รายงานเผย หนุ่มสาวเกาหลีใต้ที่ยังโสดและอยู่กับครอบครัว ไม่อยากทำงานเพิ่มมากขึ้น
รายงานฉบับใหม่จากสถาบันแรงงานเกาหลี (Korea Labor Institute) ระบุว่า หนุ่มสาวเกาหลีใต้ที่ยังไม่แต่งงานและอาศัยอยู่กับพ่อแม่ มีแนวโน้มไม่ต้องการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
รายงานซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2025 วิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2015-2024 จากการสำรวจประชากรว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ โดยมุ่งเน้นกลุ่มประชากรอายุ 19-39 ปี ที่ไม่อยู่ในสถานะการจ้างงานและไม่ได้หางานทำ
ในปี 2015 เยาวชนที่ไม่ทำงานและอาศัยอยู่กับครอบครัว 56.1% แสดงความตั้งใจอยากหางานทำ ต่อมาในปี 2024 ตัวเลขนี้ลดลงเหลือ 50% สะท้อนว่า ความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของคนหนุ่มสาวลดลงตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
คนที่อยากทำงานแต่ "ไม่เชื่อว่าจะมีโอกาสได้งาน" เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปี 2015 มีเพียง 5,382 คน ที่มีความต้องการทำงานแต่คิดว่าไม่มีโอกาส ต่อมาในปี 2024 เพิ่มขึ้นเป็น 175,000 คน สาเหตุหลักมาจากการขาดประสบการณ์ทำงาน วุฒิการศึกษาไม่ตรงกับตำแหน่งงานที่มี และการประเมินว่าไม่มีโอกาสจากระบบตลาดแรงงาน ในทางกลับกัน จำนวนผู้ที่รู้สึกว่าตนเองยังมีโอกาสได้งาน กลับลดลงจาก 79,643 คน เหลือเพียง 14,882 คน
เยาวชนกว่า 2.73 ล้านคน "ไม่คิดจะหางานเลย" คิดเป็น 77% ของประชากรวัยหนุ่มสาวที่อยู่นอกระบบแรงงาน ในปี 2024 ขณะที่ประมาณ 20% ยืนยันว่า "อยากทำงาน" แต่ ไม่ได้หางานอย่างจริงจัง ภายใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ส่วนคนที่ตอบว่า “ถ้ามีงานก็พร้อมทำ” ลดจาก 54% เหลือเพียง 31% โดยลดลงอย่างชัดเจนในช่วงปี 2015–2024
นักวิจัยเชื่อว่าเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ทัศนคติและโอกาสในตลาดแรงงานเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง
เหตุผลหลักของการอยู่นอกระบบแรงงาน คือ ต้องการพักผ่อน เรียนต่อ และเลี้ยงลูก สัดส่วนคนที่อ้างว่า “เลี้ยงลูก” เป็นเหตุผลหลัก ลดลงจาก 26.8% เหลือ 13.8%
ขณะที่คนที่ระบุว่าอยู่ในสถานะ “พักผ่อน” หรือ “ไม่ทำอะไร” เพิ่มขึ้นจาก 10.5% เป็น 20%
ส่วนผู้ที่ยังศึกษาอยู่ระดับมหาวิทยาลัยหรืออื่น ๆ คงที่อย่างมีเสถียรภาพตลอด 10 ปี
สถาบันแรงงานเกาหลีระบุว่า พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของเยาวชน มีแนวโน้มจะนิ่งหลังอายุ 26 ปี ก่อนหน้านั้น คนหนุ่มสาวมักมีประสบการณ์ตกงานบ่อยหรือเปลี่ยนงานระยะสั้น แต่หลังอายุ 25-26 ปี กลุ่มหนึ่งจะเข้าสู่การจ้างงานที่มั่นคง อีกกลุ่มหนึ่งจะกลายเป็น “กลุ่มอยู่นอกระบบแรงงานแบบถาวร” เพราะ ขาดประสบการณ์และโอกาสในการเริ่มต้น
นักวิจัยชี้ว่า มาตรการทั่วไปที่พุ่งเป้าลดจำนวนเยาวชนว่างงาน อาจไม่ตอบโจทย์ในระยะยาว หากไม่สามารถกระตุ้นแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมในระบบแรงงานได้อย่างตรงจุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โปแลนด์ซื้อรถถัง Hyundai K2 อีก 180 คัน เสริมกำลังพลกองทัพบก มูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท
- อัตราการเกิดน้อย คนแก่เยอะ ประชากรเกาหลีลดฮวบ อีก 100 ปี เหลือเพียง 15% ของปัจจุบัน
- ประชากรเกาหลีใต้อาจลด 85% ในอีก 100 ปีข้างหน้า
- "ยุน ซ็อก-ยอล" ท้าทายหมายเรียกไม่ไปให้ปากคำคดีประกาศกฎอัยการศึก
- สินค้าเทคฯ ดันเกาหลีใต้ส่งออก มิ.ย.ฟื้น