เอกชนเกาะติดเหตุปะทะ 'ไทย-กัมพูชา' เผยธุรกิจกระทบตั้งแต่มิ.ย.
ธุรกิจยังไม่กระทบ ‘คาราว-มาม่า’ เฝ้าระวังสถานการณ์ไทย-กัมพูชา
นายร่มธรรม เสถียรธรรมะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาที่รุนแรงขึ้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท ที่มีการทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดงในประเทศกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ทำการสต๊อกสินค้ารองรับความต้องการผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงขนส่งสินค้าตามปกติ
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเฝ้าระวังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างใกล้ชิด และคาดหวังให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว และเป็นกำลังใจให้กับผู้รับผิดชอบทุกภาคส่วน รวมถึงทหาร ขอให้ทุกคนปลอดภัย เกิดความสูญเสียน้อยสุด
ทั้งนี้ คาราบาว มีการทำธุรกิจในประเทศกัมพูชายาวนานกว่า 20 ปี และบริษัทได้ลงทุนระดับพันล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง คาดว่าจะเดินเครื่องการผลิตช่วงปลายปี 2568 ซึ่งหลังจากมีการปิดด่านชายแดนต่างๆในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีการสต๊อกสินค้าเพิ่มให้รองรับการจำหน่ายสินค้าราว 3 เดือน หรือคิดเป็น 120 ล้านกระป๋อง จากเดิมสต๊อกเพียง 40 ล้านกระป๋องต่อเดือน นอกจากนี้ เครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดง ยังเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในกัมพูชา มียอดขายต่อปี 400-500 ล้านกระป๋อง หรือราว 2,000 ล้านบาท
ขณะที่มาม่า ทำธุรกิจในประเทศกัมพูชามากว่า 20 ปี มีโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศดังกล่าว รวมถึงกัมพูชาเป็นตลาดสำคัญอย่างมาก ส่งออกดีสุดในโลก และมาม่าเป็นผู้นำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในกัมพูชา ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 80%
อินเด็กซ์ ครีเอทีฟฯ ยกเลิกงานเทรดแฟร์
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคินผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อมีการปิดด่านการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้บริษัทเลื่อนการจัดงานอีเวนต์ในประเทศกัมพูชา แต่จากสถานการณ์ล่าสุด ต้องยกเลิกงานในปี 2568 สำหรับงานที่อินเด็กซ์ฯ จัดในกัมพูชา จะเป็นงานเทรดแฟร์ต่างๆ เช่น Cambodia Helath&Beauty Expo และ Cambodia Architect&Expo
ธุรกิจสะเทือนตั้งแต่ปิดด่านการค้าชายแดน
แหล่งข่าววงการธุรกิจ กล่าวว่า บริษัทมีฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศกัมพูชา จากความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา ทำให้มีการปิดด่านการค้า กระทบยอดขายบริษัทตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าราว 100 ล้านบาท และทำให้การส่งออกสินค้าเดือนมิถุนายนชะลอตัว แต่บริษัททยอยส่งออกสินค้าในเดือนกรกฎาแล้ว
ทั้งนี้ จากปัญหาไทย-กัมพูชา ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า แต่ผู้ประกอบการไม่ต้องการแสดงความเห็น เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ขององค์กร ตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องกัดฟัน อดทน และยึดถือเป้าหมาย ผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะด้านความมั่นคงแห่งชาติ การดูแลอธิปไตย จึงไม่ต้องการเป็นภาระให้กับหน่วยงานรัฐ
“ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ธุรกิจได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว จากการค้าชายแดน จากการส่งออกที่ล่าช้ามากขึ้น 1 เดือน เอกชนรายใหญ่ไม่ใช่กระทบ แต่เลือกที่จะสนับสนุนให้ภาครัฐจัดการภาพรวม เพื่อให้ประเทศไปได้ คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง เอกชนยังมีศักยภาพดูแลตัวเองในมิติอื่น”
รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมา นักลงทุนไทยมีการเข้าไปลงทุนที่กัมพูชามานาน โดย 7 เซ็กเตอร์ มีบทบาทสำคัญ เช่น พลังงาน โดยกลุ่มปตท. โรงแรม กลุ่มไทยนครพัฒนา ค้าปลีก มีกลุ่มซีพี เปิดทั้งแม็คโคร และเซเว่นอีเลฟเว่น รวมถึงกลุ่มของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดบิ๊กซี ธุรกิจเกษตร มีซีพี เบทาโกร และยังมีธุรกิจบริการเข้าไปปักหมุด เช่น ร้านอาหารเดอะพิซซ่า คัมปะนี บาร์บีคิวพลาซ่า โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ฯ