“ซันสวีท“ รุกตลาดอาหารกระป๋อง บุกต่างประเทศ ดันยอดโต 15%
นายวีระ นพวัฒนากร ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร ภายใต้แบรนด์ “KC” เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจของซันสวีทในภาพรวมของแบรนด์ ถือว่าเป็นที่รู้จักในรูปแบบของสินค้าพร้อมทาน หรือ Ready to eat products ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดหวานที่เป็นสินค้าหลักยอดนิยม ถั่วแระญี่ปุ่น กล้วยหนึบ ตลอดธัญพืชรวม ที่ผู้บริโภคนิยมซื้อทานพร้อมกับโยเกิร์ต
โดยสามารถแข่งขันในตลาดส่งออกกับแบรนด์อื่นๆ ของต่างประเทศได้ แต่ก็ยังมีความท้าทาย ด้านการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรม ที่ต้องใช้งบประมาณสูงเพื่อสร้างการรับรู้สำหรับกลุ่มผู้บริโภคต่างชาติ ขณะที่การรับรู้ของกลุ่มผู้บริโภคในประเทศไทยถือว่าดี
จากความผันผวนของภาวะต่างๆ ในครึ่งแรกของปี 2568 โดยรวมซัยสวีทยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งต้นทุนการผลิตอย่างค่าปุ๋ยและยายังทรงตัวแม้อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ต้นทุนน้ำมันสำหรับการขนส่งก็ยังไม่สูงมาก
รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายโดยตรงสำหรับกระป๋องเหล็กบรรจุภณฑ์ก็ยังคงที่ ส่วนการปรับค่าแรงก็อยู่ในวิสัยที่จัดการได้ ไม่ส่งผลกระทบมากนัก
“บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลงทุนกับเครื่องมือต่างๆ แม้กำไรอาจจะไม่ได้ตามที่เราคาดไว้ เพราะส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินแข็งค่า ซึ่งบริษัทมีตัวเลขการส่งออกสูงถึง 80% ของรายได้ทั้งหมด ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาทต่อปี ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐจึงทำให้รายได้ในส่วนนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”
ครึ่งแรกของปี 2568 รายได้ของซันสวียังคงเติบโตประมาณ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าส่งไปยังตลาดต่างประเทศ โดยภาพรวมของเติบโตขึ้นมากกว่า 20% โดยการเติบโตด้านปริมาณจะสูงกว่าด้านมูลค่า
คาดว่าทั้งปี 2568 ซันสวีทจะมีรายได้เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมารวม 10-15% ซึ่งแนวโน้มความต้องการสินค้าจากลูกค้าถือว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในลูกค้าที่เป็นลูกค้าเดิมๆ ในญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน
ตลอดจนลูกค้าจากอเมริกา ที่เริ่มหันมาซื้อสินค้าประเภทอาหารกระเป๋องจากไทยมากขึ้น ในกรณีนี้อาจเป็นเพราะต้องการสินค้าที่เก็บไว้ได้นานตามนโยบายเรื่องภาษีที่จะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น
นอกจากนี้ ซันสวีทก็พร้อมบุกตลาดใหม่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง ซึ่งมีแนวโน้มการตอบรับที่ค่อนข้างดี เพราะสินค้าไทยยังคงมีภาพลักษณ์และมาตรฐานสูง ต่างจากคู่แข่งอย่างจีนที่อาจมีความไม่แน่นอน ดังนั้นลูกค้าส่วนใหญ่จึงมีความเชื่อมั่นในสินค้าไทยมากกว่า
“เรายังคงเน้นทำตลาดในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มตะวันออกกลางก็เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งเป็นตลาดที่บริษัทไม่ค่อยได้ทำในอดีต ซึ่งในช่วงปลายปี 2568 จะเริ่มทดลองทำตลาดกับสินค้าใหม่เป็นอาหารกล่องสำเร็จรูป และจะเปิดรับออเดอร์จากลูกค้า โดยยังคงราคาที่ผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงและจับต้องได้”
ด้าน นายอดิศัย สำเนียง ผู้อำนวยการฝ่ายขายต่างประเทศ กล่าวว่า กลยุทธ์หลักของซันสวีทคือการขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อย่างเกาหลีใต้ที่ถือเป็นตลาดศักยภาพสูง ผู้บริโภคต้องการสินค้าเกษตรแปรรูปที่เน้นคุณภาพ ความสะอาด และความปลอดภัย สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของซันสวีท ภายใต้แบรนด์ “KC” ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพและความสะดวกสบายของผู้บริโภคยุคใหม่
โดยเชื่อมั่นว่าในปี 2568 ซันสวีทจะมีโอกาสเติบโตอย่างมั่นคง โดยเฉพาะประเทศที่ให้ความสำคัญกับอาการที่มีมาตรฐานสูงตามเทรนด์สุขภาพ การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบจากต้นทาง ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเป้าหมายได้อย่างตรงจุด คาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายจากตลาดส่งออกได้ไม่น้อยกว่า 10% ภายในสิ้นปีนี้