เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้ หากไม่หลงทาง ต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ไม่สดใสนัก แม้ตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐศาสตร์จะยังอยู่ในแดนบวก โดยนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า GDP ปีนี้อาจเติบโตได้ร้อยละ 1.5-2.0 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินสูงกว่านั้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.3 แต่ความรู้สึกของประชาชนกลับสวนทางกับตัวเลขเหล่านี้อย่างชัดเจน
ร้านค้า SME และผู้ประกอบการจำนวนมากสะท้อนว่ายอดขายตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลจาก Lineman และ Wongnai ที่รายงานว่า ยอดขายของร้านค้าเดิม (Same Store Sales) ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 14 จาก 180,000 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 154,000 บาท แม้จะมีบางกลุ่มสินค้า เช่น กาแฟ และอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ยังเติบโตได้ แต่โดยรวมแล้วภาพสะท้อนคือกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัว
สถานการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงการแข่งขันทางธุรกิจที่ทวีความรุนแรง แม้ความต้องการสินค้าและบริการจะเติบโตตามขนาดเศรษฐกิจ แต่เมื่อจำนวนผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการ รายได้ต่อร้านจึงมีแนวโน้มลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงกระจุกอยู่ในบางกลุ่มผู้ประกอบการที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มของผู้บริโภคได้เท่านั้น
แม้การแข่งขันจะเป็นสัญญาณที่ดีในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ เพราะผู้บริโภคได้ประโยชน์จากราคาที่ต่ำลงและคุณภาพที่สูงขึ้น แต่หากช่องทางสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีจำกัด การแข่งขันที่ล้นตลาดจะกลายเป็นกับดักที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดยาก ไม่สามารถสร้างกำไรเพียงพอ ท่ามกลางผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งอยู่เสมอ
สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน ภาครัฐจำเป็นต้องเร่ง “เปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจ” ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อกระจายการแข่งขัน ลดความแออัดในภาคธุรกิจเดิม และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการลงทุนและการจ้างงาน
หากย้อนมองในอดีต จุดแข็งของประเทศไทยอยู่ที่การส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างโดดเด่น แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลไกเศรษฐกิจหลายภาคส่วนกลับถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทำให้การแข่งขันที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ยาก และจำกัดโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยในการเติบโต
วันนี้ จุดแข็งเหล่านั้นเริ่มเสื่อมถอยลง ภาคส่งออกกำลังเผชิญกับกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ค่าแรงที่สูงขึ้นขัดขวางการดึงดูดการลงทุนใหม่ ขณะที่ความล่าช้าในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวไทยก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งในด้านราคาและคุณภาพการบริการ
สถานการณ์ในปัจจุบันจึงเป็นสัญญาณชัดเจนว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งเดินหน้า “การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อรักษาศักยภาพดั้งเดิมที่ยังมีอยู่ และวางรากฐานใหม่สำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ภาครัฐควรเร่งปลดล็อกข้อจำกัดด้านการแข่งขันในบางอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเร่งคลี่คลายอุปสรรคทางการค้ากับประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ควบคู่กับการขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เพื่อฟื้นความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออก และยกระดับภาคท่องเที่ยวไทยให้เป็น “จุดหมายปลายทางคุณภาพ” ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในมิติของ “ความคุ้มค่า” ทั้งด้านราคาและประสบการณ์ (Value for Money)
ที่สำคัญ ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนา “เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่” ที่สามารถสร้างโอกาสและการจ้างงานให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยควรให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) และเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แทนที่จะพึ่งพากิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อศีลธรรมและขาดความยั่งยืน ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ธุรกิจบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) หรือธุรกิจกัญชา
เพราะหากเรามุ่งเน้นเพียงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจจะก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่กลับละเลยเป้าหมายเชิงโครงสร้างและคุณภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะยาว โอกาสในการฟื้นตัวอย่างมั่นคงและทั่วถึงของประเทศไทยอาจจะไม่มีวันมาถึง