อิมครานิบ 100 ยารักษาโรคมะเร็งมุ่งเป้าชนิดเม็ด ตำรับแรกที่ผลิตในไทย
การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก หนึ่งในนวัตกรรมการรักษาที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ “ยารักษาโรคมะเร็งชนิดมุ่งเป้า” หรือ Targeted Therapy ซึ่งเป็นการใช้ยาที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งสามารถทำลาย
หรือยับยั้งเซลล์มะเร็งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ช่วยลดการทำลายเซลล์ปกติในร่างกาย เป็นการลดผลข้างเคียงจากการรักษาแบบดั้งเดิม เช่น เคมีบำบัด นอกจากนี้ยังสามารถสามารถปรับแผนการรักษาได้อย่างรวดเร็วตามลักษณะการดำเนินโรคของผู้ป่วยแต่ละราย
ล่าสุดมีการผลิตยาอิมครานิบ 100 ยารักษาโรคมะเร็งมุ่งเป้าชนิดเม็ดตำรับแรกที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย จากพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถ ใน สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
อิมครานิบ 100 ยารักษามะเร็งแบบพุ่งเป้า หมายถึงยาที่เน้นทำลายเฉพาะตัวเซลล์ของมะเร็ง เซลล์ร่างกายปกติจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากยาตัวนี้ ใช้รักษามะเร็งได้หลายชนิดเช่นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งผิวหนัง
จะเริ่มจ่ายยาตัวนี้ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ร่วม 10 เท่า
ล่าสุดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ จักรวาลแห่งน้ำพระทัยพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในพระดำริ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ด้วยพระวิสัยทัศน์กว้างไกลที่จะพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ การสาธารณสุขของประเทศไทยและต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมยาด้วยทรงตระหนักถึงความยากลำบากของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถเข้าถึงเภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง
ทรงมีพระดำริให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ดำเนินโครงการโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ตั้งอยู่ ณ พระตําหนักพิมานมาศ อําเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2563 เพื่อให้เป็นโรงงานต้นแบบผลิตเภสัชภัณฑ์ที่จะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถการวิจัยและการพัฒนาเภสัชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ต่อเนื่องสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่มีความทันสมัยและครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย
ทั้งยังเป็นโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิตยาและการกระจายยา GMDP PIC/s ตามมาตรฐานสากล มีศักยภาพด้านการวิจัยทางเภสัชกรรมซึ่งมีความสามารถนำองค์ความรู้
จากการวิจัยมาต่อยอดเป็นการผลิตระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้มียารักษาโรคมะเร็งเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศไทยซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เสริมสร้างองค์ความรู้แก่บุคลากรในด้านการผลิตเภสัชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่ประเทศไทย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย ดร.ภก.วัชระ กาญจนกวินกุล ผู้อำนวยการโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และแพทย์หญิงจอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ร่วมแถลงถึงผลแห่งการทรงงานด้านเภสัชกรรมด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และพระปณิธานอันแน่วแน่ตลอดหลายปีได้เกิดเป็นคุณูปการสำคัญต่อวงการสาธารณสุขที่พระองค์ทรงนำความสำเร็จในการผลิตยารักษาโรคมะเร็งมุ่งเป้าชนิดเม็ดตำรับแรกในประเทศไทยจากโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ภายใต้ชื่อยา “อิมครานิบ 100 / IMCRANIB 100" โดยได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
สำหรับ “ยาอิมครานิบ 100” คือ ยารักษาแบบมุ่งเป้า ที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Tyrosine kinase ที่สามารถยับยั้งการเติบโตและการกระจายของเซลล์มะเร็ง ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับเคมีบำบัดแบบเดิม ซึ่งสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้หลายประเภท เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดฟิลาเดลเฟียบวก มะเร็งเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร (GIST) มะเร็งผิวหนังชนิดหายาก (DFSP)
แม้ว่ายาอิมมาทินิบนี้ จะสามารถเบิกจ่ายจากกองทุนสุขภาพได้ในหลายโรคแล้วก็จริง แต่ยังมีข้อจำกัดในบางโรค และบางระยะของโรคที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายจากกองทุนสุขภาพในปัจจุบัน การผลิตได้เองในประเทศ จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดนี้ โดยการขยายขอบเขตการใช้ยาให้ครอบคลุมทุกข้อบ่งชี้ของการรักษาซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการควบคุมโรค ลดความทุกข์ทรมาน และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยศูนย์มะเร็งวิทยา ได้พิจารณานำยา "อิมครานิบ 100" มาใช้ในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่สำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และศักยภาพของการผลิตยาคุณภาพสูงในประเทศ ไปสู่การนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีความพร้อมในด้านระบบบริการ การจัดการยา และการติดตามข้อมูลผลลัพธ์ทางคลินิก โดยทำงานประสานร่วมกันระหว่างแพทย์ เภสัชกร และทีมสนับสนุน เพื่อให้การนำร่องนี้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
ความสำเร็จนี้นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่ไม่เพียงช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้พ้นจากทุกข์ภัยของโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะความชำนาญด้านการพัฒนาตำรับ การผลิต การควบคุมคุณภาพ การประกันคุณภาพ
การทดสอบทางเภสัชวิทยา และการขึ้นทะเบียนยารักษาโรคมะเร็งให้แก่บุคลากรและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เป็นการยกระดับความสามารถด้านเภสัชอุตสาหการและเทคโนโลยีเภสัชกรรมและบุคลากรทางด้านนี้ของประเทศไทยให้พร้อมรองรับการผลิตและการวิจัยยารักษาโรคมะเร็งตำรับอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป สร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศในระยะยาวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยอย่างยั่งยืน