Superman: ฮีโร่ที่โลกปี 2025 ยังต้องการ
ดูเหมือนว่ายุคสมัยใหม่ของซูเปอร์แมนกำลังจะมาถึงแล้ว
หากสังเกตที่กล่องของเล่นไทอินสำหรับภาพยนตร์ Superman (2025) ที่ออกฉายวันนี้ เราจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงสโลแกนของยอดมนุษย์อเมริกันคนนี้
“As an embodiment of truth, justice and the human way he soon finds himself in the world that views these as old-fashioned.”
(ในฐานะตัวแทนแห่งความจริง ความยุติธรรม และวิถีมนุษย์ ซูเปอร์แมนพบว่าตัวเองอยู่ในโลกที่มองว่าค่านิยมเหล่านั้นกำลังตกสมัย)
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สโลแกนของบุรุษเหล็กผู้นี้คือ ‘Truth, Justice and the American Way’ นำพาให้ยอดมนุษย์คนนี้เป็นสัญลักษณ์และแม่แบบของชาติสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่ตกต่ำดำมืด และเป็นการพูดอย่างกลายๆ ว่า ซูเปอร์แมน ยอดมนุษย์ผู้สามารถแก้ได้ทุกปัญหาในโลกและค่านิยมอันดีงามที่เขายึดถือ - ความจริงและความยุติธรรม คือสิ่งที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ
การปรับสโลแกนครั้งนี้ให้รวมคนทั้งโลกเข้าหากันเป็นเหมือนสัญญาณที่บอกว่าซูเปอร์แมนและค่านิยมของเขาไม่ได้เป็นของใคร ไม่ได้เป็นของรัฐใดหรือของชาติใดชาติหนึ่ง แต่ว่าเขาคือยอดมนุษย์ของทุกคนบนโลกใบนี้ ความจริงและความยุติธรรมคือสิ่งที่เราทั้งโลกต่างต้องร่วมกันสร้าง
ตลอดเวลาเกือบ 90 ปีที่เขาถือกำเนิดขึ้น Superman ถูกใช้เป็นพาหนะให้แก่เรื่องเล่าและสารที่หลากหลายจากปลายปากกาของนักเขียนนับไม่ถ้วน เราได้เห็น ‘ยุค’ ต่างๆ ของ Superman บางยุคเขาก็เฉิดฉายอย่างดวงตะวัน บางยุคโดดเดี่ยวและดำดิ่ง ส่วนหากมองทิศทางของเขาในหนังฉบับนี้ Superman น่าจะเป็นฮีโร่ที่โลกอันแตกแยกแห่งปี 2025 ต้องการ
The American Golem
กาลครั้งหนึ่งห่างไกลจากดาวโลก ดาวเคราะห์คริปทอนแตกสลาย บ้างก็ว่าจากซูเปอร์โนว่าธรรมชาติ บ้างก็ว่าเพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่สงคราม หรือการขุดเจาะเอาแร่ธรรมชาติเกินขนาด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร นักวิทยาศาสตร์ จอร์ เอล และ ลาร่า ซอร์ เอล นำลูกชายของเขาเข้ากระสวยอวกาศแล้วยิงเขาออกจากดาวเคราะห์ที่กำลังแตกดับ เด็กคนนั้นชื่อว่า คาล เอล เด็กชายผู้ที่จะลงจอดที่ไร่แห่งหนึ่งในรัฐแคนซัส ถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวเคนต์ในนาม คลาร์ก เคนต์ และจะกลายเป็นยอดมนุษย์ซูเปอร์แมนในที่สุด
เรื่องราวการกำเนิดของซูเปอร์แมนสะท้อนภาพประสบการณ์นักเขียนผู้คิดเรื่องนี้ขึ้นมา นั่นคือ เจอร์รี่ ซีเกิล และโจ ชูสเตอร์ นักเขียนลูกผู้อพยพชาวยิวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา แม้จะไม่ได้ถูกคอนเฟิร์มจากปากผู้เขียนเอง นักประวัติศาสตร์เชื่อมโยงคอนเซ็ปต์ของซูเปอร์แมนเข้ากับตำนานพื้นบ้านชาวยิว ‘โกเลม’ ในตำนานดังกล่าวโกเลมคือยักษ์โคลนอมตะที่ถูกปั้นขึ้นมาโดยรับบีชื่อว่าโล โดยหน้าที่ของมันคือปกป้องชุมชนคนยิวเมื่อพวกเขาต้องเข้าไปอยู่ต่างแดน
ประสบการณ์การเป็นคนชายขอบของพวกเขาโผล่มาให้เราเห็นได้ตั้งแต่ในครั้งแรกที่เราเห็นยอดมนุษย์ในชุดน้ำเงินแดงคนนี้
“ซูเปอร์แมน! ผู้ปกป้องเหล่าผู้ถูกกดทับ ชายร่างกำยำเหนือจินตนาการผู้ปฏิญาณจะช่วยทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ” คำอธิบายซูเปอร์แมนในการ์ตูน Action Comic #1
จุดเด่นที่ทำให้ซูเปอร์แมนเป็นตัวละครที่ใครๆ ก็สนใจและสามารถยึดโยงได้คือสิ่งที่เขานำเสนอและการเมืองเบื้องหลังเขา นั่นคือเขาต่อสู้เพื่อผู้คนที่ถูกกดทับ คนชายขอบ คนตัวเล็กตัวน้อยผู้ไม่มีเสียง แต่ด้วยความแข็งแกร่ง คงกระพัน และความไม่ต้องขึ้นตรงต่อสถาบันทางการเมืองใดของโลก เขาไม่เคยต้องรอระบบราชการเพื่อทำงาน
การเป็นคนคนหนึ่งที่กุมอำนาจมหาศาลไว้คนเดียวของเขาจัดให้ซูเปอร์แมนอยู่ในหมวด ‘Strongman’ ที่คนอนุรักษ์นิยมชื่นชอบ แต่เขาเลือกใช้อำนาจของเขาเพื่อปกป้องคนชายขอบ แสดงให้เราเห็นว่าเขายึดความเชื่อมั่นในคุณค่าเสรีนิยม (Liberal) และในขณะเดียวกัน วิธีการที่เขาต่อสู้ นั่นคือไม่ผ่านระบบและไม่ต้องถูกตรวจสอบ นำเสนอแง่มุมอิสรนิยม (Libertarianism) ของซูเปอร์แมน
นั่นแปลว่าไม่ว่าความเชื่อทางการเมืองของเราจะเป็นยังไง ซูเปอร์แมนตอบโจทย์เราได้หมด เขานำเสนอส่วนที่ดีที่สุดของทุกแนวคิดการเมือง ความเห็นอกเห็นใจของเสรีนิยม ความมั่นคงแข็งแกร่งของอนุรักษนิยม และความฉับไวไม่ต้องขึ้นกับระบบของอิสรนิยม
มองอย่างนี้ทำให้เราเข้าใจทันทีว่าทำไมเมื่อปี 1938 ที่ Action Comic #1 ถูกตีพิมพ์พร้อมซูเปอร์แมนอยู่บนหน้าปก การ์ตูนแนวยอดมนุษย์เลยถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการและได้รับความนิยมโดยทันที ซูเปอร์แมนเป็นเหมือนคำตอบของคำถามว่า ‘ถ้าคนคนหนึ่งมีพลังอำนาจในมือ คนคนนั้นควรใช้มันยังไงถึงจะดีที่สุด?’
ผู้ปกป้อง ความหวัง หรือเครื่องมือของรัฐ? รู้จักกับยุคต่างๆ ของซูเปอร์แมน
อย่างที่เราว่าไป ซูเปอร์แมนผ่านมือนักเขียนและศิลปินมามากมายเกินกว่าจะนับได้ ผนวกกับอายุเกือบเก้าทศวรรษของเขา ซูเปอร์แมนเป็นตัวละครที่เดินทางผ่านยุคต่างๆ ของอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูน และเขาเองก็มี ‘ยุค’ (Eras) ของตัวเอง
Golden Age (1938 - 1956)
เราคุยกันไปแล้วว่านี่คือยุคที่เกิดขึ้นเพราะการมีอยู่ของซูเปอร์แมนเอง ยุคทองของการ์ตูนยอดมนุษย์คือช่วงเวลาที่ฮีโร่ที่ไอคอนิกที่สุดของโลกถือกำเนิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นแบทแมน วันเดอร์วูแมน เดอะแฟลช กรีนแลนเทิร์น กัปตันอเมริกา ฯลฯ
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ซูเปอร์แมนอยู่ในระยะ ‘กำลังเติบโต’ ในตอนแรกสุดนักประวัติศาสตร์หนังสือการ์ตูนเรียกเขาว่าเป็น ‘พวกสังคมนิยมใช้ความรุนแรง’ (Violent Socialist) ที่ต่อต้านอำนาจรัฐและคนรวย สะท้อนภาพนักเขียนการ์ตูน ณ ขณะนั้นซึ่งมักเป็นคนหนุ่มที่หางานในสายงานที่มั่นคงกว่านี้ไม่ได้
แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึง ช่วงเวลาที่ลัทธิชาตินิยมแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ผู้คนต่างต้องการเห็นชาติของตัวเองอยู่ในฮีโร่ของพวกเขาทั้งนั้น ยอดมนุษย์ผู้สวมชุดน้ำเงินแดงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ค่านิยมสหรัฐฯ
เราอาจเรียกได้ว่าการตีความซูเปอร์แมนที่แตกต่างในอนาคต ทั้งเสรีนิยม อิสรนิยม หรืออนุรักษนิยม สามารถถูกสาวกลับมาได้ถึงยุคทองนี้
Silver Age (1956 – 1970)
ยุคทองของหนังสือการ์ตูนจบลงตอนที่สหรัฐฯ ตั้งคณะอนุกรรมาธิการด้านการกระทำผิดของเยาวชนของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาขึ้นเมื่อปี 1953 เพื่อตรวจสอบผลกระทบของหนังสือการ์ตูนต่อเยาวชนอเมริกา เพราะหนังสือการ์ตูนนำเสนอแต่ ‘อาชญากรรมและความหฤโหด’ ซึ่งอาจทำให้วัยรุ่นเลียนแบบได้
ทางออกของอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนคือการเซนเซอร์ตัวเอง สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการ Comic Code Authority (CCA) ที่ทำหน้าที่เป็นไกด์ไลน์ว่าหนังสือการ์ตูนต้องมีคุณลักษณะแบบไหนที่จะสามารถถูกตีพิมพ์ได้ ตัวอย่างเช่น:
- หากการ์ตูนนำเสนออาชญากรรม การนำเสนอนั้นต้องไม่ให้ความเห็นอกเห็นใจแก่อาชญากร ให้เกิดความไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่ตำรวจและตุลาการ หรือทำให้ผู้อ่านอยากก่ออาชญากรรมนั้นๆ ตาม
- ต้องไม่มีความรุนแรงเกินขอบเขต (การทรมาน การใช้ปืนและมีด บาดแผล ฯลฯ)
- ต้องไม่นำเสนอโจรในฐานะบุคคลน่าเอาเยี่ยงอย่าง
- ต้องไม่เหยียดหยามตำรวจ ศาล เจ้าหน้าที่รัฐ และสถาบันหลักที่เป็นที่เคารพ
- ห้ามใช้คำว่า ‘สยอง’ (Horror) หรือ ‘สะพรึง’ (Terror) ในชื่อเรื่อง
- ฯลฯ
กฎเหล่านี้ทำให้ยอดมนุษย์ ‘ซอฟต์ลง’ เช่น แบทแมนเลิกใช้ปืนและมีกฎห้ามฆ่าคน (No Kill Rule) นอกจากนั้น ยอดมนุษย์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ต่างมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามกฎของคณะกรรมการ เช่น Spider-Man ฮีโร่ผู้ไม่ฆ่าคน ไม่ใช้อาวุธ และทำงานโดยตรงกับตำรวจมหานครนิวยอร์ก
ส่วนซูเปอร์แมนในฐานะตัวแทนของอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนทั้งปวง เขาละทิ้งภาพขบถต่อต้านอำนาจที่เคยอยู่กับตัวละครเขาในตอนที่เขาถือกำเนิดขึ้น ซูเปอร์แมนในยุคนี้คือยุคที่เราจดจำเขาได้มากที่สุด แข็งแรง เป็นมิตร สดใส ไม่ดื้อ ไม่ต่อต้านรัฐและอำนาจ
มันเป็นยุคที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ยุคที่รัฐและสถาบันเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ‘ความดีงาม’ แต่ในขณะเดียวกัน เพราะข้อจำกัดเหล่านี้มันก็ก่อร่างสร้างแง่มุมที่น่าสนใจให้ตัวละครเก่าและใหม่
Bronze Age (1970 - 1985)
นักเขียนการ์ตูนจากยุคก่อนหน้าเริ่มเกษียณอายุ นักเขียนหน้าใหม่เข้ามาในวงการ นำไปสู่น้ำเสียงและประเด็นใหม่ๆ นี่คือปีหลังขบวนการเรียกร้องสิทธิของพลเมืองของคนอเมริกันผิวดำ หลัง Sexual Revolution และเป็นช่วงปีของสงครามเวียดนาม มูฟเมนต์ฝ่ายเสรีนิยมเป็นที่นิยมมากๆ ในสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ฮีโร่แบบใหม่ๆ
คนที่ถูกกดทับไม่ใช่คนที่ต้องถูกปกป้องอีกต่อไป แต่พวกเขาคือฮีโร่ ตัวอย่างเช่นX-Men, Blade, Luke Cage ฯลฯ นอกจากนั้น กฎของ CCA ก็ผ่อนปรนลงไปตามกาลเวลา เราเห็นการ์ตูนเช่น The Night Gwen Stacy Died ซึ่งเขย่าวงการการ์ตูน เพราะไม่มีใครคิดว่าจะมีนักเขียนที่กล้าฆ่าคนรักของ Spider-Man ได้ลง
ซูเปอร์แมนยังคงความหวัง ความสดใส และความเป็นเด็กดีของยุค Silver Age เอาไว้จนได้ฉายาอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘Boy Scout’ ตัวละครของเขายังคงเป็นเวอร์ชั่นเดิมอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนหน้า แต่ในขณะนี้สำนักพิมพ์ DC Comics กำลังประสบปัญหาว่าจักรวาลการ์ตูนของพวกเขาใหญ่เกินไปและมีตัวละครหลายเวอร์ชั่นมากเกินไป จนมีความจำเป็นต้องกดปุ่มรีสตาร์ตด้วยอีเวนต์ชื่อCrisis On Infinite Earths ที่จะล้างกระดานทั้งหมด ให้ทุกตัวละครเหลือแค่เวอร์ชั่นเดียว นั่นรวมถึงซูเปอร์แมนที่จะเริ่มใหม่ในซีรีส์ The Man Of Steel
ในโอกาสนี้ เราจึงได้เห็นการ์ตูน ‘Whatever Happened to The Man of Tomorrow’ โดย อลัน มัวร์ หนังสือที่เป็นเหมือนจดหมายรักแก่ยุค Silver Age และเป็นบทสุดท้ายก่อนซูเปอร์แมนจะเดินหน้าสู่เวอร์ชั่นใหม่ มันเป็นการ์ตูนที่จินตนาการว่าจุดจบของซูเปอร์แมนจะหน้าตาเป็นยังไง และนักอ่านจำนวนมากเชื่อว่าคือหนึ่งในเรื่องที่นำเสนอความเป็นซูเปอร์แมนได้ยอดเยี่ยมที่สุด ตีคู่ไปกับ All-Star Superman โดย แกรนต์ มอร์ริสัน
มัวร์เขียนการ์ตูนเล่มนี้ด้วยแนวคิดว่าแก่นใจกลางของซูเปอร์แมนแห่งยุคเงินนั้นแข็งแรงอยู่แล้วและไม่จำเป็นต้องถูกเปลี่ยนใหม่ เขาใช้ตอนสุดท้ายของซูเปอร์แมนวิพากษ์ความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนที่เชื่อว่าเราจะต้องวิ่งไล่ตามเทรนด์สังคมในทุกๆ แง่มุม
ซูเปอร์แมนผู้เป็นดวงไฟแห่งยุคเงินยืนโดดเดี่ยวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรอบกายจนนาทีสุดท้าย
Modern Age (1985 - ปัจจุบัน)
หากให้อธิบายการ์ตูนสมัยใหม่ด้วยคำคำเดียว คำนั้นคือ Deconstruction หรือการรื้อสร้าง นั่นคือการ์ตูนจะไม่ได้เล่าเรื่องตรงๆ อีกต่อไป แต่มันต้องตั้งคำถาม ต้องวิพากษ์ ต้องบิดคอนเซ็ปต์ ฯลฯ โดยการ์ตูนที่เป็นตัวแทนของยุคนี้คือ The Watchmen โดย อลัน มัวร์ (อีกแล้ว) การ์ตูนที่พาเราติดตามชีวิตของเหล่าอดีตฮีโร่ในวันที่การเป็นยอดมนุษย์ผิดกฎหมาย พร้อมมองจริยธรรมสีเทาของการเป็นศาลเตี้ย
หนังสืออีกเล่มที่เป็นการ์ตูนแห่งยุคใหม่นี้คือ The Dark Knight Returns โดย แฟรงก์ มิลเลอร์ การ์ตูนที่ทำให้แบทแมนกลับมามืดหม่นอีกครั้งหลังจากกลายเป็นตัวละครสำหรับเด็กเพราะข้อจำกัดของยุค Silver Age โดย The Dark Knight Returns เล่าเรื่องของแบทแมนผู้เกษียณอายุแล้ว แต่เขาต้องกลับมาสวมชุดค้างคาวอีกครั้งเพื่อต่อกรกับอาชญากรรมทั้งแบบใหม่และเก่า ทำให้เขาตกเป็นเป้าของอดีตคู่อริ รัฐบาลโรนัลด์ เรแกน (ผู้เป็นปธน. สหรัฐมาสิบปี) และเพื่อนสนิทของเขา ซูเปอร์แมน
ความนิยมของ The Dark Knight Returns นั้นยอดเยี่ยมสำหรับแบทแมน เนื่องจากมนุษย์ค้างคาวเหมาะกับเรื่องเล่าที่มืดหม่นจริงจัง แต่หลายๆ คนเรียกซูเปอร์แมนเวอร์ชั่นนี้ว่าเป็นตัวการที่ทำลายภาพลักษณ์ของบุรุษเหล็กมาจนทุกวันนี้ เพราะแทนที่จะเป็นภาพแทนของความหวัง เขาถูกเขียนให้เป็นตัวร้าย และเป็นเครื่องมือของลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกันที่สู้รบในสงครามนิวเคลียร์กับสหภาพโซเวียต
แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องราวในเส้นเรื่องหลัก ความนิยมของหนังสือเล่มนี้ทำให้การเขียนการ์ตูนประเภท ‘รื้อสร้างซูเปอร์แมน’ นิยมตามไปด้วย ซูเปอร์แมนในฐานะภาพแทนฮีโร่ทั้งมวลถูกตั้งคำถาม บ้างก็ว่าเขาเป็นภาพฝันที่เชยเฉิ่ม บ้างก็ว่าเขาเป็นฟันเฟืองของเครื่องมือจักรวรรดินิยม บ้างตั้งคำถามแนวคิดความชอบธรรมของยอดมนุษย์และการที่คนคนหนึ่งจะสามารถถือพลังอำนาจมหาศาลไว้คนเดียว หรือบ้างก็เทียบเขาเป็นพระเยซูหรือพระเจ้า
มันเป็นช่วงเวลาที่เกิดตัวละครเช่น โฮมแลนเดอร์จาก The Boys, ออมนิแมนจาก Invincible หรือแม้แต่ซูเปอร์แมนในเวอร์ชั่นจักรวาล Injustice ที่เราเรียกว่า‘What if Superman was evil’ (จะเป็นยังไงถ้าซูเปอร์แมนชั่วร้าย) ที่บ้างก็ทำออกมาได้ดี แต่ส่วนมากหน้าคะมำเนื่องจากนักเขียนจำนวนมากลดทอนว่าความนิยมของ The Dark Knight Returns และ The Watchmen มาจากแค่ ‘ยิ่งดาร์กยิ่งดี’ เท่านั้น
Look Up
“ผมว่าซูเปอร์แมนเป็นเรื่องราวของอเมริกานะ เขาเป็นผู้อพยพที่มาจากอีกดินแดน สำหรับผมเรื่องราวของซูเปอร์แมนคือเรื่องของความเมตตาของมนุษย์ และนั่นคือสิ่งที่เรากำลังสูญเสียไป” เจมส์ กันน์ ผู้กำกับ Superman (2025) และผู้ดูแลจักรวาลภาพยนตร์ DCU กล่าวกับ Sunday Times
คำพูดดังกล่าวทำให้เราเห็นทิศทางที่ซูเปอร์แมนเวอร์ชั่นปัจจุบันและจักรวาล DC กำลังมุ่งหน้าไป เรากำลังจะหลุดพ้นจากการเทียบซูเปอร์แมนเป็นพระเจ้าผู้โดดเดี่ยวไร้ความรู้สึก แล้วได้เห็นซูเปอร์แมนในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งอีกครั้ง มนุษยที่เติบโตในเมืองเล็กๆ เป็นคนเฉิ่มๆ พูดมุกเสี่ยวตลอดเวลา และที่สำคัญคือพยายามกู้โลก หยุดสงคราม โดยคำนึงถึงทุกชีวิต ไม่เว้นแม้แต่สัตว์และวายร้าย
คำว่า Look Up ที่ใช้เป็นคำโปรโมตของหนังไม่ได้บอกว่าซูเปอร์แมนอยู่เหนือเรา แต่มันหมายความถึงการที่เขาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่มนุษย์ ให้รักและใจดีต่อกัน เห็นค่าในชีวิตของกันและกันเหนือเงินทอง เหนือผลประโยชน์ และเหนืออีโก้ของตัวเอง เขาไม่ได้เรียนรู้คุณค่าเหล่านั้นจากดาวบ้านเกิด แต่เรียนรู้มันที่บ้านไร่ในแคนซัส เช่นนั้นไม่ว่าใครต่างมีมุมมองเช่นเขาได้ทั้งนั้น
ดูเหมือนว่าเวอร์ชั่นนี้ของซูเปอร์แมนกำลังสะท้อนภาพของเขาในยุค Bronze Age บุรุษเหล็กผู้คงทน ไม่ใช่เพียงจากการโดนทำร้ายที่ภายนอกร่างกาย แต่คงทนต่อกระแสห้วงเวลา ในวันที่โลกมืดหม่น ไม่จริงใจ ไร้ความยุติธรรม และเต็มไปด้วยเรื่องราวประชดประชัน เรามีหนุ่มเฉิ่มคนนี้เป็นเหมือนดวงอาทิตย์ส่องสว่างอยู่
ในโลกปัจจุบันที่มีสงครามก่อตัวขึ้นทุกหัวระแหง มีความพยายามที่จะเนรเทศขับไล่ผู้อพยพในหลายประเทศทั่วโลก ไหนจะมนุษย์ที่ขาดความเห็นอกเห็นใจทั้งที่เทคโนโลยีทำให้เราเชื่อมโยงกันมากกว่ายุคไหนๆ ฮีโร่ผู้นำเสนอความหวังและความเป็นปึกแผ่นระหว่างมนุษย์อาจเป็นแม่แบบที่เราต้องการ
อ้างอิง: bbc.com, ebsco.com, smithsonianassociates.org
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สู่ยุคสมัยของหนังแฟรนไชส์และการขยายภาคต่อ แต่หนังบางเรื่อง ‘จำเป็น’ ต้องมีภาคขยายจริงไหม?
- หนังนั่นก็ไม่ดี เกมนี้ก็ ‘Woke’ หรืออินเทอร์เน็ตกำลังมองศิลปะเปลี่ยนไปเพราะ ‘Culture War’
- The Wizard of Oz นำทีม 3 หนังคลาสสิก เข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรา ตลอดพฤษภาคมนี้
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath