“ตาแดง” ระบาด แค่ฝนสาดเข้าตาก็เสี่ยงติดเชื้อไวรัส–แบคทีเรียได้
โรงพยาบาลวัดไร่ขิง เตือนประชาชนให้ระวัง “โรคตาแดง” ที่มักระบาดหนักในช่วงฤดูฝน เนื่องจากอากาศที่ชื้นสูงและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเอื้อต่อการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อโรคหลายชนิด ทั้งไวรัส แบคทีเรีย และสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งสามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็วในกลุ่มคนทุกช่วงวัย หากมีอาการตาแดง น้ำตาไหล หรือระคายเคืองตา ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ช่วงหน้าฝนนี้ประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเองให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของอากาศได้ โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันที่ต้องได้รับการเสริมด้วยการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันโรคที่มาพร้อมกับฤดูฝน ซึ่งไม่ได้มีเพียงโรคทางเดินหายใจหรือโรคผิวหนัง แต่ยังรวมถึงโรคทางตาด้วย
นายแพทย์กิตติวัฒน์ มะโนจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพอากาศในฤดูฝนที่เย็นลงและอับชื้น เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ทำให้โรคตาแดงซึ่งเป็นการอักเสบของเยื่อบุตามีโอกาสแพร่ระบาดสูง
โดยเฉพาะเมื่อฝนตกแล้วน้ำฝนชะล้างฝุ่นหรือสิ่งสกปรกจากพื้นผิวต่าง ๆ และกระเด็นเข้าตา หรือเมื่อผู้คนสัมผัสสิ่งปนเปื้อนแล้วขยี้ตาโดยไม่ได้ล้างมือ ยิ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ อาการอักเสบที่เกิดขึ้นอาจทำให้เคืองตา ตามัว และมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ
นายแพทย์เอกชัย อารยางกูร จักษุแพทย์ และรองผู้อำนวยการด้านจักษุวิทยา เผยว่า โรคตาแดงมีทั้งสาเหตุจากไวรัส แบคทีเรีย และภูมิแพ้ โดยมีอาการแตกต่างกันออกไป เช่น
- หากเกิดจากเชื้อไวรัส จะมีอาการตาแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม ต่อมน้ำเหลืองที่กกหูโต ร่วมกับมีไข้ ไอ หรือเจ็บคอ
- หากเกิดจากแบคทีเรีย จะมีขี้ตาสีเขียวหรือเหลือง น้ำตาไหล ตาแฉะ มองเห็นไม่ชัด
- หากเกิดจากภูมิแพ้ จะมีอาการคันตา แสบตา น้ำตาไหลเรื้อรัง
โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายภายใน 1–3 วันหลังสัมผัสเชื้อ และติดต่อไปยังผู้อื่นได้ยาวนานถึง 14 วัน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมแออัด หรือหากใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือแม้แต่หมอนและแว่นตา
วิธีป้องกันโรคตาแดงในช่วงหน้าฝนนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาโดยตรง
- หมั่นล้างมือให้สะอาด
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในช่วงที่มีการระบาด
- ควรใส่แว่นกันแดดหากต้องอยู่ในที่ที่มีลมหรือฝุ่น
- หลีกเลี่ยงฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา
ส่วนแนวทางการรักษา หากพบว่าตนเองมีอาการตาแดง ควรพักผ่อนหรือลางานเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และสามารถใช้น้ำตาเทียมบรรเทาอาการระคายเคืองเบื้องต้นได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นใน 1–2 วัน ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หากรักษาไม่ถูกวิธีอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางตาได้