“พาณิชย์”ขอดูไส้ใน ก่อนประเมินผลกระทบ หลังเวียดนาม-อินโดฯ ปิดดีลภาษีสหรัฐฯ
กรมการค้าต่างประเทศเผยยังประเมินผลกระทบไม่ได้ หลังสหรัฐฯ ปิดดีลเจรจาภาษีกับเวียดนามและล่าสุดกับอินโดนีเซีย เหตุต้องดูไส้ในมีอะไรอีกหรือไม่ ส่วนไทยชงข้อมูลถิ่นกำเนิดสินค้าให้ทีมเจรจาแล้ว คาดอาจถูกเรียกเก็บภาษี 2 อัตรา สินค้าไทย และสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากประเทศอื่น ยังหวัดเจรจาจบก่อนเส้นตาย 1 ส.ค.นี้
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศปิดดีลเจรจาภาษีกับอินโดนีเซีย โดยเรียกเก็บที่อัตรา 19% ว่า ขณะนี้สหรัฐฯ ประกาศจบการเจรจาแล้ว มีเวียดนาม ที่ถูกเก็บ 20% สำหรับสินค้าของเวียดนาม และอีก 40% สำหรับสินค้าที่เปลี่ยนถ่ายลำเรือที่เวียดนาม (Transshipment) ซึ่งจะต้องดูว่ามีสินค้าอะไรบ้าง ส่วนอินโดนีเซีย ถูกเก็บที่ 19% สำหรับสินค้าของอินโดนีเซีย แต่ยังไม่เห็นอัตราภาษีสำหรับสินค้า Transshipment จึงยังไม่รู้ว่าจะมีสินค้าใดของไทยบ้างที่จะเสียเปรียบการแข่งขัน ต้องรอดูรายละเอียดที่ชัดเจนออกมาก่อน ถึงจะประเมินได้
ทั้งนี้ ในส่วนของกรม เกี่ยวข้องกับการเจรจากับสหรัฐฯ คือ การจัดทำข้อมูลถิ่นกำเนิดสินค้าของสินค้าไทย ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ตามกฎการใช้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มภายในภูมิภาค (Regional Value Content : RVC) ซึ่งเป็นการใช้สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศไทย (Local Content) และในภูมิภาค รวมถึงจากสหรัฐฯ โดยปัจจุบัน สหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบแบบ RVC เลย ซึ่งต่างจากการส่งออกไปประเทศอื่น เช่น อาเซียน ที่กำหนดสัดส่วนการใช้ RVC ไว้ที่ 40%
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้กฎเกณฑ์ Substantial Transformation หรือสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมีถิ่นกำเนิดจากไทย หากผลิตจากวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบที่ไทยนำเข้าจากประเทศอื่น จะต้องนำวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบนั้น มาเปลี่ยนแปลงสภาพที่มากพอ หรืออย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้ได้เป็นสินค้าสำเร็จรูป ก็จะได้ถิ่นกำเนิดไทย และส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ แต่ก่อนส่งออก กรมจะมีการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองถิ่นกำเนิด หากพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะถือว่าเป็นสินค้าที่แอบอ้างถิ่นกำเนิดไทย ซึ่งจะไม่ได้ใบรับรองส่งออก และส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้
“กรมได้จัดทำข้อมูล RVC ร่วมกับภาคเอกชน และได้ส่งข้อมูล RVC ของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปให้ทีมเจรจาแล้ว โดยการจัดทำ RVC จะเป็นจุดสำคัญที่จะดูว่าศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะถูกเก็บภาษีตอบอัตราเท่าไรก็ตาม ซึ่งจะทำให้โครงสร้างการผลิตสินค้าของไทยต้องปรับเปลี่ยนไปแน่นอน เพราะจะทำให้ไทยใช้วัตถุดิบในประเทศ และของสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมีถิ่นกำเนิดไทย จะต้องดูว่ามูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศ และใช้วัตถุดิบจากสหรัฐฯ เพื่อมาผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ มีเท่าไร ซึ่งสหรัฐฯ จะกำหนดที่เท่าไร ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา”นางอารดากล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่า การเรียกเก็บภาษีตอบโต้จากไทย อาจใช้โมเดลเดียวกับของเวียดนาม ที่กำหนดเป็น 2 อัตรา คือ สินค้าที่ผลิตจากไทย และสินค้าเปลี่ยนถ่ายลำเรือในไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ห่วงว่า อาจมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นมาแอบอ้างถิ่นกำเนิดไทยส่งออกไปสหรัฐฯ และขณะนี้เป็นช่วงท้ายของการเจรจา ซึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา ได้พยายามเจรจาอย่างเต็มที่ และสิ่งที่อยู่ในกระเป๋าเรา หรือสิ่งที่เราเสนอให้สหรัฐฯ เชื่อมั่นว่า จะทำให้เจรจาได้ คาดว่า จะเจรจาจบก่อนวันที่ 1 ส.ค.2568 แน่นอน
นายอำนาจ สุขประสงค์ผล นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า แต่ละปี ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปสหรัฐฯ ทั้งแป้งมันสำปะหลังดิบ และแป้งมันสำปะหลังแปรรูป รวมถึงสารให้ความหวานจากมันสำปะหลัง ประมาณ 100,000 ตัน มูลค่ากว่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไม่เสียภาษีนำเข้า แต่หากไทยถูกเก็บภาษีตอบโต 36% จะเสียศักยภาพการแข่งขันแน่นอน เพราะคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ คือ เวียดนาม จึงอยากให้รัฐบาลเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ให้สำเร็จโดยเร็ว
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO