ส.ก.มึน ‘ไฟสว่างกลางวัน ดับกลางคืน’ ลาดพร้าวมืดตึ๊ดตื๋อ 3 วันเพิ่งซ่อม
ส.ก.มึน ‘ไฟสว่างกลางวัน ดับกลางคืน’ ลาดพร้าวมืดตึ๊ดตื๋อ 3 วันเพิ่งซ่อม
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร ข้าราชการ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) พ.ศ. 2568 โดยมี นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง เป็นประธานสภาฯ
ในตอนหนึ้งนายณภัค เพ็งสุข ส.ก.เขตลาดพร้าว อภิปรายเรื่องขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่สาธารณะชำรุดขัดข้องโดยเร็วและมีประสิทธิภาพ
นายณภัคกล่าวว่า เดือนที่ผ่านมามีเหตุไฟดับเป็นวงกว้างบริเวณพื้นที่ลาดพร้าว ซึ่งประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบด้านการสัญจร การมองเห็น ไฟส่องสว่างทางชำรุดตามถนนหลักหลายพื้นที่มีความเสี่ยงเกิดอันตรายขึ้น
ตั้งแต่ช่วงวันที่ 5 มิ.ย. เกิดไฟดับเป็นวงกว้างในลาดพร้าว เกิดจากตัวดีเลย์ ตัวสวิตช์ จึงทำให้มีการชอร์ตต่อกันเป็นทอด ๆ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 30 กว่าชุมชนรวมถึงถนนเส้นหลัก ทั้งนี้ได้แจ้งกับทางไฟฟ้านวลจันทร์ ผ่านมา 1 วันยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงประสานงานไปอีกครั้งต่อสำนักการโยธาในวันรุ่งขึ้น กระทั่งวันที่ 8 มิ.ย. ไฟยังคงดับอยู่ เช่นเดียวกับ 3 วันที่ผ่านมา ทางสำนักข่าวต่างๆ ได้นำเสนอข่าวเหตุการณ์ไฟดับในช่วงเช้า เมื่อมีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับรอง ผอ. สำนักโยธา จึงได้รับการดำเนินการแก้ไข ลงพื้นที่ติดตามซ่อมแซมไฟส่องสว่าง
ปรากฏว่า โฟโต้สวิตช์เสียเป็นทอด ๆ ไปจนถึงตัวควบคุมไฟตามจุดต่าง ๆ จึงเกิดความเสียหายหลายจุด กระทบไปถึงไฟ LED ตามซอกซอยช็อตต่อเนื่อง จนไฟส่องสว่างบนพื้นที่ลาดพร้าวได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง เมื่อร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ต้องใช้ระยะเวลาการซ่อมแซมแก้ไขหลายวัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุประการใดจึงใช้เวลาร่วมหลายวันกว่าจะแก้ไขปัญหาเสร็จ เมื่อผ่านมาครบ 1 เดือน เกิดปัญหาไฟดับเช่นเดิมอีกครั้ง ในวันที่ 5 ก.ค. ใช้ระยะเวลาซ่อมแซมไฟให้กลับมาสว่างไสวดังเดิม 3 วัน
พร้อมกันนี้ นายณภัคฝากทาง กทม. พิจารณา 3 หัวข้อหลัก
1. เกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เหตุใดการซ่อมแซมจึงล่าช้า ใช้เวลาเป็นอาทิตย์กว่าจะได้รับการซ่อมแซม
2. ประชาชนทั่วไปยังมีความสับสนว่าไฟส่องสว่างส่วนใดที่ดูแลโดยการไฟฟ้า และส่วนใดที่ดูแลโดยสำนักการโยธา ประชาชนต้องแจ้งไปหน่วยงานไหนจึงได้รับการซ่อมแซม
3. การประสานงานล่าช้า ทำให้การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเกิดความล่าช้าเกือบ 4–5 วัน มีการสื่อสารภายในหน่วยงานอย่างไรให้รวดเร็วขึ้นจากเดิม
“หากมีปัญหาเช่นเดิมเกิดขึ้นอีก การดำเนินการลักษณะนี้มีความล่าช้าเกินไปกับความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” นายณภัคกล่าว
ข้อเสนอต่อฝ่ายบริหาร กทม.
1. ทาง กทม. ควรมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว โดยเร่งแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 4–5 ชั่วโมง พร้อมีอุปกรณ์สำรองเพื่อซ่อมแซมและบำรุงรักษาเพียงพอ
2. กทม. ควรบูรณาการร่วมกับการไฟฟ้าหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนชัดเจนเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ไม่ควรแยกหน้าที่จนทำให้การแก้ไขล่าช้า
3. ฝ่ายบริหารควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เมื่อมีเหตุการณ์เกี่ยวกับการไฟฟ้าเกิดขึ้น ควรระบุหน่วยงานที่ต้องติดต่อโดยตรง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
ด้าน นางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง กล่าวเสริมว่า ทางการไฟฟ้านครหลวงมีหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าเพียงเท่านั้น ไม่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ โดยยกตัวอย่างโคมไฟ LED ซึ่งทางสำนักการโยธามีการรับประกันทั้งหมด 5 ปีเพื่อดูแล แก้ไขซ่อมแซม ณ ปัจจุบัน เมื่อไฟดับประชาชนไม่ทราบว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด
“ประชาชนบางส่วนเมื่อเกิดไฟดับ มีความเข้าใจว่าต้องแจ้งการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวไม่สามารถเข้าแก้ไขดำเนินการเปลี่ยนได้ จึงเกิดความล่าช้า อีกส่วนคือ ไฟแสงจันทร์ตามท้องถนน เป็นส่วนที่การไฟฟ้านครหลวงดูแลติดตั้ง ดิฉันเข้าใจว่าการไฟฟ้านครหลวงไม่ได้อยู่ภายในสังกัดของกทม. แต่เมื่อเทียบสัดส่วนการแก้ไขไฟฟ้าชำรุด การไฟฟ้านครหลวงมีความล่าช้าและมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสำนักการโยธาซึ่งดำเนินการติดตั้งไป” นางสาวปิยะวรรณเผย
นางสาวปิยะวรรณ ยังระบุว่า ได้แจ้งปัญหาพื้นที่ไฟส่องสว่าง บริเวณเขตสวนหลวง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการไฟฟ้าค่อนข้างมาก พร้อมทั้งเข้าร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานการไฟฟ้าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ล่วงเวลากว่า 8 เดือนจนถึงปัจจุบัน หลาย ๆ จุดซึ่งนำเรียนไว้ที่ประชุมยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการแจ้งจุดที่ไม่มีไฟส่องสว่าง
“ดิฉันฟังดูแล้วค่อนข้างสิ้นหวัง เนื่องจากใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานเพื่อดำเนินการแก้ไข อีกทั้งยังมีปัญหาไฟส่องสว่างตามป้ายรถเมล์ ซึ่งพูดถึงในสภามาเกือบ 2 ปีแล้ว จึงอยากให้ทางฝ่ายบริหาร กทม. เร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อความปลอดภัยของประชาชน” นางสาวปิยะวรรณกล่าว
ขณะที่ นายอานุภาพ ธารทอง ส.ก. เขตสาทร เผยว่า ไฟส่องสว่างในกทม.ซึ่งปัจจุบัน เปลี่ยนเป็น LED เป็นเรื่องดี แต่ยังพบปัญหาอีกมาก ทางผู้บริหารสำนักการโยธาต้องการเปลี่ยนเป็นระบบ ‘IOT’ ทราบว่าระบบดังกล่าว สามารถตรวจสอบไฟที่เปลี่ยนใหม่ได้ทั้งหมด รวมถึงปรับความส่องสว่างได้แต่ทางปฏิบัติ ไฟที่เปลี่ยนแล้วติดตอนกลางวัน ดับตอนกลางคืน ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้หลายจุด จึงไม่แน่ใจว่าระบบ IOT ดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
นายอานุภาพเผยอีกว่า ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนไฟแต่ละเฟสคือ ‘ผู้รับเหมาคนละเจ้า’ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างราบรื่น จึงอยากสอบถามทาง กทม. ถึงความชัดเจนของข้อมูลการดูแลรักษาไฟแต่ละจุด เนื่องจากเมื่อมีผู้รับเหมา 4 ราย สำหรับ 4 เฟส ทำให้เกิดความสับสนมาก และหากในอนาคตมีเฟสเพิ่มเติม อาจต้องตามหากันถึง 6–7 รอบ ยังไม่รวมไฟที่อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าและสำนักการโยธา
จากนั้น นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก และนางสาวนภัสสร พละระวีพงศ์ ส.ก.เขตบางกะปิ ได้ตั้งข้อเสนอต่อทาง กทม. เกี่ยวกับความทนทานของหลอดไฟในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมักเสียบ่อยและชำรุดง่าย ควรปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนไม่ควรเกิดความสับสนในการแจ้งเหตุไฟฟ้าดับหรือความเสียหาย และการดำเนินการแก้ปัญหาควรเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ต้องรอนานถึง 5 วันหรือมากกว่า
ขณะที่ นายนริสสร แสงแก้ว ส.ก.เขตบางเขน และนายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาม ได้กล่าวเสริมว่า ปัญหาไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุจากการโจรกรรม โดยมีผู้ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบไฟฟ้าเพื่อขโมยอุปกรณ์ อีกทั้งงบประมาณสำหรับซ่อมหลอดไฟ บางดวงก็ถูกซ่อมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง จึงเสนอให้ทาง กทม. ใช้งบซ่อมแซมหลอดไฟให้เกิดความคุ้มค่า
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ทาง กทม. มีแนวทางสต็อกอุปกรณ์ไฟฟ้ากรณีขาดอุปกรณ์และทำงานร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ให้ช่วยดำเนินการแก้ไขไฟฟ้าแต่ละเขต หากมีอุปกรณ์พร้อม สามารถดำเนินการได้ภายใน 3 วัน กรณีประสานงานกับหน่วยงานภายนอก อาจต้องใช้เวลา แต่มีทีมเฉพาะกิจเพื่อเร่งรัดมาตรการเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่าง
“กทม. ยังได้จัดทำแพลตฟอร์มสำหรับประชาชนเพื่ออัปเดตสถานการณ์ไฟฟ้าในแต่ละวัน หากพบว่าข้อมูลไม่ตรงกับสถานการณ์จริง สามารถแจ้งปัญหาผ่านระบบ Traffy Fondue ได้โดยตรง โดยระบบสามารถแจ้งได้ว่าใครคือผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ามีหลายครั้งทำไม่ได้ตามผลงาน รับสภาพว่ามีปัญหาจริง ซึ่งอยู่ในกระบวนการกำกับดูแลให้เป็นไปตามสัญญาอยู่ ทางกทม.จะดำเนินการยึดค้ำประกัน และเรียกร้องข้อเสียหายต่อไป” นายวิศณุกล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ส.ก.มึน ‘ไฟสว่างกลางวัน ดับกลางคืน’ ลาดพร้าวมืดตึ๊ดตื๋อ 3 วันเพิ่งซ่อม
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th