ลุ้น “วิทัย รัตนกร” ผู้ว่าธปท.คนใหม่ กู้เศรษฐกิจ ลดหนี้ครัวเรือน
รอเก้อไปอีกหนึ่งสัปดาห์กับประเด็นการแต่งตั้ง ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติคนใหม่ แทน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติที่กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน 2568 หลังจากได้รับการยืนยันว่า คัดเหลือชื่อ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเป็นคนสุดท้าย
ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่า ได้เสนอรายชื่อมายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ (15 ก.ค. 68) แล้ว แต่บรรจุเข้าวาระไม่ทัน เนื่องจากอาจจะเสนอชื่อช้าไป แต่จะเข้าที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้าแน่นอน พร้อมกับยืนยันว่า ไม่มีปัญหาอะไร โดยจะยังเป็นรายชื่อเดิมที่เสนอไปแล้ว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่า ในการเสนอรายชื่อผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ เข้ามาในครม.ครั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอเอกสารมาไม่ครบถ้วน เพราะมีเพียงแค่หนังสือกระทรวงการคลัง และประวัติของผู้ที่ได้รับการพิจารณาเท่านั้น โดยยังขาดเอกสารรับรองของหน่วยงานสำคัญ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสํานักงานศาลยุติธรรม
"หลักการพิจารณาแต่งตั้งวาระดังกล่าว ถือว่าเป็นตำแหน่งสำคัญ จึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่ได้รับการพิจารณาเสนอชื่อเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่อย่างรอบคอบ ก่อนนำมาประกอบการพิจารณาของครม. เพราะเกรงว่า หากมีความไม่รอบคอบขึ้น อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องการมาตรฐานทางจริยธรรมได้"
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลบุคคลที่มีการเสนอรายชื่อเข้ามาให้เกิดความรอบคอบก่อน ทำให้ในการประชุมครม.วันนี้ จึงไม่ได้พิจารณาวาระดังกล่าวของกระทรวงการคลัง และกรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่การสกัดกั้นทางการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลา เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ก่อนดร.เศรษฐพุฒิ จะครบวาระในวันที่ 30 ก.ย.2568”
แหล่งข่าวระดับสูงตลาดเงินตลาดทุนสะท้อนมุมมองกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บทบาทผู้ว่าแบงก์ชาติว่า ปัญหาของประเทศไทยเวลานี้ แบงก์ชาติต้องเป็นเสาหลัก เพราะจะไม่มีอะไรยืนได้ ประเทศไทยจะไปข้างหน้าได้ โดยที่ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และด้านการเงินการคลังของโลกจะปั่นป่วนวุ่นวายมากไปอีก 2-3 ปี ดังนั้นผู้ว่าแบงก์ชาติต้องเป็นคนที่รู้จริง ไม่ใช่เวลาที่จะเอาคนที่ปฎิบัติ/สนองนโยบาย
ทางออกของแบงก์ชาติไม่ใช่เรื่องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ต้องรื้อโครงสร้างของประเทศ ถ้าต้องการทำให้คนไทยพ้นจากสภาพหนี้ครัวเรือน และทำให้คนไทยมีรายได้พอกับค่าใช้จ่าย สิ่งที่ควรทำคือ นำบริษัทที่ดีเข้ามาลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาคน โดยเฉพาะลูกหลานของคนที่เป็นหนี้ให้มีความรู้ความสามารถเพื่อทำงานและสร้างรายได้ครัวเรือนมากขึ้น
ไม่ว่ารายได้จากคนไทยที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้นหรือ รายได้จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น พอมีรายได้เข้ามาช่วยแก้ไขหนี้ครัวเรือนที่ท่วมหัวอยู่ เพราะพ่อแม่แก้ไม่ได้แล้ว กรณีลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นการช่วยธุรกิจ แต่ไม่ทำให้ลูกจ้างหรือประชาชนมีรายได้ดีขึ้น อย่างที่บอกคนไทยมีหนี้ 60-70%
ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มองว่า นายวิทัยว่าที่ผู้ว่าธปท.คนใหม่ มีความยืดหยุ่นสามารถประสานฝั่งกระทรวงการคลังและภาคเอกชนได้ โดยให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้หนี้ครัวเรือน เพื่อให้มีกำลังซื้อกลับเข้าสู่ตลาด
“ภาคอสังหาฯ มองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ที่จะถึงนี้ จะพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อพยุงเศรษฐกิจและรับมือภาษีทรัมป์ แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวนจะช่วยได้เฉพาะช่วยลดภาระผู้กู้ลงเท่านั้น แต่ไม่ช่วยจูงใจหรือกระตุ้นการลงทุนเนื่องจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน"
อย่างไรก็ตาม จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินดังกล่าว ภาคเอกชนเสนอนายวิทัย เจรจาธนาคารพาณิชย์ผ่อนปรนลดดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย MRR ช่วยเหลือประชาชน รวมถึงผ่อนคลายพิจารณาสินเชื่อสำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อและตลอดอสังหาฯเดินต่อได้
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรนันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ)กล่าวว่า ข้อเสนอที่อยากฝากผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ อยากให้เข้ามาช่วยเรื่องกระแสเงินสดของผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยอยากให้มีแพ็คเกจซอฟต์โลนก้อนใหญ่ เพื่อสนับสนุนเงินหมุนเวียนสำหรับธุรกิจหรือ สนับสนุนกรณีดำเนินการเรื่องความยั่งยืน
“ธุรกิจโรงแรมจะมีในเรื่องของหลักทรัพย์ ที่ผ่านมาก็มีการคืนหนี้เงินต้นให้กับธนาคารต่างๆ ซึ่งเงินต้นลดลงไปบ้างแล้ว แต่ยังมีช่องว่างในส่วนของวงเงินเดิมยังอยู่ ถ้าแบงก์ชาติสนับสนุนเงินใหม่เข้ามาก็จะช่วยผู้ประกอบการโรงแรมได้มากโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่นักท่องเที่ยวชลอตัว รวมทุนต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น”นายเทียนประสิทธิ์กล่าว
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากกับผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ คือ
- วางแผนดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งจนเกินไป สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกและตลาดการท่องเที่ยวโลกได้ดี
- นโยบายดอกเบี้ย ที่จัดลำดับความสำคัญของ SMEs อยู่ในสถานะที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันมีปัญหาอย่างมาก
- ออกมาตรการสนับสนุน แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เช่น เศรษฐกิจสีเขียว หรือ การใช้พลังงานสะอาด และ การลงทุนพื้นที่ห่างไกลของภาคเอกชน เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าของรายได้กับคนเมือง
- กองทุนที่มีกลไกรองรับภาวะฉุกเฉิน สามารถตอบสนอง การแก้ไขในภาวะวิกฤตผ่าน องค์กรการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนได้รวดเร็ว และแม่นยำ
นายกิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทยกล่าวว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยว SMEs และดิจิทัล ขอฝากผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่คือ
- ออกนโยบายแก้หนี้ พักชำระหนี้ ยืดหนี้สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวในปีนี้ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็ก SME e-Commerce และ Startup
- ออกนโยบายส่งเสริม Smart Green Well ที่เข้าถึงง่ายขึ้น เพื่อดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นทั้งชุมชนและจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ยั่งยืน ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
- ตั้งศูนย์ข้อมูล Smart Credit for SME, e-Commerce & Startup เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงแบบใหม่ที่เข้าใจธุรกิจยุคใหม่ โดยใช้ AI / Big Data และรองรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
- สนับสนุนสินเชื่อ และ VC ด้าน Tech/Smart Tourism / Wellness / eCommerce ที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่สร้างธุรกิจด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ที่แม้ยังมีรายได้ไม่แน่นอน แต่มีศักยภาพสูง สามารถเติบโตได้
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,114 วันที่ 17 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2568