อว. แจงงบ 3 โครงการ ไม่มีฮั้ว ไม่เกี่ยวประมูล 4 หมื่นล้าน
วันที่ (1 กรกฎาคม) ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยกรณีที่มีรายงานข่าวว่ารัฐบาลมีคำสั่งระงับการประมูลโครงการด้านเทคโนโลยีการศึกษามูลค่ารวมกว่า 40,000 ล้านบาทของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวง อว. เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่องการล็อกสเปกเอื้อประโยชน์เอกชน โดยยืนยันว่า โครงการในส่วนของกระทรวง อว. ที่ปรากฏชื่อในข่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกกล่าวหา
ศ.ดร.ศุภชัย ระบุว่า โครงการที่เป็นข่าว ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบสะสมทักษะ (Skill Portfolio), โครงการเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และโครงการซื้อครุภัณฑ์เพื่อพัฒนาเครือข่ายการศึกษาแห่งชาติ (NEdNet) โดยมีเพียงโครงการพัฒนาระบบสะสมทักษะที่อยู่ระหว่างการเสนอของบประมาณปี 2569 เพื่อใช้เช่าระบบคลาวด์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติงบฯ แต่อย่างใด
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมัยใหม่ของกำลังคนไทยในระยะยาวในรูปแบบเดียวกับโครงการ Skill Future ของสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ซึ่งการพิจารณางบประมาณยังขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการฯ
สำหรับโครงการเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ศ.ดร.ศุภชัย เปิดเผยว่า เป็นโครงการระดับโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ของประเทศที่ได้รับอนุมัติในหลักการตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตั้งเป้าผลิตชิ้นส่วนกว่า 50% ภายในประเทศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขั้นสูงในไทย ทั้งนี้ งบประมาณหลักจะมาจากเงินกู้ของ JICA ประเทศญี่ปุ่น แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับงบประมาณหรืออนุมัติเงินกู้จากรัฐบาล
ขณะที่โครงการ NEdNet เป็นโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อพัฒนาเครือข่ายการศึกษาแห่งชาติ ระยะที่ 7 ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 โดยมีเป้าหมายทดแทนอุปกรณ์เครือข่ายที่หมดอายุ พร้อมปรับปรุงช่องสัญญาณให้มีขนาด 100 Gbps รองรับสถาบันอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และหน่วยงานวิจัยในภาคตะวันออก รวมถึงการส่งข้อมูลพันธุกรรมประชากรไทยจากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ผ่านเครือข่ายเพื่อการศึกษา โดยโครงการได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 และเป็นไปตามระเบียบการใช้งบประมาณต่ำสุด
“ทั้ง 3 โครงการที่ถูกกล่าวถึงนั้นล้วนมีความซับซ้อนในเชิงเทคนิคสูง และต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะทาง ทำให้ยากที่จะมีเอกชนรายเดียวรับงานทั้งหมดได้ตามข้อกล่าวหา กระทรวง อว. ยืนยันว่าการดำเนินโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างโปร่งใส ระมัดระวัง และยึดหลักประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย