ผู้อพยพนั่งเรือยางเข้า ‘อังกฤษ’ ทุบสถิติ รัฐบาลออกกฎหมายสกัดกั้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2025 ผู้อพยพเกือบ 20,000 คนเดินทางมายัง “สหราชอาณาจักร” ผ่าน “ช่องแคบอังกฤษ” ด้วยเรือยางขนาดเล็ก เพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2024 แม้ว่ารัฐบาลจะให้สัญญาว่าจะทลายแก๊งที่พาผู้อพยพมายังสหราชอาณาจักร
ตัวเลขอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าผู้อพยพ 19,982 คนข้ามช่องแคบอังกฤษด้วยเรือยางขนาดเล็กระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย. 2025 ซึ่งมียอดเกินครึ่งของจำนวนผู้อพยพในปี 2024 ที่มีผู้อพยพเกือบ 37,000 คนที่ถูกตรวจพบว่าข้ามช่องแคบอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้อพยพสูงสุดประจำปีคือปี 2022 ที่มีผู้เดินทางมาถึง 45,755 คน นับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลครั้งแรกในปี 2018 โดยรวมจนถึงปัจจุบันมีผู้อพยพที่มีผู้คนเดินทางมาด้วยเรือยางขนาดเล็กมากกว่า 170,000 คน
นายกรัฐมนตรีเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการจัดการกับเรือยางขนาดเล็ก พร้อมเตือนว่าสถานการณ์ในช่องแคบอังกฤษกำลังแย่ลง เนื่องจากสภาพอากาศที่ดีขึ้นและเทคนิคใหม่ ๆ ในการบรรทุกผู้คนขึ้นเรือช่วยให้ผู้ลี้ภัยสามารถข้ามช่องแคบอังกฤษได้มากขึ้น โดยรัฐบาลได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อให้ผู้ที่เดินทางมาสหราชอาณาจักรด้วยเรือยางขนาดเล็กหมดโอกาสได้เป็นพลเมืองอังกฤษได้
ภายใต้ข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองจะถูกห้ามเดินทาง ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย และจำกัดการใช้โทรศัพท์ พร้อมกำหนดโทษความผิดฐานทำให้ชีวิตตกอยู่ในอันตรายในทะเลจะมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ส่วนผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานเตรียมการลักลอบขนคนเข้าเมือง เช่น การซื้อชิ้นส่วนเรือ จะต้องถูกจำคุกสูงสุด 14 ปี
กลุ่มผู้อพยพเดินบนชายหาดเปอตีต์ฟอร์ทฟิลิปป์ ในฝรั่งเศส เพื่อไปยังเรือยางเป่าลม สำหรับข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังสหราชอาณาจักร
เครดิตภาพ: REUTERS/Gonzalo Fuentes
โฆษกของกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า “เราทุกคนต้องการยุติการข้ามพรมแดนด้วยเรือขนาดเล็กที่อันตราย ซึ่งคุกคามชีวิตและทำลายความมั่นคงของชายแดนของเรา กลุ่มค้ามนุษย์ไม่สนใจว่าผู้คนเปราะบางที่พวกเขาแสวงหาประโยชน์จะอยู่หรือตาย ขอเพียงพวกเขาจ่ายเงิน และเราจะไม่หยุดที่จะถอนรากถอนโคนธุรกิจเหล่านี้และนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”
ก่อนหน้านี้ ผู้ลี้ภัยที่เข้าประเทศมาด้วยการนั่งเรือเล็กสามารถยื่นขอสัญชาติได้หลังอยู่จาก 10 ปี แต่ข้อเสนอใหม่นี้จะทำให้ผู้ลี้ภัยไม่มีทางได้เป็นพลเมืองอังกฤษ เนื่องจากผู้กระทำความผิดที่ถูกตัดสินจำคุกมากกว่า 1 ปีอาจถูกปฏิเสธการขอสถานะผู้ลี้ภัย และเนรเทศออกนอกประเทศภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย โดยสภาผู้ลี้ภัยประเมินว่าจะมีผู้คนได้รับผลกระทบอย่างน้อย 71,000 คน
รัฐบาลต้องการขยายขอบเขตกฎเกณฑ์ดังกล่าว ให้ครอบคลุมถึงผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัยที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศด้วย พร้อมจัดตั้งหน่วยบัญชาการรักษาความปลอดภัยชายแดนแห่งใหม่ ด้วยงบประมาณ 205 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดการกับเรือยางขนาดเล็กเหล่านี้
ในปี 2023 รัฐบาลอนุรักษนิยมชุดก่อนได้บรรลุข้อตกลงที่จะมอบเงินเกือบ 865 ล้านดอลลาร์ให้กับฝรั่งเศสเป็นเวลาสามปีสำหรับเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อช่วยจับกุมผู้อพยพ แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังต้องการให้ทางการฝรั่งเศสอนุญาตให้ตำรวจสกัดกั้นเรือโดยสารในเขตน้ำตื้น ซึ่งแล่นไปตามแนวชายฝั่งเพื่อไปรับผู้คนที่รออยู่กลางทะเล
กลุ่มผู้อพยพนั่งเรือยางเป่าลม สำหรับข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังสหราชอาณาจักร
เครดิตภาพ: REUTERS/Gonzalo Fuentes
คริส ฟิลป์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเงาคนปัจจุบัน โทษว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้อพยพนั้นมาจากการที่พรรคแรงงานทำลาย แผนการเนรเทศผู้ขอลี้ภัยบางส่วนไปยังรวันดาของรัฐบาลก่อน
“นี่คือปีที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ และกลายเป็นปีที่ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบไร้การควบคุม เรือยังคงเข้ามาเรื่อย ๆ” ฟิลป์กล่าวเสริม
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) หน่วยงานของสหประชาชาติ ติดตามจำนวนคนที่เสียชีวิตระหว่างพยายามข้ามช่องแคบอังกฤษ รวมถึงผู้ที่เดินทางไปยังจุดข้ามช่องแคบและเสียชีวิตจากสถานการณ์อื่น เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือปัญหาสุขภาพ โดย IOM ประมาณการว่ามีผู้อพยพอย่างน้อย 82 รายเสียชีวิตในปี 2024 เป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้
ส่วนยอดผู้เสียชีวิตของปี 2025 จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. มีอย่างน้อย 18 ราย ทำให้จำนวนผู้อพยพที่เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 247 ราย สภาผู้ลี้ภัยกล่าวว่าช่องแคบอันตรายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่แออัดอยู่ในเรือ
ตามตัวเลขของกระทรวงมหาดไทย ชาวอัฟกันเป็นชนชาติที่เดินทางมาด้วยเรือยางขนาดเล็กมากที่สุด ตามมาด้วยชาวซีเรียในอันดับสอง รองลงมาคืออิหร่าน เวียดนาม และเอริเทรีย โดยทั้ง 5 สัญชาตินี้คิดเป็น 61% ของผู้เดินทางมาถึงทั้งหมด
ในปี 2024 มีผู้สถานะผู้ลี้ภัยในสหราชอาณาจักรมาประมาณ 108,000 คน โดยเกือบ 33% เดินทางมาด้วยเรือยางขนาดเล็ก
ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่าผู้คนมากกว่า 24,000 คน ที่ไม่มีสิทธิอยู่ในสหราชอาณาจักรถูกส่งตัวกลับประเทศ ตั้งแต่ที่สตาร์เมอร์เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนก.ค. 2024 โดยตั้งแต่ปี 2018 ถึงเดือนธ.ค. 2024 มีผู้คนที่เดินทางมาสหราชอาณาจักรด้วยเรือยางขนาดเล็กจำนวน 4,995 คนถูกส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3% ของทั้งหมด
รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะยุติการใช้โรงแรมเป็นที่พักสำหรับผู้ขอลี้ภัย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังห้ามผู้ขอลี้ภัยสามารถขอความคุ้มครองภายใต้กฎหมายการค้ามนุษย์และกฎหมายสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์
ก่อนหน้านี้ สตาร์เมอร์เคยเตือนว่าอังกฤษเสี่ยงที่จะกลายเป็น “เกาะแห่งคนแปลกหน้า” แต่ถูกวิจารณ์ว่าสร้างความแตกแยกมากเกินไป และเขาได้แสดงความเสียใจต่อเรื่องนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา