ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ 25% ขู่ BRICS - ดันเส้นตาย 1 ส.ค.
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศรอบใหม่ เริ่มต้นด้วยการส่งจดหมายอย่างเป็นทางการถึงผู้นำญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แจ้งอัตราภาษีใหม่ 25% เท่ากันทั้งสองประเทศ พร้อมขยายเส้นตายมาตรการทั้งหมดออกไปจากเดิมวันที่ 9 กรกฎาคมเป็น 1 สิงหาคม เพื่อให้การเจรจายังมีช่องว่างดำเนินต่อ
ทรัมป์โพสต์เนื้อหาจดหมายเหล่านี้ลงใน Truth Social ด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อนว่า “ถ้าคุณตัดสินใจขึ้นภาษีของคุณด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราก็จะบวกเพิ่มเข้าไปบน 25% ที่เราตั้งไว้อีกเท่ากับจำนวนที่คุณเพิ่มมา” พร้อมเปิดเผยว่าจะทยอยส่งจดหมายอีก 10 ฉบับถึงประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ในเร็ว ๆ นี้ โดยปัจจุบันบรรลุข้อตกลงแล้วเพียงสองประเทศคือสหราชอาณาจักรและเวียดนาม
หลังจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทรัมป์ประกาศอัตราภาษีใหม่กับอีก 5 ประเทศผ่าน Truth Social เช่นกัน ได้แก่ มาเลเซียที่ปรับขึ้นเป็น 25% (จากเดิม 24%) คาซัคสถานลดลงเหลือ 25% (จากเดิม 27%) แอฟริกาใต้คงที่ที่ 30% ลาวลดลงเหลือ 40% (จากเดิม 48%) และเมียนมาลดลงเหลือ 40% (จากเดิม 44%) โดยในจดหมายถึงเกาหลีใต้ ทรัมป์ระบุว่าอัตรา 25% นี้สอดคล้องกับที่เคยประกาศไว้ตั้งแต่ 2 เมษายน ส่วนญี่ปุ่นนั้นสูงขึ้นจากเดิม 1 จุด
นอกจากการขยับอัตราภาษีของแต่ละประเทศแล้ว ทรัมป์ยังใช้เวที BRICS ซัมมิตที่กำลังจัดขึ้นในบราซิลเป็นจังหวะขู่สมาชิก BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) ว่าหากยังดำเนินนโยบาย “ต่อต้านสหรัฐฯ” อาจถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 10% โดยระบุชัดว่ากำลังจับตากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ขณะที่รัสเซียในฐานะสมาชิก BRICS ออกมาปฏิเสธว่า BRICS เป็นความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ได้มุ่งโจมตีประเทศที่สาม และยืนยันว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นในอนาคต
โฆษกทำเนียบขาว แคโรไลน์ ลีวิตต์ เสริมว่าในวันจันทร์ ทรัมป์จะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารอย่างเป็นทางการเพื่อเลื่อนเส้นตายออกไปถึง 1 สิงหาคม พร้อมระบุว่าการเจรจากับหลายประเทศยัง “ใกล้สำเร็จ” และจะมีจดหมายเพิ่มเติมอีกหลายฉบับในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
มาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นขึ้นในรอบนี้สะท้อนกลยุทธ์การต่อรองของทรัมป์ซึ่งไม่เพียงมุ่งไปที่พันธมิตรเอเชียอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาฟริกา และเอเชียกลาง ขณะที่แรงกดดันต่อ BRICS ยิ่งเพิ่มบรรยากาศตึงเครียดต่อการค้าโลกในช่วงที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้กลับมาร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติ ทั้งนี้ ที่ประชุม BRICS เองก็ได้เตือนว่า การดำเนินนโยบายลักษณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลกในวงกว้างมากขึ้นในระยะต่อไป