Cyber Eyes
Cyber Eyes
การแข่งขัน ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกันจัด ปิดจ็อบ มอบรางวัลกันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ไม่ได้เป็นเพียงการแข่งหาเยาวชนยอดฝีมือ เกรียนคีย์บอร์ดธรรมดา
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวน Cyber Warrior Hackathon สอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ประธานมอบรางวัลแก่ทีมผู้ชนะ บอกว่า นักศึกษาที่เข้าโครงการ 500กว่าคน คัดไว้ 10 ทีม ชนะเลิศและรอง รวม 3 ทีม
ทาง บช.จะร่วมกับ มจธ.เอาโครงการที่ทำมาพัฒนาต่อยอด ให้นักศึกษาเหล่านี้ร่วมปรับซอฟต์แวร์ตามที่ตำรวจโดยเฉพาะฝ่ายสืบสวนต้องการ ทีมอื่นๆที่เข้าร่วม บช.สอท.จะนำโครงการทั้งหมดมาพิจารณา รายที่เห็นว่าประโยชน์จะนำไปปรับปรุงใช้
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี (มจธ.) ขยายความว่า ทีมที่ชนะจะร่วมฝึกประสบการณ์ทำงานปราบโจรออนไลน์กับตำรวจไซเบอร์ นอกจากได้รางวัลเป็นเงิน ยังได้รับประกาศนียบัตร Non-Degree ของหลักสูตร Cyber Warrior ที่มจธ. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดขึ้น
ความโดดเด่นของโครงการคือการสร้างนวัตกรรมช่วยตำรวจทำงานโดยตรง ไม่จำกัดเครื่องมือ หรือยี่ห้อ ไม่ใช่แค่มาแข่ง Hackathon เพราะเป้าหมายสูงสุดหลังจาก ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 540 คน จะอยู่ใน community หรือระบบเครือข่ายโปรแกรมเมอร์ ที่ บช.สอท. และ มจธ. ก่อตั้ง เรียกว่ากลุ่ม "Cyber Eyes" ทำหน้าที่อาสาเตือนภัย ในโลกไซเบอร์ และต่อยอดไปสู่โครงการอื่นๆ โดย มจธ. เป็นที่ปรึกษา
เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานสายสืบไซเบอร์ว่างั้นเหอะ
ผลแข่งขันครั้งนิ้ ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม fight for นาย ช. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงาน Project Title: FakeSense เงินรางวัล 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Brute Force มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผลงาน Sidekick ผู้ช่วย AI สำหรับตำรวจไซเบอร์เพื่อวิเคราะห์หลักฐาน, เชื่อมโยงคดี, จัดทำเอกสารราชการอัตโนมัติ เงินรางวัล 50,000 บาท
รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม SoftShells จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลงาน TATHIP: ระบบช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัล เพื่อการสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแบบอัตโนมัติ เงินรางวัล 30,000 บาท
การดึงนักศึกษาหรือบุคคลภายนอกที่เก่งเทคโนโลยีมาร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ ถึงจะเคยมีบ้างก็ประปราย ไม่ปะติดปะต่อ ครั้งนี้ดูมีรูปแบบจริงจัง และมี มจธ.ยอดฝีมือทางด้านนี้สนับสนุนเป็นแบ็กอัพ ในขณะที่นับวันวายร้ายสายเทคโนที่เก่งกาจ ปรับขยับเอาของใหม่มาใช้ก่ออาชญากรรมชักมากขึ้นยากที่เจ้าหน้าที่ ซึ่งงานล้นมือจะตามไหว
คนไฟแรงเจนเดียวกันถึงจะพอรู้ทางไล่เหยียบหางกันได้
ต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกามีมุกแบบนี้นานแล้ว ลองให้เอไอ ไล่ดูพบว่าก้าวหน้าไปหลายสิบช่วงตัว เฉพาะโครงการของนักศึกษาและการฝึกงานอย่างเป็นทางการ ได้แก่ CISA (Cybersecurity and Infrastructure Security Agency) ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพิ่มความปลอดภัยของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ให้หลักคิดด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แก่นักเรียนทุกระดับ
ส่งเสริมให้นักเรียนที่สนใจ เข้าสู่หลักสูตรปริญญาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ CISA ให้ฝึกงานด้านไซเบอร์/ไอทีแบบมีค่าตอบแทน ตั้งแต่ยังเรียนม.ปลาย จนถึงขั้นปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา
NSA (National Security Agency เป็นโครงการที่มีทั้งระบบการฝึกงาน ทุนการศึกษา โปรแกรมสหกิจศึกษา สำหรับนักเรียนตั้งแต่ม.ปลาย ยันปริญญาเอก เน้นความท้าทายทางเทคนิคในโลกแห่งความเป็นจริง และมีโครงการลับที่สนับสนุนภารกิจของ NSA อีกต่างหาก
FBI (Federal Bureau of Investigation): FBI รายนี้เน้นให้นักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ โครงการ Honors Internship Program (HIP) ให้ฝึกงานแบบมีค่าตอบแทนกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ทำดีๆอาจได้รับการจ้างงานเต็มเวลา มีบางโครงการให้เข้าร่วมการวิจัยทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ห้องปฏิบัติการ FBI
และอื่นๆอีกเพียบ ซึ่งทุกรายการมีค่าตอบแทนทั้งรูปแบบการจ้างแบบฝึกงานไปจนถึงจ้างทำงานเต็มเวลา
การลงทุนของต่างประเทศ ใช่ว่าทำเพราะเงินหนาก็หาไม่ แต่วัตถุประสงค์หลักของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ คือการสร้างบุคลากรผู้นำด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรระดับชาติด้านนี้
เมืองไทยก็มีปัญหาขาดคน เครื่องมือ และงบประมาณด้านนี้เช่นกัน
การจัดแข่งขัน Cyber Hackathon ที่ตำรวจร่วมกับสถาบันการศึกษาจัดขึ้นจึงเป็นวิธีเพิ่มบุคลากรมาต่อกรกับวายร้ายที่แยบยล
ความอับจนมาเยือนแล้วละมิจ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ติดตามเราได้ที่