สปสช.จ้าง 1.8 หมื่นคน 'Caregiver' ดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง ติดเตียง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม บอร์ด สปสช. ครั้งที่ 7/2568 เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โครงการค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พ.ศ. 2568 และได้มีมติเห็นชอบ “หลักการของ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พ.ศ. ….”
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยจะมุ่งสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (Caregiver) เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดภาระของครอบครัวและภาครัฐ พร้อมทั้งสร้างอาชีพและรายได้ในระดับชุมชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รู้ก่อนปังก่อน! ‘Epigenetics’ ตัวช่วยวางแผนสุขภาพเฉพาะบุคคล
- เช็กเลย! ทำไม? 'อ้วนง่าย ผอมยาก' คุมอาหารแล้วแต่น้ำหนักไม่ลง
สปสช.จ้างงาน Caregiver ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง
ทั้งนี้ ต่อมา “คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ได้มีมติเห็นชอบ “ข้อเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล” โดยรวมถึง “ข้อเสนอค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง” ของ สปสช. ด้วย ก่อนที่เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2568 ครม. จะมีมติเห็นชอบข้อเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ภายใต้วงเงิน 1.57 แสนล้านบาท โดย สปสช. ได้รับอนุมัติโครงการในด้านเศรษฐกิจชุมชน เป็นวงเงิน 1,115 ล้านบาท
ดังนั้น ทาง สปสช. จึงได้จัดทำแนวทางการบริหารค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิง เพื่อการจ้างงาน Caregiver ตามนโยบายดังกล่าว นอกเหนือจากงบ “กองทุนระบบดูแลระยะยาวสำหรับดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” (LTC) ที่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยมีหลักการสำคัญคือการจ้างจะอ้างอิงระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นและการเบิกค่าใช้จ่าย พ.ศ. 2562
“จากงบประมาณในส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ สปสช. ได้รับมอบมานี้ จะทำให้เกิดการจ้าง Caregiver เพิ่มขึ้นประมาณ 1.8 หมื่นคน สำหรับลงไปดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 106,806 ราย และไม่ได้ทำปีนี้เพียงปีเดียวแล้วจบ เพราะ สปสช. ได้เตรียมการตั้งงบสำหรับจ้าง Caregiver เหล่านี้ในปีงบประมาณถัดไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้มีการทำแผนจ้าง Caregiver ที่เป็นแผนระดับประเทศซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอีกส่วนหนึ่ง โดยสัดส่วน Caregiver ต่อผู้มีภาวะพึ่งพิงนี้จะให้ทางท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดความต้องการโดยอ้างอิงจากข้อมูลจำนวนผู้มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ เพื่อนำเสนอว่าในพื้นที่ควรมีจำนวน Caregiver กี่คน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการจ้างงาน Caregiver นี้ ยังต้องไม่เกิดการจ้างงานซ้ำซ้อน และการจ่ายยังคงยึดตามหลักการในโอนงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งหมายรวมเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร (กทม.) และจะจัดระบบให้มีการโอนค่าจ้างงานเป็นรายเดือน ส่วนเงื่อนไขการจ่ายค่าบริการให้ผู้ที่จะได้รับการจ้างเป็น Caregiver ต้องผ่านอบรมหลักสูตรของกรมอนามัย หรือหลักสูตรผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง หรือหลักสูตรอื่นที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงต้องไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่มีตำแหน่งหรือเงินประจำ ตลอดจนการเป็นผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ หรือในรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยได้รับค่าตอบแทนหรือค่าป่วยการเป็นประจำ
“เดิมทีระบบการสร้าง Caregiver จะเป็นในลักษณะอาสาสมัคร ซึ่งเป็นระบบที่ไม่จูงใจมากพอ เพราะการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ต้องใช้ทักษะและใช้เวลาดูแลอย่างยาวนาน ดังนั้นงบประมาณส่วนนี้ที่ สปสช. ได้รับมอบ จะดำเนินการเพื่อจ้าง Caregiver ซึ่งประโยชน์นอกจากจะทำให้เกิดระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างการจ้างงานในประเทศด้วย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว