“ใต้เท้า” มาจากไหน? ที่มาคำคุ้นหูจากต้นกำเนิดเก่าแก่กว่า 2,000 ปี
คำว่า ใต้เท้า ไม่ใช่คำที่เราใช้กันโดยทั่วไปหรือในชีวิตประจำวันแล้ว แต่ทุกคนต้องเคยได้ยินผ่านหูกันบ้างจากสื่อหรือภาพยนตร์-ละครแนวพีเรียดต่าง ๆ คำนี้มาจากไหน ใช้ยังไงกันแน่?
สังคมไทยใช้ “ใต้เท้า”เป็นคำเชิงยกย่องมาแต่อดีต สำหรับผู้น้อยที่ไม่อยากเรียกนามผู้หลักผู้ใหญ่ตรง ๆ ถือเป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คนไทยยังใช้ ใต้เท้ากันอย่างแพร่หลาย ขุนนางชั้นผู้น้อยและบุคคลทั่วไปใช้เรียกขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์
เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ข้าราชการชั้นผู้น้อยก็ใช้ ใต้เท้า เรียกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือคนทั่วไปใช้เรียกผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีฐานะทางสังคมสูง ๆ ก่อนจะค่อย ๆ เสื่อมความนิยมเลิกใช้ในที่สุด
หากสังเกตจะพบว่าคำนี้มีความประหลาดอยู่ คือเป็นคำที่ “ผู้น้อย” ใช้เรียก “ผู้ใหญ่” แต่กลับใช้คำที่มีความหมายว่าอยู่ข้างล่าง และไม่ใช่ข้างล่างธรรมดา แต่อยู่ “ใต้เท้า” เลยทีเดียว ไฉนเป็นเช่นนั้น?
จะเข้าใจเรื่องนี้เราต้องไปดูถิ่นกำเนิดและภูมิหลังของคำ…
จริง ๆ แล้ว “ใต้เท้า” มีถิ่นกำเนิดมาจากแผ่นดินจีน ไทยเรารับมาดัดแปลงใช้ แต่แปลแบบคำต่อคำ จึงเกิดความคลุมเครือ เพราะไม่มีใครมาคอยอธิบายภูมิหลังของคำนี้ในภาษาจีน
คำว่า ใต้เท้า แปลจากคำจีนว่า จู๋เซี่ย (足下) ประกอบด้วย จู๋ (足) แปลว่า เท้า และเซี่ย (下) แปลว่า ใต้
ขุนนางจีนเริ่มใช้คำนี้ในยุคจ้านกว๋อคือราว 400 ปีก่อนคริสตกาล สำหรับเรียกกษัตริย์ หรือพระเจ้าแผ่นดิน
บริบทการใช้คือ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินออกว่าราชการ จะประทับอยู่บนบัลลังก์สูงในท้องพระโรง ขุนนางจะนั่งคุกเข่าอยู่กับพื้น หน้าเชิงบัลลังก์มีมหาดเล็กยืนถวายงานรับใช้ หากจะกราบทูลหรือถวายรายงานข้อราชการใด ๆ ก็ตาม ขุนนางจะถือเอามหาดเล็กที่ยืนอยู่ “ใต้เท้า” พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้แทนองค์กษัตริย์
ทั้งนี้เนื่องจากสมัยนั้นระเบียบข้อปฏิบัติเคร่งครัดมาก ขุนนางไม่กล้าใช้สรรพนามเรียกพระเจ้าแผ่นดินตรง ๆ แต่จะเลี่ยงไปเรียกมหาดเล็กหรือเพื่อนขุนนางที่ตำแหน่งต่ำลงมา ณ หน้าบัลลังก์ว่า “จู๋เซี่ย”(ใต้เท้า-คนที่อยู่ใต้เท้า) แทน ซึ่งก็เป็นอันเข้าใจกันว่าหมายถึงตัวพระเจ้าแผ่นดินนั่นแหละ
การใช้สรรพนามเรียกบุคคลที่ควรแก่การเคารพยกย่อง โดยไม่ใช้คำยกย่องขึ้นข้างบน แต่ยกย่องลงข้างล่าง จึงเป็นมรดกตกทอดจากยุคจ้านกว๋อ
เพราะนอกจาก จู๋เซี่ย ยังมีคำว่า ปี้เซี่ย (陛下) แปลว่า ใต้บันไดพระราชวังคำเต็มคือ “คนที่อยู่ใต้บันไดพระราชวัง”ปรากฏหลักฐานการใช้มาตั้งแต่ปลายสมัยจ้านกว๋อ ก่อนนิยมแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่น (221 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 220)
ปัจจุบันจีนยังใช้ ปี้เซี่ยเป็นสรรพนามเรียกกษัตริย์ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งไทยยังรับมาดัดแปลงเป็นคำว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสรรพนามราชาศัพท์สำหรับเรียกพระมหากษัตริย์มาถึงปัจจุบัน
อีกคำคือเตี้ยนเซี่ย (殿下) แปลว่า ใต้ปราสาท มาจากคำเต็มว่า “คนที่อยู่ใต้ปราสาท”เริ่มใช้กันในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) ปัจจุบันจีนใช้เรียกพระบรมวงศานุวงศ์ชั้น “เจ้าชาย” ของประเทศต่าง ๆ ไทยรับมาแปลงเป็นคำว่า ฝ่าพระบาทหรือฝ่าบาท สรรพนามราชาศัพทย์เรียกพระญาติวงศ์ชั้น “หม่อมเจ้า”
สุดท้ายคือเก๋อเซี่ย (阁下) แปลว่า ใต้หอ จากคำเต็ม “คนที่อยู่ใต้หอ” พบการใช้ร่วมกับ 3 คำข้างต้น แต่ใช้กับอัครมหาเสนาบดี ไม่ใช้กับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ปัจจุบันจีนยังใช้เรียกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของประเทศต่าง ๆ อยู่ ด้านไทยเองก็รับมาแปลงเป็นคำว่า ฯพณฯ(อ่านว่า พะ-นะ-ท่าน) สำหรับเรียกผู้มีฐานะตั้งแต่รัฐมนตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่า
ต่อมามีหนังสือเวียนให้ยกเลิกการใช้คำว่า ฯพณฯ นำหน้าตำแหน่งในหนังสือราชการ แต่ก็ยังปรากฏการใช้คำนี้ในสังคมไทยอยู่
จะเห็นว่าทุกคำในภาษาจีนล้วนตัดคำว่า“คนที่อยู่…”ออกไปทั้งนั้น คนที่ไม่รู้ภูมิหลังจึงอาจสงสัยได้ว่า ทำไมพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ จึงไม่ใช้คำเหล่านี้เรียก “ผู้น้อย” กลับเป็นผู้น้อยเสียเองที่ใช้เรียก “ผู้ใหญ่”
อย่างการใช้ จู๋เซี่ยตั้งแต่ยุคจ้านกว๋อ นอกจากจะแสดงให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินที่คนธรรมดาไม่อาจแตะต้องหรือแม้แต่เอ่ยนามแล้ว ยังอาจเกี่ยวกับเรื่องของโชคลางที่เชื่อกันในยุคนั้นด้วย
อีกจุดสังเกตคือ นอกจาก เก๋อเซี่ยคำอื่นล้วนเป็นสรรพนามเรียกพระเจ้าแผ่นดินและพระญาติวงศ์ผู้ใหญ่ทั้งนั้น แต่ไทยกลับรับ จู๋เซี่ยที่จีนใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินมาเรียกผู้หลักผู้ใหญ่แบบเหมารวมคนที่ไม่ใช่พระราชวงศ์ด้วยความยกย่อง
เรื่องนี้จึงเป็นความคลาดเคลื่อนของการรับอิทธิพลทางภาษาจากต่างวัฒนธรรม ซึ่งเกิดขึ้นได้และไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร เพราะไม่มีคนจีนมาทุบอกโวยวายว่าไปเอาวัฒนธรรมทางภาษาของเขามาใช้แต่อย่างใด (ฮา)
อ่านเพิ่มเติม :
- ไม้ตรี ไม้จัตวา : อิทธิพลภาษาจีนในภาษาไทย
- เจียว (焦) ไข่ เมื่อคำจีนกลายเป็นคำไทย คำ “เจียวไข่” มาจากไหน
- “ฯพณฯ” ที่อ่านว่า “พณะท่าน” มาจากคำว่าอะไร-ย่ออย่างไร? ทำไมมี “ฯ” ด้านหน้า-หลัง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุชาติ ภูมิบริรักษ์. ใต้เท้า มาจากเมืองจีน.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม พ.ศ. 2536.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ใต้เท้า” มาจากไหน? ที่มาคำคุ้นหูจากต้นกำเนิดเก่าแก่กว่า 2,000 ปี
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com