4 สินค้าเสี่ยง อันตรายผู้บริโภค ปมเจรจาภาษีทรัมป์ เปิดเสรีนำเข้า
หากไทยปิดดีล “ภาษีทรัมป์” ได้ต่ำกว่า 36 % แลกกับการปลดล็อกเปิดเสรีหรือภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 0 % หลายพันรายการ รวมถึง ไทยพิจารณาอัตราภาษีศุลกากร MFN ซึ่งปี 2566 อัตราภาษีสำหรับสินค้าเกษตรอยู่ที่ 27.0% ค่อนข้างสูง ทำให้สหรัฐต้องการลดภาษีส่วนนี้ลง
เมื่อจะมีการเปิดเสรีนำเข้าสินค้ามาสู่ผู้บริโภคไทยมากขึ้น เรื่องนี้จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้าและการส่งออกอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมองถึง “มุมผลกระทบต่อผู้บริโภค” ที่จะเกิดขึ้นด้วย ทว่า ในการประชุมหารือของรัฐบาล กลับไม่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนผู้บริโภคเข้าร่วมทั้งที่ปัจจุบันมีสภาองค์กรของผู้บริโภค
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่าคนไทยยังไม่ทราบว่าทีมเจรจาได้ยื่นข้อเสนอลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 0 % ในสินค้าหลายพันรายการนั้นเป็นชนิดใด แต่หากย้อนดูการเจรจาสมัยแรกการเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 8 ปีก่อน สิ่งที่พยายามกดดันไทยอย่างมาก ก็อาจจะมีสินค้าเสี่ยงในการนำเข้า คือ
1.เปิด “ตลาดหมูทุกส่วน” ซึ่งการเลี้ยงหมูในสหรัฐมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง เนื่องจากคนอเมริกันไม่ได้กินส่วนอื่นๆ เช่น เครื่องใน หนัง คากิ มันหมู แต่ประเทศไทยกินส่วนเหล่านี้
อาจนำเข้าหมูมีสารก่อมะเร็ง
สภาองค์กรของผู้บริโภค, FTA Watch เสนอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ใช้ข้อมูลงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)เกี่ยวกับ สารเร่งเนื้อแดงที่เป็นสารก่อมะเร็งตกค้างในอวัยวะส่วนอื่นของหมูที่ไม่ใช่เนื้อแดง
โดยเฉพาะส่วนของเครื่องใน และถ้ากินเท่าที่ปริมาณคนไทยกิน จะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงมากหากเทียบกับการกินเฉพาะเนื้อแดงอย่างเดียว ประกอบการเจรจาด้วย
ขณะที่ช่วงเวลานั้น ไต้หวันถูกแรงกดดันทางการเมือง ได้เปิดให้มีการนำเข้าหมูจากสหรัฐ โดยใช้วิธีการติดฉลากแสดงว่านำเข้าจากสหรัฐ เพื่อให้คนไต้หวันรู้และไม่ซื้อ แต่ปรากฎว่ามีการ “การปลอมฉลาก” ทั้งที่เป็นประเทศที่มีระบบคุ้มครองผู้บริโภคดีมาก มีการจับและโทษสูงมาก
อย่างไรก็ตาม ภาคผลิตอาหารสุนัขและแมวมีความต้องการเครื่องในหมูมาเป็นส่วนผสม แต่ประเทศไทยไม่สามารถที่จะป้องกันอยู่เฉพาะในส่วนของธุรกิจนี้ สุดท้ายจะกระจายมาสู่ผู้บริโภคก็จะเกิดความเสี่ยง
นอกจากนี้ การนำเข้าเนื้อหมู และเครื่องในหมู จะกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและเกษตรที่เกี่ยวเนื่อง เกษตรกรรายย่อยจะหมดบ้านหมดเมืองแน่นอน ก็จะกระทบถึงชาวนาที่มีการขายรำข้าวให้ผู้เลี้ยงหมู ทั้งราคาข้าวและผลผลิตเกี่ยวเนื่องตกต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดวิกฤตโรคในหมูและหมูเถื่อน ทำให้เกษตรรายย่อยล้มหายตายจากไปจำนวนมากแล้ว ปัจจุบันเกินกว่า 50 % ตลาดตกอยู่ในการยึดครองของรายใหญ่
“หมูในอเมริกาทำได้ถูกกว่าไทย เพราะกินเฉพาะเนื้อแดง ขณะที่ส่วนอื่นๆของหมู เรียกได้ว่าทิ้งเป็นขยะ จึงมีราคาถูกมาก เมื่อเป็นขยะก็เท่ากับคุ้มที่จะส่งมาประเทศไทย ไม่ต้องเสียค่าบริหารจัดการ และปัจจุบันในสหรัฐ ออสเตรเลียและสหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้นำมาทำเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์”น.ส.กรรณิการ์กล่าว
สะเทือนเกษตรกรไทย
2.พืช สัตว์ GMO ซึ่งประเทศไทยอนุญาตให้นำเข้าพืช สัตว์ GMO มาเป็นอาหารสัตว์เท่านั้น ในกรณีถั่วเหลือง ส่วนในอาหารทุกชนิดตั้งแต่ต้นปี 2568 มีกฎหมายเรื่องต้องแสดงฉลาก หากมี GMO เกิน 3 % ขณะที่สหรัฐแทบทุกอย่างเป็น GMO จึงต้องการที่จะส่งเข้ามาและไทยอาจถูกบังคับห้ามไม่ให้แสดงฉลาก GMO ด้วย เพื่อไม่ให้คนเลือกได้ว่าจะไม่ซื้อ
3.ข้าวโพด ข้าวสาลี ที่ผ่านมามีระบบดูแลเกษตรไทย โดยหากต้องการซื้อข้าวสาลีจากต่างประเทศ จะต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรไทยในอัตรา 1 ต่อ 2 จึงอาจมีการถือจังหวะนี้ซื้อจากสหรัฐอย่างเดียว
และ4.ขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยรอบปีที่ผ่านมามีการตรวจจับการลักลอบเข้ามาจากสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ซี่งในการทำลายจะอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และที่ผ่านมา กรมศุลกากรและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แจ้งสถานทูตสหรัฐอเมริกาหลายครั้งแล้ว จึงกังวลว่าไทยจะอนุญาตให้นำเข้าได้ เพราะสหรัฐอาจจะมีปัญหาเรื่องสถานที่ทิ้งขยะนี้
“ดูเหมือนรัฐมีเงินราว 50,000 ล้านบาทมาเยียวยา แต่ในความเป็นจริงไม่พอแน่นอน เพราะเรื่องนี้เกษตรกรที่เกี่ยวข้องถึงขั้นหมดอาชีพเลย ไม่ใช่แค่การเยียวยา เรื่องนี้จึงไม่ควรหารือแค่ภาครัฐ และเอกชน แต่ควรนำผู้บริโภคเข้าร่วมด้วย เพราะจะกระทบทั้งสุขภาพและคนเล็กคนน้อย”น.ส.กรรณิการ์กล่าว
หากรัฐจะช่วยเหลือต้องเป็นกลุ่ม SMEs เพราะหากดูจากข้อมูลคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎรและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำไว้ จะมีบริษัทไทยที่ส่งออกไปสหรัฐมี SMEs ราว 4,990 บริษัท มีการจ้างงานราว 5 แสนคน โดยรัฐจะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Soft Loan) อย่างเดียวไม่พอ
แก้ทริปส์พลัส กระทบระบบสุขภาพ
ยิ่งกว่านี้ ยังมีความเป็นห่วงว่าสหรัฐจะใช้โอกาสนี้ในการเจรจา เพื่อขจัดข้อห้ามอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องภาษีด้วย อย่างการขจัดข้อห้ามเรื่องนำเข้าบุหรี่ /บุหรี่ไฟฟ้า อาจรวมถึง “ทริปส์ พลัส (TRIPs Plus)” เหมือนที่มีการพยายามกดดันทุกครั้งที่มีการเจรจาการค้าหรือไม่ น.ส.กรรณิการ์ มองว่า หากพ่วงเรื่องนี้ด้วย จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะต่อระบบสุขภาพประชาชน ระบบหลักประกันสุขภาพและนวัตกรรมของประเทศไทย สร้างความเสียหายเป็นราว 2 แสนล้านและเสียหายระยะยาว
เนื่องจากต้องการให้ประเทศไทยมีการแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตร ให้ขยายเวลาสิทธิบัตรออกไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เสียหายราว 40,000 ล้านบาท
- การขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แม้เป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้วก็ห้ามเจ้าอื่นมาขึ้นทะเบียนยา เสียหายราว 60,000 ล้านบาท
- กรณีที่มีข้อค้นพบใหม่แค่เรื่องการใช้ เช่น ยาผู้ใหญ่ เป็นยาเด็ก ก็ต้องให้สิทธิบัตรอีก 20 ปี
- กรณีเครื่องมือแพทย์เสมือนใหม่ก็จะบังคับให้ไทยต้องรับ
- และห้ามไม่ให้ประเทศไทยมีการเจรจาต่อรองราคายา ก็จะกระทบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เสียหายราว 1 แสนล้านบาท เป็นต้น
ส่วนเรื่อง "อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991” หากมีการแก้ไขก็จะสร้างความเสียหายราว 1.6 แสนล้านบาท ทำให้เมล็ดพันธุ์ราคาแพง เพราะเกษตรกรพึ่งตัวเองเรื่องเมล็ดพันธุ์ได้น้อยลง ปรากฎเรื่องนี้แล้วกับเกษตรเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยมีเกษตรกร 20 ล้านคน แม้มีความจำเป็นต้องเจรจาเชิงธุรกิจ แต่ควรยึดแนวทางเหมือนประเทศอินเดียและญี่ปุ่น ที่ไม่เจรจาเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร
“ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ควรมีการนำเข้าหารือในรัฐสภา ซึ่งสามารถดำเนินการให้ทันเงื่อนเวลา 1 ส.ค.2568 เพราะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร มีคณะอนุกรรมาธิการ Trade War มีการทำข้อมูลไว้พร้อม”น.ส.กรรณิการ์กล่าว
เพิ่มข้อเสนอในการเจรจา
สิ่งที่สภาองค์กรของผู้บริโภคมองเห็นถึงมาตรการอื่น 2 เรื่องที่รัฐบาลควรดำเนินการและนำไปเสนอให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นถึงความจริงจังของประเทศไทย คือ 1.แนวทางการจัดการเรื่องสินค้าผ่านลำ หรือสินค้าสวมสิทธิ์ที่เข้มข้น จริงจัง เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการดำเนินการเรื่องนี้น้อย
ทั้งที่ คาดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 27 % ใกล้เคียงเวียดนามอยู่ที่ 28 %และกรณีภาษีตอบโต้ของสหรัฐ จะเห็นได้ชัดเจนว่ามุ่งเป้าประเทศที่ผูกพันกับประเทศจีนสูง โดยเฉพาะเรื่องของห่วงโซ่อุปทาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการเรื่องนี้ให้ดี หากต้องการภาษีที่ต่ำกว่า 36 %
และ2.ประกาศเปิดเสรีโทรคมนาคม ธนาคาร พลังงาน โดยเฉพาะโทรคมนาคม ซึ่งกฎหมายไทย กำหนดให้คนที่จะเข้ามาทำกิจการคลื่นโทรคมนาคมต้องถือสัญชาติไทย ขณะที่สหภาพยุโรป สหรัฐต้องการให้เปิดเสรี เพราะไม่ต้องการทำธุรกิจแบบนอมินี
ที่สำคัญ เมื่อเปิดเสรีนี้แล้ว จะไม่ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเหมือนตอนนี้ที่มีเพียง 2 ราย ทำให้เน็ตช้าและแพง และประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ก็มีการเปิดเสรีเรื่องนี้แล้ว ส่วนที่กังวลเรื่องการรั่วไหลของข้อมูล ก็ต้องมีมาตรการและเงื่อนไขในการบังคับ
“ไทยไม่ได้อยู่ในภาวะจำยอม แต่ต้องมีการเจรจาที่ดีกว่านี้ มีหลายเรื่องที่สามารถเสนอในการเจรจาได้ ไม่เฉพาะเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ แต่ต้องอาศัย Political Will สูงมากๆ เมื่อไทยอยู่ตรงกลางเขาควายระหว่างสหรัฐและจีน “น.ส.กรรณิการ์กล่าว