ประวัติ "ประปาแม้นศรี" หอเก็บน้ำแห่งแรกของสยาม โยงตำนานป่าช้าวัดสระเกศ
ประวัติ "ประปาแม้นศรี" หอเก็บน้ำแห่งแรกของสยาม ประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับป่าช้าวัดสระเกศ สู่ตำนานลี้ลับชวนหลอน
บริเวณ แยกแม้นศรี บนถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร คือจุดเริ่มต้นของ "การประปา" ในประเทศไทย อาคารเก่าแก่ขนาดใหญ่ที่มาพร้อมถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 หอ ยังคงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของพระมหากษัตริย์ไทย
จุดเริ่มต้นการประปา
กิจการประปาในประเทศไทยเริ่มต้นจาก พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการจัดหาน้ำสะอาดให้ราษฎร เนื่องจากในอดีตราษฎรอาศัยน้ำฝนและน้ำคลอง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคระบาดหลายครั้ง
พระองค์จึงทรงตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2448 และมีการสำรวจพื้นที่เพื่อก่อตั้งระบบประปา โดยมีนายเดอ ลาโรเตียร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส เสนอให้นำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่พ้นเขตน้ำเค็มมาใช้ ผ่านระบบขุดคลองและกรองน้ำจากเชียงราก จังหวัดปทุมธานี
แม้การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลที่ 5 แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้สานต่อพระราชดำริและเปิดกิจการ “การประปากรุงเทพฯ” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 ณ พื้นที่บริเวณ “แม้นศรี”
ทำไมถึงชื่อว่า “แม้นศรี”
“แม้นศรี” มีที่มาจากชื่อของ หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา หม่อมห้ามผู้เป็นที่รักของ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือที่รู้จักกันในนาม สมเด็จวังบูรพา
หม่อมแม้นเป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุเพียง 30 ปี พระองค์จึงได้จัดพิธีศพอย่างสมพระเกียรติ และนำเงินจากผู้ช่วยงานไปสร้าง สะพานแม้นศรี เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เธอ โดยสะพานนี้เดิมชื่อว่าสะพานดำ
เมื่อมีการตัดถนนใหม่ผ่านบริเวณนั้น สะพานถูกถอดออก และพื้นที่จึงกลายเป็น “แยกแม้นศรี” ดังที่รู้จักกันทุกวันนี้
เจาะเวลาหาอดีตหม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา
ประปาแม้นศรี : หอเก็บน้ำแห่งแรกของสยาม
อาคารประปาแม้นศรี ประกอบด้วย หอเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 หอ ถือเป็นหอเก็บน้ำแห่งแรกในพระนครที่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และมีสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์
นี่คือจุดกำเนิดของ “การประปานครหลวง” ซึ่งเริ่มจากชื่อเดิม “การประปากรุงเทพฯ” ก่อนจะขยายกิจการและควบรวมการประปาในพื้นที่ธนบุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ เป็นรัฐวิสาหกิจในปี พ.ศ. 2510 ปัจจุบันการประปานครหลวงมีพื้นที่รับผิดชอบกว่า 3,100 ตารางกิโลเมตร และใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง
จากอดีตสู่อนาคต : การฟื้นชีวิตพื้นที่สาธารณะ
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ขอเช่าอาคารประปาแม้นศรีจาก สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อปรับปรุงเป็นพื้นที่รองรับภารกิจด้านสังคม โดยเฉพาะการดูแลคนไร้บ้าน และยังมีการใช้พื้นที่บริเวณนี้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์
ล่าสุดมีการจัดงาน เทศกาลหนังสยองขวัญ Bangkok Horror Film Festival 2025 เมื่อวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2568
Mook Minrayaporn Somnongkham Bangkok Horror Film Festival 2025
เสียงร่ำลือเรื่องลี้ลับ
แยกแม้นศรี ในปัจจุบันอาจเป็นเพียงสี่แยกกลางเมืองที่พลุกพล่านด้วยรถราและอาคารพาณิชย์ แต่ในอดีตที่นี่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ “ป่าช้าวัดสระเกศ” สถานที่ฝังศพและฌาปนสถานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งมีเรื่องเล่าลี้ลับมากมายส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
เมื่อย้อนกลับไปสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระนครยังคงล้อมรอบด้วยกำแพงเมือง และภายในกำแพงจะไม่มีการฌาปนกิจศพ เพื่อความเป็นสิริมงคล ยกเว้นกรณีของพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น ราษฎรทั่วไปต้องนำศพออกจากเมืองผ่าน ประตูผี ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร ใกล้กับแยกสำราญราษฎร์ในปัจจุบัน โดยจะข้ามคลองแล้วมุ่งสู่ วัดสระเกศ ซึ่งเป็นวัดใหญ่นอกกำแพง และมีลานป่าช้าขนาดใหญ่รองรับผู้ล่วงลับจำนวนมาก
ในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 4 ได้เกิด โรคห่า หรือ อหิวาตกโรค ระบาดรุนแรงทั่วพระนคร มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นศพในเวลาอันสั้น ศพจำนวนมากถูกเคลื่อนผ่านประตูผีมาสู่ลานวัดสระเกศ จนไม่สามารถเผาหรือฝังได้ทัน ต้องขุดหลุมขนาดใหญ่เพื่อฝังรวมกันไว้
เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนขวัญผวา คือการปรากฏของแร้งนับร้อยตัวที่บินมาจิกกินซากศพ ทำให้ "แร้งวัดสระเกศ" กลายเป็นคำเล่าลือสยองขวัญที่ฝังรากอยู่กับสถานที่นี้มาหลายยุคหลายสมัย
พื้นที่ป่าช้าวัดสระเกศในอดีตนั้นกินบริเวณกว้างใหญ่ ตั้งแต่เชิงสะพานสำราญราษฎร์ ไปจนถึงแยกแม้นศรีและบ้านบาตร ครอบคลุมพื้นที่ของวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร อาคารพาณิชย์และที่พักอาศัยริมถนนบำรุงเมือง ตลอดแนวถึงบริเวณของประปาแม้นศรีในปัจจุบัน