แก้ปัญหายาเสพติด 'ชัยชนะ' ชู 'สวนสราญรมย์โมเดล' ต้นแบบฟื้นฟู
21 กรกฎาคม 2568 นายชัยชนะ เดชเดโช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ณ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โดยเน้นย้ำถึงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการ "คืนคนคุณภาพสู่สังคม" ยกย่อง โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ เป็นต้นแบบการบำบัดฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ พร้อมเน้นย้ำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสร้างระบบดูแลที่ยั่งยืน
นายชัยชนะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า รัฐบาลมองผู้เสพยาเสพติดเป็น "ผู้ป่วย" ที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ โดยโรงพยาบาลสวนสราญรมย์นำ FAST model มาใช้ในการบำบัดฟื้นฟู ซึ่งเน้นความรวดเร็วและประสิทธิภาพ ควบคู่กับแนวทาง Matrix ที่เป็นการดูแล บำบัดรักษา และฟื้นฟูระยะยาว 120 วัน แบ่งเป็น
1. บำบัดผู้ป่วยใน (Inpatient Treatment) ดูแลใกล้ชิดในโรงพยาบาล 45 วัน เพื่อถอนพิษยาและฟื้นฟูร่างกาย-จิตใจเบื้องต้น
2. บำบัดแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient Treatment) หลังจากนั้นผู้ป่วยจะพบแพทย์และทีมสหวิชาชีพ เดือนละ 1 ครั้ง ครบ 4 เดือน เพื่อติดตามผล ให้คำปรึกษาและป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ
ทั้งนี้ จากข้อมูล ผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดจากโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ มีอัตราการกลับไปประกอบอาชีพที่น่าทึ่งโดยในปี 2566-2567 อยู่ที่ร้อยละ 41.5 และ สำหรับปี 2568 (ข้อมูลปัจจุบัน) พุ่งสูงถึงร้อยละ 89.4 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับไปทำอาชีพเดิมได้โดยเฉพาะเกษตรกรรมและงานทั่วไป รวมถึงบางส่วนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อีกครั้ง
นายชัยชนะ รมช.สาธารณสุข กล่าวเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของ อปท. ในการขับเคลื่อนนโยบาย "คืนคนคุณภาพสู่สังคม" ทั้งการสนับสนุนการบำบัดฟื้นฟู การติดตามดูแลผู้ป่วยหลังออกจากสถานบำบัด และการสร้างโอกาสทางอาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติสุข
นายชัยชนะ รมช.สาธารณสุข ได้กล่าวถึงนโยบายและข้อสั่งการเพิ่มเติมเพื่อยกระดับงานสาธารณสุขในการลงพื้นที่ไว้ ดังนี้
1.บูรณาการความร่วมมือ สธ.-ท้องถิ่น: เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่กล้าเปิดเผยตัว จะมีการสร้าง LINE OA หรือสายด่วน
2. ดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตในพื้นที่ห่างไกล: สนับสนุนการทำงานเชิงรุกด้วย ชุดอุปกรณ์การตรวจเคลื่อนที่ และ รถโมบายคลายเครียด
3. โครงการ "Thailand Triple-P (Preschool Parenting Program)": สร้างทักษะการเลี้ยงดูเด็กช่วงปฐมวัย "เลี้ยงเก่งลูกเก่ง" ตั้งเป้าขยายผล 100,000 ครอบครัวภายในสิ้นปีนี้ และขับเคลื่อนโครงการ "วัยรุ่นติดเกราะ Bully to Buddy" สำหรับช่วงอายุ 13-15 ปี
4. ขับเคลื่อนโครงการ "มินิธัญญารักษ์": ขอความร่วมมือจาก อสม. ในการรายงานและติดตามข้อมูลผู้เสพยา จับมือกับ อปท. นำร่อง 5 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย อบต.ท่าศาลา, เทศบาลเมืองปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช, เทศบาลเมืองท่าข้าม จ.สุราษฎร์ธานี, อบต.คลองสาม จ.ปทุมธานี และ อบต.เสม็ดใต้ จ.ฉะเชิงเทรา จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สธ. เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมคืนคนดีสู่สังคม รองรับรุ่นละ 100 คน พร้อมใช้ App ล้อมรักษ์ คืนคนดีสู่สังคม
สำหรับรายงานผ่านระบบออนไลน์ หากบำบัดเกิน 3 ครั้งแล้วติดซ้ำ จะพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อลงโทษและประสานกระทรวงเกษตรฯ-อุตสาหกรรม สร้างโอกาสทางอาชีพ
5. การรักษาและกำกับติดตามผู้ป่วยจิตเวช: ผลักดันระบบช่องทางออนไลน์เพื่อ ให้คำปรึกษาและคัดกรองเบื้องต้น สำหรับผู้มีความเสี่ยง (สีส้ม-สีแดง) ให้เข้ารับการรักษากับจิตแพทย์หรือนักบำบัดอย่างทันท่วงที