พาณิชย์ เตรียม 3 มาตรการเยียวยาผลกระทบภาษีทรัมป์ พร้อมเร่งเจรจาเอฟทีเอ ยันทีมเจรจาตั้งเป้าได้อัตราภาษีต่ำสุด
นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ "The Art of The (Re)Deal" ซึ่งจัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจ เครือเนชั่น ณโรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ว่า ปัจจุบันประเทศที่ปิดดีลภาษีเสร็จสิ้นแล้วมี 2 ประเทศศือ สหราชอาณาจักร และเวียดนาม ล่าสุดสหรัฐประกาศเก็บภาษีญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ 25% ขณะที่ประเทศอื่นๆสหรัฐได้ประกาศบังคับใช้ภาษีในวันที่ 1 ส.ค. โดยประเทศไทยโดนเก็บภาษี 36% ซึ่งเราอยู่ในระหว่างการเจรจาโดยมีเป้าหมายให้ได้อัตราภาษีต่ำที่สุดเลือกเพื่อให้ได้เปรียบประเทศคู่แข่ง ซึ่งการเจรจาไม่ใช่แค่ภาษีแต่โยง Local Content
ในส่วนของมาตรการเฝ้าระวังสินค้าสวมสิทธิ นั้รทางกรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้ออกใบ C/O สำหรับสินค้าที่จะส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเบื้องต้นมีสินค้าที่เฝ้าระวังจำนวน 49 รายการและขณะนี้กำลังพิจารณาสินค้าเฝ้าระวังเพิ่มเติมอีก
นายรัชวิชญ์ กล่าวว่า สำหรับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์ ทางกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับทุกเซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบโดยแบ่งออกเป็น 3 ได้แก่ 1.การช่วยเหลือด้านการเงินให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟโลน 2.การหาตลาดใหม่ใหม่ให้กับผู้ประกอบการโดยมีเป้าหมายใน 5 ตลาดประกอบด้วย ตลาดลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ แอฟริกาและยุโรป 3.การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการซื้อขาย
นอกจากนี้ กระทรวงยังเร่ง
เจรจาความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟที เอซึ่งเป็นเครื่องมือในการดึงดูดการลงทุน ซึ่งปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้า FTA คิดเป็น 60% ของการค้าทั้งหมดของไทย โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนนี้เป็น 80% ภายในปี 2570 ล่าสุดเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาไทยได้ลงนามเอฟทีเอไทย-เอฟต้า ซึ่งมี 4 ประเทศในยุโรป ที่ไม่ใช่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป และกำลังเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูซึ่งได้เจรจาไปแล้ว 6 รอบสรุปข้อบทไปหลายเรื่องโดยตั้งเป้าว่าจะปิดดีลให้ได้ภายในปีนี้
“ การเจรจาภาษีสหรัฐทีมเจรจาทำอย่างเต็มที่ไม่เฉพาะแค่กระทรวงพาณิชย์แต่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชนได้ร่วมมือกันโดยมีเป้าหมายให้ได้อัตราภาษีที่ต่ำที่สุดต้องยอมรับว่าการเจรจาเป็นเรื่องที่ยากต้องใช้เวลาแต่ยืนยันว่าทีมเจรจาจะทำอย่างรอบคอบและดีที่สุด”นายร้ชวิชญ์ กล่าว