บสย.เผยครึ่งปีแรกยอดค้ำฯ1.9หมื่นล.-เดินหน้าอัดฉีดช่วยกลุ่มเปราะบาง-รับมือภาษีทรัมป์
บสย. เผยยอดค้ำประกันสินเชื่อครึ่งปีแรก 2568 รวม 19,481 ล้านบาท ช่วย SMEs รายย่อย เข้าถึงสินเชื่อ 21,348 ราย ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 80,000 ล้านบาท ครึ่งปีหลังชูไฮไลท์'บสย. พร้อมค้ำ'-'มาตรการพิเศษ 5,000 ล้านช่วย'กลุ่มผู้ส่งออกรับมือภาษีทรัมป์ และ 'กลุ่มเปราะบางรายย่อย'
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานครึ่งปีแรก 2568 (ม.ค.-มิ.ย.) บสย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 19,481 ล้านบาท โดยสัดส่วน 51% เป็นโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง (BI 7) และ 49% เป็นโครงการตามมาตรการรัฐ (PGS 11) สามารถช่วย SMEs รายย่อย เข้าถึงสินเชื่อ 21,348 ราย เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย Micro SMEs 81% (ค้ำประกันเฉลี่ย 140,000 บาทต่อราย) และอีก 19% เป็น SMEs ทั่วไป (ค้ำประกันเฉลี่ย 4,250,000 บาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 26,359 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 188,572 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 80,455 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. การบริการ 31.4% 2. อาหารและเครื่องดื่ม 10.7% และ 3. เกษตรกรรม 8% ซึ่งทั้ง 3 ประเภทครองสัดส่วนค้ำประกันถึง 50% สะท้อนอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม “ท่องเที่ยว-เกษตรและอาหารแปรรูป-medical and wellness” ที่ภาครัฐเดินหน้ากระตุ้นการลงทุนและผลักดันเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ
สำหรับ โครงการค้ำประกัน PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการหลัก ตั้งแต่เปิดโครงการถึงปัจจุบัน (ก.ค. 2567 – มิ.ย. 2568) มียอดค้ำประกัน 38,009 ล้านบาท สามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 48,380 ราย โดยเป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการ บสย. (ลูกค้าใหม่) ถึง 74% และผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Micro SMEs ถึง 86% ตอกย้ำความสำเร็จในการช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” รายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ และกลุ่มที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ (กระบะพี่ มีคลังค้ำ) ที่มีปัญหาขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และขาดคนค้ำประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น
นายสิทธิกรกล่าวอีกว่า ไฮไลท์สำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม - กันยายน) ภายใต้มาตรการ “บสย พร้อมค้ำ” บสย. ได้ออก “มาตรการพิเศษ” วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท โดยเปิดตัว 2 โครงการใหม่ ประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Power Trade & Biz วงเงิน 3,000 ล้านบาท ค้ำประกันต่อราย 500,000 – 10,000,000 บาท ตอบโจทย์กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มที่ได้ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Micro Biz วงเงิน 2,000 ล้านบาท ค้ำประกันต่อราย 10,000 – 500,000 บาท ตอบโจทย์กลุ่มรายย่อย (Micro SMEs) พ่อค้า แม่ค้า ค้าขายออนไลน์ อาชีพอิสระ ฯลฯ ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน แต่ขาดคนค้ำและขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยทั้ง 2 โครงการมีจุดเด่น คือ ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก ปีต่อไปชำระต่ำเพียง 1.5% ต่อปี ค้ำประกันสูงสุด 7 ปี มุ่งเสริมสภาพคล่อง และลดภาระทางการเงิน ช่วยให้ SMEs เดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน
โดยเป้าหมายทั้ง 2 โครงการ มุ่งกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในรายที่ต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม แต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยการจ่ายเคลม (จ่ายค่าประกันชดเชย) สูงถึง 37% (SMEs Power Trade & Biz) และ 42% (SMEs Micro Biz) ต่อพอร์ตการค้ำประกันเมื่อเทียบกับการค้ำประกันปกติที่ระยะเวลา 10 ปี โดยมาพร้อมมาตรการแก้หนี้ “บสย. พร้อมช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกจ่ายเคลม ซึ่งถือเป็นการดูบซับความเสี่ยงด้าน Credit Cost ให้กับ SMEs รายย่อย สนับสนุนให้สถาบันการเงินเชื่อมั่นในการพิจารณาสินเชื่อเพิ่มให้กับ SMEs รายย่อยมากยิ่งขึ้น
ตลอดครึ่งปีแรก บสย. ประสบผลสำเร็จในการแก้หนี้ให้ลูกหนี้ที่ถูกจ่ายเคลม โดยตั้งแต่ออก มาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ในปี 2565 จนถึง 30 มิถุนายน 2568 สามารถปรับโครงสร้างหนี้ 20,904 ราย คิดเป็นมูลหนี้สะสมรวม 13,414 ล้านบาท เฉพาะครึ่งปีแรก สามารถปรับโครงสร้างหนี้ 2,415 ราย ในจำนวนนี้เป็น “กลุ่มเปราะบาง” ยอดจ่ายเคลมไม่เกิน 2 แสนบาท 1,676 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 1,542 ล้านบาท และสามารถช่วยลูกหนี้ “ปลดหนี้” ปิดบัญชีได้สำเร็จ 12% ของจำนวนรายที่ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด ปัจจัยความสำเร็จมาจากเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ด้วยการยืดหนี้ที่ถูกจ่ายเคลมให้ยาวสูงสุด 7 ปี การตัดเงินต้นก่อนดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ย 0% โดยปลดหนี้ ลดเงินต้นให้สูงสุด 30% พร้อม “ยกดอกเบี้ย” ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยให้ลูกหนี้สามารถ “อยู่รอด อยู่ได้” และ “ปลดหนี้” ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจ และทำให้ลูกหนี้มีกำลังใจ กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ ตลอดปีนี้ บสย. ได้เดินหน้ายกระดับสำนักงานเขตทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศก้าวสู่ “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” เพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อพร้อมการค้ำประกัน โดยตั้งแต่เปิดดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2563 -30 มิถุนายน 2568 บสย. ประสบความสำเร็จในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ SMEs ทะลุ 50,000 ราย สามารถช่วย SMEs ที่เข้ามารับการปรึกษาให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบ คิดเป็น 14.66% (Success rate)
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO