นิทาน 'เด็กปลอดพอด' สุดปัง! ช่วยเด็กปฏิเสธบุหรี่ไฟฟ้าได้จริง
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 ก.ค. 2568 ที่โรงแรมแม่น้ำ รามาดา พลาซา กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จัดงานแถลงข่าว “พลังเด็ก พลังเครือข่ายรู้ทันทอยพอด” เปิดผลสำรวจทักษะพื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy : MIDL) และพฤติกรรมสุขภาพจากการใช้ชุดนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า “เด็กปลอดพอด” พร้อมสานพลังภาคีเครือข่าย 20 องค์กร ประกาศมาตรการ “เด็กปลอดพอด” เพื่อยกระดับการรับรู้ของสาธารณชนต่อภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กอย่างเร่งด่วน
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย กลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน จากโรงเรียน 87 แห่งทั่วประเทศ (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 ที่สำคัญยังพบว่า มีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี สาเหตุจากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเด็กและเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น มีกลิ่นหอม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พ่อแม่เซฟลูก! บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายเพียบ 'ทอยพอด' พังสมองเด็ก
สัญญาณเตือน 'มะเร็งปอด' เสียงแหบ 1 ในอาการ ปัจจัยเสี่ยงมากกว่าบุหรี่
นิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า 'เด็กปลอดพอด'
จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. จึงพัฒนาชุดนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ชื่อว่า “เด็กปลอดพอด” เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารการรู้เท่าทันภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีสถานศึกษาและชุมชน 233 แห่ง ใช้หนังสือนิทานสื่อสารกับเด็กช่วงปฐมวัยและประถมศึกษาให้เรียนรู้และเฝ้าระวังภัยบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมติดตามศึกษาผลสำรวจในเด็กๆ อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ผลสำรวจทักษะพื้นฐาน MIDL และพฤติกรรมสุขภาพ ดำเนินการเก็บข้อมูลประเมินผลหลังการใช้หนังสือนิทาน ผ่านรูปแบบการประเมินพฤติกรรม การสังเกต การสนทนา การตอบคำถาม และการร่วมกิจกรรม จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนระดับเตรียมอนุบาล อนุบาลศึกษา และประถมศึกษา จำนวน 567 คน พบว่ากลุ่มเด็กเตรียมอนุบาล สามารถเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้าได้ 2.45 คะแนน จาก 3 คะแนน กลุ่มเด็กอนุบาลได้ 2.87 คะแนน โดยสามารถเลือกได้ว่าควรหรือไม่ควรใช้บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบทอยพอด 2.45 คะแนน ซึ่งสามารถบอกความแตกต่างระหว่างทอยพอดกับตุ๊กตาธรรมดาได้
บ้านเด็กเล็กปลอดควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
ในขณะที่กลุ่มเด็กประถมศึกษาได้ 2.83 คะแนน สามารถบอกได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายกับร่างกาย ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าชุดนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า สามารถสร้างความตระหนักรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี โดยในแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการที่แตกต่างกันทั้งด้านความตระหนักรู้ ทักษะการคิด และพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเปิดอ่านและดาวน์โหลดฟรีได้ที่เว็บไซต์ www.happyreading.in.th
น.ส.เอมอร เสือจร ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวว่า สถ. มีนโยบายสำคัญ คือ การส่งเสริมแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีแนวทางการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานภายใต้ 2 มาตรการ ได้แก่ 1.การสร้างความตระหนักรู้ในสื่อสาธารณะเป็นวงกว้าง 2.การรณรงค์ป้องปรามภายในโรงเรียนและสถานศึกษา มุ่งส่งเสริมให้ครูในโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกัน สนับสนุนให้มีกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ในเด็ก รวมทั้งการอบรมเตือนภัยและปกป้องเด็กจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นการป้องกันยาเสพติดในเด็ก
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การปลูกฝังค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กและเยาวชนเป็นมาตรการสำคัญ ที่นำไปสู่การลดอัตราการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในระยะยาว มูลนิธิฯ ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
รณรงค์และดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความตื่นตัวให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ควันบุหรี่มือสอง มือสามต่อเด็ก ทำพื้นที่รอบตัวเด็ก โดยเฉพาะ “บ้านเด็กเล็กปลอดควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” และส่งเสริมการใช้นิทานให้เด็กเล็กเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า สนับสนุนให้เด็กเป็นทูตในการรณรงค์สื่อสารไปยังพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนในชุมชน
นายพรนิวัฒน์ แป้นเพชร รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สนศ. มีมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยให้ความสำคัญกับการติดตามสถานการณ์และแนวโน้มของเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้า บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานภายนอก เพื่อดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ
กำหนดให้โรงเรียนในสังกัดจัดตั้งกลไกการเฝ้าระวังภายในโรงเรียน มีการตรวจกระเป๋านักเรียนก่อนเข้าโรงเรียน และจัดทำกล่อง “Dropbox บุหรี่ไฟฟ้า” สำหรับให้นักเรียนที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถนำมาส่งคืนโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน จัดครูเวรและครูประจำชั้นตรวจคัดกรองและป้องกันก่อนเข้าโรงเรียนรวมทั้งเฝ้าระวังจุดเสี่ยงภายในโรงเรียน ดำเนินงานตามนโยบายอย่างเคร่งครัด
ดร.นัยนา ตันเจริญ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ให้ความสำคัญในการยกระดับการดูแลเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณรอบสถานศึกษา โดยมีแนวทางให้สถานศึกษาในสังกัด ดำเนินงานป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียน และประสานสถานีตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ วางแผนร่วมออกตรวจบริเวณหน้าประตูโรงเรียน รวมทั้งในและนอกสถานศึกษาทุกวัน