ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันที่ 14 ก.ค. “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”ที่ระดับ 32.28บาทต่อดอลลาร์
ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 14ก.ค. ที่ระดับ 3228บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 32.44บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 32.37-32.50 บาทต่อดอลลาร์)
แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทว่า เงินบาทกลับสามารถทยอยแข็งค่าขึ้น ตามอานิสงส์การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่ล่าสุด สามารถปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาศัยจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงแถวโซนแนวต้าน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ในการปรับสถานะถือครอง ทยอยขายเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง (Sell on Rally)
สัปดาห์ที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ส่วนเงินดอลลาร์ก็ทยอยแข็งค่าขึ้น
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก พร้อมรอลุ้น รายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่าน รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน
และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนกรกฎาคม และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก่อนจะเข้าสู่ช่วงงดให้สัมภาษณ์ (Blackout period) พร้อมรอติดตาม รายงานสรุปสภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด
ขณะเดียวกัน ตลอดทั้งสัปดาห์ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ กลุ่มการเงิน อย่าง JP Morgan, Bank of America และ Goldman Sachs รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี อย่าง ASML, TSMC และ Netflix เป็นต้น
▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ
อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนมิถุนายน และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ อย่าง อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) เดือนพฤษภาคม ยอดการจ้างงาน และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ในเดือนมิถุนายน เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีและยูโรโซน (ZEW Survey) ในเดือนกรกฎาคม พร้อมทั้งรอติดตามแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากสหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนอัตราภาษีนำเข้าที่จะเรียกเก็บกับสินค้าจากบรรดาประเทศในสหภาพยุโรป
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน ประจำเดือนมิถุนายน อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) รวมถึง ยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports)
พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ส่วนทางฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOJ มีโอกาสราว 60% ที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 25bps ในปีนี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์มองว่า BI อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.50% เพื่อรอประเมินสถานการณ์โดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) เดือนมิถุนายน ที่อาจยังสามารถขยายตัวในเกิน +15%y/y จากอานิสงส์การเร่งนำเข้าสินค้าจากไทย ก่อนเผชิญมาตรการภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ และความต้องการสินค้าเทคโนโลยีของไทย ตามแนวโน้มการเติบโตของ Data Center อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ จะกดดันให้ ยอดการส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
สำหรับ แนวโน้มเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้ชะลอลง โดยเงินบาทยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่า ตามการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้นก็ตาม
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทใกล้โซนแนวต้านในช่วงที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยปรับสถานะถือครอง ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเป็นไปอย่างจำกัด ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
กอปรกับความเสี่ยงการเมืองในประเทศไทย อาจกดดันให้เงินบาทยังมีความเสี่ยงอ่อนค่าลงบ้าง แต่เงินบาทจะอ่อนค่าได้มากน้อยเพียงใด จะขึ้นกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะเห็นเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ จากการประเมินในเชิงเทคนิคัล การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาท (USDTHB) ในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้เงินบาทมีโซนแนวต้านแรกแถว 32.50 บาทต่อดอลลาร์ (โซนแนวต้านถัดไป 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวรับจะอยู่แถว 32.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.10 บาทต่อดอลลาร์)
อนึ่ง เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following เงินบาทจะกลับมาอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน (หรืออ่อนค่าทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน)
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ก็อาจยังคงเป็นปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ในช่วงระยะสั้นต่อไป
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.10-32.80 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.25-32.50 บาท/ดอลลาร์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.43-32.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.42 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ก่อนหน้าที่ 32.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับนโยบายภาษีการค้าของปธน. โดนัลด์ ทรัมป์
อย่างไรก็ดี คงต้องระมัดระวังความผันผวนที่อาจจะกลับไปอ่อนค่าในระหว่างวัน เนื่องจาก Sentiment ของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคขยับอ่อนค่าลง เนื่องจากสัญญาณความตึงเครียดทางการค้ากลับมาเพิ่มสูงขึ้น หลังปธน. ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดา สหภาพยุโรป และประเทศคู่ค้ารายอื่น ๆ รวมถึงอาจจะปรับเพิ่มอัตราภาษีพื้นฐานขึ้นจาก 10% ในปัจจุบันด้วย
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ กับหลายๆ ประเทศคู่ค้า ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย. ของจีน