เกิดอะไรขึ้นกับระเบียบโลก...เหตุไฉนโลกจึงร้อนระอุ
ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ท่ามกลางความร้อนแรงของสถานการณ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา โลกของเราก็ร้อนระอุขึ้นอย่างมากจนกลายเป็นความกังวลไปจนถึงว่า หรือนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งใหม่? ทำไมโลกของเราจึงดูยุ่งเหยิงจนความขัดแย้งเกิดขึ้นรอบโลก หรือว่านี่จะเป็นการเสื่อมถอยของกติกาสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศ? ที่พยายามป้องกันการเกิดของความขัดแย้ง
หลายคนตั้งคำถามว่า “ข้อตกลงที่เป็นพันธะทางศีลธรรมระหว่างประเทศ หมดความหมายลงหรือไม่?”
ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า “พันธะทางศีลธรรม” อาจเป็นเพียงสิ่งที่เราอุปโลกน์มันขึ้นมาในภายหลัง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ไม่ใช่ “ศีลธรรม”
เพราะถ้าย้อนมองโลกในอดีต เราจะเห็นว่า การสงครามเพื่อแย่งชิงอำนาจและทรัพยากร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลในอดีตอย่าง “สัจจะนิยม” ก็เกิดขึ้นจากการสังเกตพฤติกรรมต่างๆของรัฐที่แย่งชิงอำนาจกัน จนเกิดเป็นทฤษฎีที่ว่า แต่ละรัฐต้องเอาตัวรอด ต้องเพิ่มพูนอำนาจให้ตัวเอง เพื่อที่จะได้อยู่รอดบนโลกที่ไร้อำนาจกลางควบคุม จนเมื่อภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจนหลังสงครามเย็นนี่เอง ที่ทฤษฎีเชิงเสรีนิยมมีอิทธิพลมากขึ้นภายใต้การนำโลกของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ออกแบบแนวคิดนี้และนำมาใช้เป็นพื้นฐานของระเบียบโลกสมัยใหม่ โลกจึงมีลักษณะที่ดูเหมือนจะมีการร่วมมือกันมากขึ้น เกิดองค์กรระหว่างประเทศ เกิดความร่วมมือต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมไปจนถึงการขยายตัวของระบอบประชาธิปไตยไปทั่วโลก เพราะนี่คือสิ่งที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ เผยแพร่โดยสหรัฐฯ ทำให้แข็งแรงโดยสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำโลก
โลกที่ให้ความสำคัญกับภาพของความร่วมมือต่างๆ เลยอาจทำให้เรามองว่าโลกนี้มี “พันธะทางศีลธรรม” ระหว่างประเทศ ทั้งที่จริงๆแล้วมันคือเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เหมือนเช่นในอดีต แตกต่างกันที่วิธีการเท่านั้น การยึดมั่นในข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ หรือ พันธะทางศีลธรรมระหว่างประเทศ อาจเป็นแค่การ “วางตัวให้เหมาะสม” ภายใต้ระเบียบระหว่างประเทศ ณ เวลานั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามว่า พันธะทางศีลธรรม กำลังหมดความหมายในเวทีโลกหรือไม่ ผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่ เพราะส่วนตัวผู้เขียนไม่เชื่อว่ามันมีตั้งแต่แรก แต่น่าจะเป็นเรื่องของการ “ถดถอยของระเบียบโลก” ที่แต่ก่อนมีมหาอำนาจเป็นผู้ยึดถือและผลักดัน ทำให้ประเทศต่างๆต้อง “วางตัวให้เหมาะสม” ในลักษณะของการรักษาและยึดมั่นในระเบียบและข้อตกลงระหว่างประเทศ ด้วยความที่มันเป็นส่วนหนึ่งของการได้มาซึ่งผลประโยชน์และการเป็นผู้เล่นที่ดีภายใต้กติกาของมหาอำนาจ เมื่อมหาอำนาจปล่อยมือ หรือละเลยระเบียบโลกดังกล่าว โลกจึงกลับเข้าสู่ธรรมชาติ คือการมุ่งหาประโยชน์ส่วนตน และการให้คุณค่ากับการวางตัวในระเบียบโลกลดน้อยลง
ต้องไม่ลืมว่า โลกใบนี้ไม่มี “รัฐบาล” กลางที่จะคอยกำหนดให้ประเทศไหนทำอะไร ไม่ทำอะไร
ใครจะทำอะไร จริงๆแล้ว ไม่มีใครมีอำนาจในการห้าม หรือลงโทษ เว้นแต่มหาอำนาจจะออกแรง หรือหลายประเทศจะร่วมมือกันในการลงโทษ
หน่วยงานอย่างองค์การสหประชาชาติ จึงไม่ได้มีพลังในฐานะหน่วยงานที่ป้องกันสงครามได้ในความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สงครามที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศมหาอำนาจ จะมีพลังหน่อยก็เมื่อสงครามเกิดขึ้นจากประเทศขนาดเล็ก ไม่ได้เกี่ยวกับมหาอำนาจ อิหรอบนี้พอจะมีพลัง แต่พลังนั้นก็มาจากมหาอำนาจที่ตกลงใจกันว่าจะช่วยกัน “จัดการ” กับความขัดแย้งนั้นๆ ไม่ใช่บทบาทโดยตรงของ UN
ในระยะหลังสหประชาชาติจึงกลายเป็นเวทีเพื่อ “ความร่วมมือ” มากกว่า ซึ่งแน่นอน “การสร้างความร่วมมือ” กับ “การสร้างสันติภาพ” เป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” แม้เหลื่อมกันบ้างในบางมิติ แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกันอย่างแน่นอนที่สุด
ดังนั้น ความร้อนของโลกในวันนี้เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการถดถอยของระเบียบโลกที่ค่อยๆกร่อนลงนับแต่สงครามตะวันออกกลางของสหรัฐฯ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของระเบียบโลก ในทำนองที่ว่า ผู้เขียนระเบียบ ห้ามคนอื่นแหก แต่ตัวเองแหกเอง และเกิดขึ้นซ้ำๆหลายต่อหลายครั้งจนปัจจุบัน
ในอนาคตก็เป็นที่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่า ระเบียบโลกจะสั่นคลอนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสหรัฐฯที่เป็นผู้ออกแบบระเบียบโลกฉบับที่ผ่านมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทีท่าว่าจะ “หันหลัง” ให้กับระเบียบโลกของตัวเอง อย่างชัดเจนผ่านการแสดงออกที่ผ่านมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เหมือนกำลังบอกคนทั้งโลกว่า สหรัฐฯไม่เอาแล้วระเบียบโลกเก่า แต่กำลังพยายามจะสร้างระเบียบโลกใหม่ให้เกิดขึ้น
คำถามต่อไป คือแล้วยักษ์ใหญ่อื่นๆในโลกล่ะ จะโอเคกับระเบียบโลกฉบับใหม่นี้หรือไม่ ?
ถ้าไม่ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป? จุดสมดุลของโลกจะอยู่ตรงไหน และเมื่อไร?
และก่อนจะไปถึงจุดสมดุลนั้น โลกจะต้องผ่านสงครามใหญ่อีกครั้ง เหมือนในประวัติศาสตร์ หรือไม่?
ต้องจับตามองให้ดี….