให้คนรุ่นใหม่
.
แม้ว่าปรากฏการณ์กินข้าวคนเดียวของคนรุ่นใหม่นั้นจะน่ากังวลเพียงใด แต่มันยังไม่ถึงจุดวิกฤติที่เรายังไม่สามารถแก้ไขได้ โดยทาง Jan-Emmanuel De Neve เสนอแนวทางที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถกลับมานั่งล้อมวงทานข้าวร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขดังนี้
.
1. สร้าง "กล่องเก็บโทรศัพท์" ในห้องนอนและห้องครัว
Arthur Brooks ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School แนะนำให้มีกล่องสำหรับวางโทรศัพท์ทั้งในห้องนอนและห้องครัว "สิ่งนี้จะบังคับให้คุณอยู่กับปัจจุบัน และมีการสนทนากับคนรอบข้างจริงๆ" De Neve กล่าว การปลดตัวเองจากโทรศัพท์ในช่วงมื้ออาหารจะช่วยให้เราโฟกัสกับคนที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น
.
2. สร้างโซนปลอดโทรศัพท์ในโรงอาหาร ในระดับสถาบันการศึกษา
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรพิจารณาจัดให้มี "โต๊ะที่มีนโยบายห้ามใช้โทรศัพท์" ในโรงอาหาร ซึ่งเป็นสัญญาณให้นักศึกษารู้ว่า "ถ้านั่งที่นี่ คุณต้องเริ่มการสนทนากับคนอื่น" หลักการนี้เป็นการสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการพบปะพูดคุยโดยตรง
.
3. กำหนดเวลามื้ออาหารร่วมกันอย่างจริงจัง
ลองตั้งเป้าหมายให้มีมื้ออาหารร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อนอย่างน้อยวันละมื้อ อาจเริ่มจากมื้อเย็นวันศุกร์ที่ทุกคนต้องมากินข้าวพร้อมหน้า หรือมื้อเช้าวันอาทิตย์ที่ไม่รีบร้อน การสร้างพิธีกรรมเล็กๆ นี้จะช่วยให้ทุกคนมีเวลาเชื่อมต่อกันอย่างสม่ำเสมอ
.
.
ทั้งนี้ การกินข้าวคนเดียวอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อมันกลายเป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ 1 ใน 4 นี่คือสัญญาณอันตรายที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะมื้ออาหารไม่ใช่แค่การเติมพลังงานให้ร่างกาย แต่เป็นช่วงเวลาแห่งการเชื่อมต่อที่หล่อเลี้ยงจิตใจ
.
อย่ารอให้ความเหงากลายเป็นวิกฤตสุขภาพจิต เริ่มต้นง่ายๆ จากการชวนใครสักคนมากินข้าวด้วยกันในวันนี้ เพราะบางครั้ง ความสุขที่แท้จริงอาจอยู่ใกล้แค่ระยะห่างของจานข้าวเท่านั้น
.
.
อ้างอิง
- 25% of young Americans aged 18 to 24 eat every meal alone : Gili Malinsky, CNBC Make It - http://bit.ly/44To0eE
- World Happiness Report 2025 : World Happiness Report - http://bit.ly/4mbwdC9
- The U.S. keeps dropping in global happiness rankings. Eating alone could be the culprit. : Venessa Wong, Market Watch - http://bit.ly/4lXa3nv
.
.
#ความเหงา
#คนทำงาน
#สุขภาพจิต
#คนรุ่นใหม่
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast