กสทช.ทบทวนโครงสร้างค่ามือถือกด ‘แพจเกจธงฟ้า’ต่ำกว่า 240 บาท
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยหลังการประชุมบอร์ดกสทช. ว่า ได้พิจารณาแนวทางการกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ สำหรับการดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก และจัดทำร่างประกาศ กสทช. ฉบับใหม่ โดยเสนอ กสทช. เพื่อหาแนวทางกำกับดูแลค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สอดคล้องกับสภาพตลาด การแข่งขัน และต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเป็นการดูแลผู้บริโภคให้มีทางเลือกในการใช้งาน
ทั้งนี้ต้องการให้หาแนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2563 ให้สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีการเสนอให้ปรับปรุงอัตราค่าบริการสำหรับรายการส่งเสริมการขายหลักขั้นเริ่มต้น หรือ แพ็กเกจธงฟ้า ที่เดิมกำหนดให้ไม่เกิน 240 บาทต่อเดือน ให้มีราคาถูกลงโดยกำหนดสิทธิการใช้งานให้สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งรวมเฉพาะบริการเสียงและอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เท่านั้น ไม่รวมบริการ SMS และ MMS
สำหรับการกำหนดค่าบริการใหม่ที่ปรับลดลงนั้น มาจากการนำรายรับเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือนจากบริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้รับจากผู้ใช้บริการรายเดือนและเติมเงินมาคำนวณ กล่าวคือ ผู้ใช้บริการจะได้ค่าใช้บริการที่ถูกลงสำหรับบริการพื้นฐานที่จำเป็นคือ การโทร และการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเคลื่อนที่ ซึ่งเข้ามาทดแทนพฤติกรรมการใช้งาน SMS และ MMS ได้
นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. ได้เสนอแนวทางให้ผู้ให้บริการมีรายการส่งเสริมการขายหลักขั้นเริ่มต้น หรือ แพ็กเกจธงฟ้าอย่างน้อย 2 ประเภท ได้แก่ บริการแบบจ่ายตามการใช้งาน (Pay Per Use) และบริการแบบเหมาจ่าย (Flat Rate) ซึ่งสำนักงาน กสทช. มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการทบทวนโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือในครั้งนี้ และการนำเสนอแนวทางนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้การให้บริการของโทรคมนาคมเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ และเป็นเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง
“การทบทวนโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือในครั้งนี้ ดำเนินการโดยได้คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงของผู้ให้บริการ และประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มความโปร่งใสในการกำหนดราคาและเสนอขายแพ็กเกจสำหรับผู้ใช้บริการที่มีความหลากหลาย ภายใต้การแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของตลาดเทคโนโลยี การทบทวนในครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการตามสิทธิการใช้งานตามแพ็กเกจ และอัตราค่าบริการส่วนเกินที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายเมื่อใช้เกินสิทธิจากแพ็กเกจ นอกเหนือจากการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคลื่นความถี่ทุกรายต้องมีแพ็กเกจที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการ เหมือนสินค้าธงฟ้าที่เป็นทางเลือกที่ประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะเร่งดำเนินการยกร่างประกาศ กสทช. ตามแนวทางที่ กสทช. เห็นชอบเพื่อเสนอตามขั้นตอนต่อไป” นายไตรรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการรับทราบรายงานการตรวจคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ ระดับท้องถิ่น โดย กสทช. มีมติรับทราบจำนวนผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ ระดับท้องถิ่น ทั้งสิ้น 2,286 นิติบุคคล
อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้ กสทช. มีมติพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม จำนวน 2,237 นิติบุคคล เป็นผู้เข้าร่วมการประมูล โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการประมูลให้ทราบเป็นการทั่วไปต่อไป และพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ที่ไม่มีคุณสมบัติ จำนวน 44 นิติบุคคล ไม่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล ทั้งนี้ มีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ขอยกเลิกการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ด้วยตนเอง จำนวน 5 นิติบุคคล
ขณะเดียวกันกสทช. ได้มีมติเห็นชอบให้การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงตามบทเฉพาะกาล ข้อ 39 ของประกาศใช้คลื่นฯ สิ้นสุดลงพร้อมกันในวันที่ 31 ธ.ค. 2568 และกำหนดให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ระบบเอฟเอ็ม เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป