"คนรุ่นใหม่" เตรียมรับมือสู่สังคมสูงวัย ด้วยแนวคิด Silver Aging
พญ.บุษกร มหรรฆานุเคราะห์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) กล่าวว่า GSK ในฐานะบริษัทชีวเภสัชกรรม ร่วมรณรงค์วันประชากรโลก (The World Population Day) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2568 ภายใต้แนวคิด "Empowering young people to create the families they want in a fair and hopeful world”
สะท้อนถึงความพยายามที่จะเสริมสร้างพลังให้แก่คนรุ่นใหม่ ในการสร้างครอบครัวในโลกที่มีความยุติธรรมและมีความหวัง โดยสหประชาชาติกำหนดขึ้นในทุกปีเพื่อสร้างความตระหนัก ถึงปัญหาประชากรโลกขยายตัวอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น GSK จึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ด้วยการผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับศักยภาพของบุคลากรและเทคโนโลยี มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาวัคซีนนวัตกรรม ทั้งเพื่อตอบโจทย์โรคที่มีอยู่เดิมและโรคอุบัติใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพในระดับโลก และปกป้องผู้คนจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน
“องค์การอนามัยโลกยังได้ระบุว่า การมีสุขภาพดีในทุกช่วงวัย คือกุญแจสำคัญในการรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง การมีสุขภาพที่ดีถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างอนาคต เพราะหากส่งเสริมสุขภาพที่ดีได้ จะไม่เพียงลดภาระระบบสาธารณสุข แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลก"
พญ.บุษกร กล่าวว่า การสนับสนุนของ GSK จะเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคได้อย่างเท่าเทียม โดยสำหรับเด็ก การสร้างภูมิคุ้มกันคือการวางรากฐานชีวิตของการมีสุขภาพที่แข็งแรง ขณะที่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อเพิ่มขึ้นตามอายุ การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจึงมีความสำคัญ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) ที่มุ่งให้ประชากรมีสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิต พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกจำนวน 8,045 ล้านคน และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็นราว 8,500 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66.05 ล้านคน เป็นสักส่วนผู้สูงอายุมีจำนวน 13.19 ล้านคน หรือคิดเป็น 19.97% ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายของสังคมสูงวัย โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ
และเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข แนวคิด “Silver Aging” หรือ การสูงวัยอย่างมีคุณค่า จึงเป็นแนวทางที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุยังคงมีบทบาทต่อครอบครัวและสังคม ไม่ใช่เพียงกลุ่มพึ่งพิง แต่เป็นพลังสำคัญของประเทศ แนวคิดนี้จึงผสานระหว่าง Silver Economy ซึ่งมองผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และ Healthy/Active Aging ที่เน้นการมีสุขภาพดีและการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
ขณะเดียวกัน แนวคิดเรื่อง “การเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ” (Pre-Aging Preparation) ก็ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัย 40–50 ปี ซึ่งเป็นช่วงสำคัญในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในช่วงสูงวัยอย่างมั่นใจและมีคุณภาพชีวิตที่ดี