340 ปี..นับแต่เริ่มติดต่อครั้งแรก ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ สัมพันธ์แน่นแฟ้น
เนื่องในโอกาส “วันชาติฝรั่งเศส” วันที่ 14 กรกฎาคม และเนื่องในวาระที่ปี พ.ศ. 2568 นี้เป็นปีครบรอบ “340 ปี การติดต่อครั้งแรกระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส” รวมถึงในปีหน้า พ.ศ. 2569 จะเป็นวาระครบรอบ “170 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-ฝรั่งเศส” ทาง “เดลินิวส์” ได้รับเกียรติจาก นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ในการเป็นสื่อกลางนำเสนอเรื่องราว “ความสัมพันธ์ ไทย-ฝรั่งเศส” ดังนี้…
“…เป็นที่กล่าวกันอยู่เสมอว่า ประเทศไทยและฝรั่งเศสมีสิ่งที่คล้ายคลึงกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกัน ความหลากหลายทางภูมิประเทศ วิถีชีวิต ตลอดจนเอกลักษณ์ด้านอาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งสองประเทศเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่น อีกทั้งธงชาติของทั้งสองประเทศยังมีสีเหมือนกัน ได้แก่ สีน้ำเงิน ขาว และแดง ประเทศของเราทั้งสองต่างภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำคัญในการส่งเสริมอำนาจละมุนหรือซอฟต์พาวเวอร์ และต่างยึดมั่นในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ
ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจึงเกิดขึ้นและเริ่มต้นเมื่อ 340 ปีก่อน ในช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสมีเป้าหมายด้านการค้าและศาสนาในสยาม ขณะที่สยามก็มีความประสงค์จะกระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในยุโรปเพื่อสร้างดุลอำนาจระหว่างประเทศ และ ในปี พ.ศ. 2568 นี้ ไทยและฝรั่งเศสร่วมรำลึกวาระครบรอบ 340 ปี เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้ส่งคณะราชทูตชุดแรกมายังกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในโอกาสนี้ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์และอัตลักษณ์ภาพเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญดังกล่าว โดยตราสัญลักษณ์ที่ได้รับเลือกสะท้อนถึงการผสมผสานสัญลักษณ์อันทรงคุณค่าของทั้งสองประเทศ อันได้แก่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารในกรุงเทพมหานคร และหอไอเฟลในกรุงปารีส
แม้บริบททางประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงไปมากจากช่วงเวลา 340 ปีที่ผ่านมา และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็มีทั้งช่วงเวลาที่ใกล้ชิดและห่างเหิน แต่สิ่งสำคัญคือ ในปัจจุบันความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและฝรั่งเศสมีพลวัตเชิงบวกอย่างยิ่ง โดยแรงผลักดันสำคัญคือการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดี เอมานูว์แอล มาครง
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 และต่อเนื่องด้วยการเยือนฝรั่งเศสของ นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งนำไปสู่การแสดงเจตจำนงในการยกระดับความสัมพันธ์ ไทย-ฝรั่งเศส สู่ระดับ “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาความร่วมมือเชิงโครงสร้างในระยะยาวในสาขาหลัก อาทิ การป้องกันประเทศ พลังงาน อวกาศ และโครงสร้างพื้นฐาน
ความร่วมมือระหว่างไทยและฝรั่งเศสตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเกื้อหนุนกันในระดับโลก ทั้งไทยและฝรั่งเศสต่างให้ความสำคัญกับระเบียบระหว่างประเทศที่ยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง ซึ่งหมายความว่า ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันในเวทีพหุภาคีต่าง ๆ เพื่อสร้างกลุ่มพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ไม่เพียงแต่ในด้านการค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรับมือกับความท้าทายระดับโลก อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และประเด็นด้านสาธารณสุข
ในระดับภูมิภาค ทั้งสองประเทศต่างต้องการเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เนื่องจากสถานการณ์ในภูมิภาคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งโลก และไทยกับฝรั่งเศสต่างก็มีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจึงดำเนินไปทั้งในระดับทวิภาคี และในบริบทของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งฝรั่งเศสดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 รวมทั้งในบริบทของการเสริมสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
ในด้านเศรษฐกิจ ไทยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับจุดแข็งของฝรั่งเศสในหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการขนส่งและโลจิสติกส์ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงนวัตกรรม ปัจจุบันมีบริษัทฝรั่งเศสมากกว่า 300 แห่งที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยบริษัทหลายแห่งที่มีบทบาทสำคัญในสาขาดังกล่าวมีความประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
รัฐบาลฝรั่งเศสติดตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติของรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ โดยการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปารีส เมื่อปีที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์ของฝรั่งเศสที่สะท้อนทั้งมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าและความคิดสร้างสรรค์ไปทั่วโลก การเปิดอาสนวิหารนอเทรอดาม กรุงปารีส อีกครั้ง ภายหลังการบูรณะเป็นเวลา 5 ปี ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ก็ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเช่นกัน
ฝรั่งเศสดำเนินการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทยผ่านกลไกและสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ เชียงใหม่ เชียงราย และภูเก็ต โรงเรียนฝรั่งเศสนานาชาติ กรุงเทพ เชียงใหม่ เกาะสมุย พัทยา และภูเก็ต สถาบันวิจัยและพัฒนาของฝรั่งเศสที่มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และสถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนด้านสังคมศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาไทยที่ประสงค์ศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส
ในบริบทนี้ ฝรั่งเศสมีความประสงค์จะยกระดับการหารือกับประเทศไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์
กระผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่พระบรมวงศานุวงศ์ไทยทรงมีพระปรีชาสามารถในการสื่อสารภาษาฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี และทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมและวิชาการระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณส่งเสริมการดำเนินงานของสมาคมฝรั่งเศสและสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย (สคฝท.) มาอย่างต่อเนื่อง
การเฉลิมฉลองวาระสำคัญทางประวัติศาสตร์ตลอดปีนี้ รวมถึงการรำลึกวาระครบรอบ 170 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-ฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2569 ถือเป็นโอกาสสำคัญในการริเริ่มกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อาทิ การตีพิมพ์หนังสือ การจัดนิทรรศการ การแสดง และการสัมมนา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น…”.
ทีมวาไรตี้ เดลินิวส์