วังวน ‘กัญชา’ เสรี - ผูกขาด - การแพทย์ จังหวะเวลาคืนยาเสพติด
เทียบเคียงตามกฎหมายปัจจุบัน “กัญชา” จัดเป็น “สารเสพติด” ไม่ใช่ “ยาเสพติด” อยู่ในสถานะเดียวกับ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และบุหรี่
ต่างกันตรงที่การมีกฎหมายเฉพาะมาควบคุม โดยน้ำเมา มีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และบุหรี่ มีพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ขณะที่ กัญชานั้น ถูกถอนร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชง ออกจากวาระพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ด้วยว่า “แนวทางควบคุมยังไม่ชัดเจน” จนผ่านมา 3 ปีหลังปลดล็อกจากยาเสพติด ก็ยังไร้พ.ร.บ.
ที่ผ่านมา การควบคุม “กัญชา” จึงใช้กลไกของประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ “ช่อดอกกัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม ฉบับแรกสมัยนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรมว.สาธารณสุข กำหนด ห้ามขายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และหญิงตั้งครรภ์,ห้ามสูบ ณ จุดขาย และห้ามจำหน่ายในสถานที่ที่กำหนด เป็นต้น
แต่การใช้เพียง ประกาศ”สมุนไพรควบคุม” ดูจะเอาไม่อยู่ แม้กฎหมายห้าม กลายเป็นการฝ่าฝืนเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งการจำหน่ายให้คนไทยและนักท่องเที่ยวแล้วปล่อยให้ “สูบที่ร้านขาย” สร้างความเดือดร้อน รำคาญต่อผู้คนในสังคมอย่างมาก
รวมถึง มีงานวิจัย พบว่า การใช้กัญชาเพิ่มขึ้น โดยคนไทย 1 ใน 4 มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ และเพื่อสันทนาการมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น อายุ 18-19 ปี มีการสูบกัญชาเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า จาก 0.9 % ในปี 2562 เป็น 9.7% ในปี 2565
เรียกได้ว่า “ใช้กัญชากันอย่างเสรี” ไม่สนใจ “ปฏิบัติตามกฎหมาย” ขณะเดียวกัน การตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ก็ “ไม่เข้มแข็ง” เพราะควบคุมระดับ “สมุนไพรควบคุม”นั้น ใช้เพียงเจ้าหน้าที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่งผลให้ภาคส่วนอื่น เช่น ตำรวจ ฝ่ายปกครอง จะไม่ได้เข้ามามีบทบาทมากนัก
ปิดฉากยุคสูบกัญชาเสรี
เข้ามาสู่ยุค “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นรมว.สาธารณสุข ผู้ปลดล็อกกระท่อมจากบัญชียาเสพติดสมัยเป็นรมว.ยุติธรรม ด้วยการออก “พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 ” ยุคร่วมสมัยเดียวกับการ “ปลดล็อกกัญชา”
ประกาศ “ช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม” เกิดขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.2568 จุดต่างจากเดิมที่สำคัญ คือ “ต้องขายให้ผู้ที่มีใบสั่งจ่ายจากวิชาชีพที่กำหนดเท่านั้น”
ตามมาด้วยสเต็ปที่ 2 ออกประกาศกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เกี่ยวกับ “แบบฟอร์มการสั่งจ่าย ช่อดอกกัญชา”
และอยู่ระหว่างการดำเนินการสเต็ปที่ 3 ออก “กฎกระทรวงการอนุญาตให้ศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …”.ที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จำหน่าย แปรรูป ช่อดอกกัญชา
หรือจะเข้าสู่กัญชาผูกขาด?
ทว่า การดำเนินการดังกล่าว “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย” มองว่า เป็นจุดเริ่มต้นและหลังจากกัญชาสู่ยาเสพติดจะก่อให้เกิดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “การผูกขาด” โดยวิธีการผูกขาดที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดคือ ผูกขาดโดยกฎหมาย จะต้องทำให้เกิดเงื่อนไข 2 ประการ คือ
1.ทำให้มีผู้ผลิตน้อยรายเพื่อควบคุมผลผลิต
2.การเปิดตลาดให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับผลผลิต
ประสิทธิ์ชัย ระบุว่า โดยการสร้างกลไกให้เกิด เงื่อนไขที่ 1 สร้างมาตรการจริงเพื่อผูกขาดการปลูก เมื่อสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับประชาชนสำเร็จ ก็มีความชอบธรรมที่จะบอกกับสังคมว่าจะเอาสิ่งนี้ไปขังคุกเพื่อความปลอดภัย
กัญชาที่ขายในประเทศไทยจะออกจากฟาร์มกัญชาของบรรษัทเพียงไม่กี่บรรษัท สามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป(เหมือนยาเสพติดตั้งต้นหลายตัวก็ซื้อกันในร้านขายยา) และดอกกัญชาทั้งหมดที่ขายจะต้องมาจากฟาร์มของบรรษัทที่ผูกขาดไว้แล้วเท่านั้นเพราะกฎหมายกำหนดว่าดอกที่จำหน่ายจะต้องผ่านมาตรฐาน
เมื่อพิจารณาประกาศกระทรวง เนื้อหาส่วนใหญ่ คือ ควบคุมการปลูกให้คนกลุ่มเดียวที่มีเงินพอ นับว่าสมศักดิ์เทพสุทิน สำเร็จในเงื่อนไขที่1
เงื่อนไขที่2 ต้องสร้างมาตรการควบคุม ‘แบบปลอม’ เพื่อเปิดตลาดสินค้ากัญชา เมื่อสร้างกัญชาให้น่ากลัวขึ้นมาแล้ว จะเปิดตลาดกัญชาให้กว้างได้ โดยวิธีการ สร้างมาตรการปลอมขึ้นมา วิธีการที่สังคมไทยเชื่อความปลอม ก็คือต้องยกผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเป็นผู้กำกับแล้วสังคมไทยจะเชื่อว่ามันถูกต้อง
การดำเนินการในขณะนี้ คือ ทำลายมาตรการปกป้องบุคคลที่ควรปกป้องทิ้งไป เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แล้วเปิดมาตรการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงกัญชาได้แค่เพียงมีใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพ 7 ประเภท ซึ่งตอนนี้โฆษณาขายใบกันเต็มโลกออนไลน์
“หากนำกัญชาเข้าสู่ยาเสพติดสำเร็จ ทุกคนในประเทศนี้จะเข้าถึงกัญชาได้โดยไม่ปกป้องบุคคลที่ควรปกป้อง และกัญชาที่อยู่ในระบบตลาดทั้งหมด คือ กัญชาของบรรษัทใหญ่เท่านั้น นี่คือภาพที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”ประสิทธิ์ชัยระบุ
การใช้วิธีการนี้ ประสิทธิ์ชัย ระบุว่า สำเร็จมาแล้วกับธุรกิจเบียร์ โดยเบียร์ของบรรษัทเท่านั้นที่ปลอดภัย เบียร์ของประชาชนสะอาดอย่างไรก็สกปรก มาสู่กัญชาที่ปลูกโดยบรรษัทเท่านั้นจึงจะมาตรฐาน กัญชาของประชาชนล้วนอันตรายไร้มาตรฐาน
ในวันที่ 7 ก.ค.2568 เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย จะเดินทางมาชุมนุมที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และจะปักหลักพักค้าง เพื่อเรียกร้องให้มีการออก “พ.ร.บ.กัญชา”
กัญชาทางการแพทย์ ใช้ถูกต้อง-มีประโยชน์
เมื่อถึงวันที่ “กัญชาคืนยาเสพติด”แล้วทำไม ต้องเปิดช่องให้ใช้ “กัญชาทางการแพทย์” นั่นเป็นเพราะ กัญชา โดยเฉพาะที่ช่อดอกกัญชา จะมีสารสำคัญที่เรียกว่า “ซีบีดี(CBD)” และ “ทีเอชซี(THC)” สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ หากมีการใช้ในทางที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ตำรับยาแผนไทย มีอยู่ไม่น้อยที่มีการนำกัญชามาเป็นส่วนผสม ยกตัวอย่างที่มีการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรแล้ว อาทิ ยาทำลายพระสุเมรุ ยาน้ำมันกัญชาจากกัญชาทั้ง 5 ส่วน ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีCBDสูง ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD และTHCสัดส่วนเท่ากัน ยาศุขไสยาสน์ และยาน้ำมันกัญชาจากช่อดอก เป็นต้น
ขณะที่การแพทย์แผนปัจจุบัน ตามคำแนะนำการใช้กัญชา ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 6 (2567) ออกโดยกรมการแพทย์ ระบุว่า โรคและภาวะที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แล้ว “ได้ประโยชน์” เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน แต่ทั้งหมดต้องใช้ภายใต้การพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มี 6 โรค/ภาวะ ได้แก่
- ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
- โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
- ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง และภาวะปวดประสาทส่วนกลาง
- ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง
- ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
- และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง
แงะไทม์ไลน์ กัญชาคืนยาเสพติด
แม้จะเป็นนโยบายชัดเจนของพรรคเพื่อไทย มาตั้งแต่สมัย “เศรษฐา ทวีสิน”เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาจนถึง “แพทองธาร ชินวัตร” ที่จะนำ “กัญชาคืนยาเสพติด” แต่ที่ผ่านมาอาจจะ “ติดโรคเกรงใจ” เพราะมีพรรคภูมิใจไทย(ภท)แกนหลักในการปลดล็อกกัญชา อยู่ร่วมรัฐบาลด้วย
จนเมื่อภท.ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วม รัฐบาลก็มีการขยับโดยเริ่มจากสธ.ออกประกาศช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมฉบับที่ 2 ต่อมาด้วยสเต็ปต่างๆ และวาดหวังปลายทางที่ “กัญชาคืนยาเสพติด”
ทำได้โดยรมว.สาธารณสุข นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(บอร์ดป.ป.ส.) หากเห็นชอบก็ส่งกลับมาให้ รมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศสธ. เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5
ทว่า ที่ผ่านมา ถามกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง “นายสมศักดิ์” ก็ยังไม่มีคำตอบว่า “เมื่อไหร่ที่จะนำกัญชาคืนยาเสพติด”
หากพิจารณาจาก “จังหวะ” และ “การเตรียมพร้อม” ไม่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2568 แต่ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นใน “รัฐบาลชุดนี้” หากสามารถอยู่ครบเทอมอีก 2 ปี
“จังหวะ”ที่ว่าคือ ช่วงปลายปีนี้ ร้านขายกัญชาที่ได้รับอนุญาตกว่า 18,000 แห่งทั่วประเทศ จะมีราว 12,000 แห่งที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ และหากจะต่อใบอนุญาตใหม่ ก็ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ที่กำหนดและกำลังจะออกมา นั่นคือ ต้องเป็นสถานพยาบาล ร้านขายยา ร้านขายสมุนไพร ร้านหมอพื้นบ้าน และต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพที่กำหนดอยู่ประจำร้าน
ส่วน “การเตรียมพร้อม” จุดสำคัญ คือ “สกัดการฟ้องร้องรัฐจากภาคเอกชนที่ลงทุนในธุรกิจไปแล้วไม่น้อย” ซึ่งหากกำหนดเพียงให้เป็นสมุนไพรควบคุมอย่างปัจจุบันนั้น ก็จะส่งผลหลักต่อ “ร้านขาย”ที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งนายสมศักดิ์ ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก “เตรียมการ”รองรับเรื่องนี้ไว้แล้ว
"ขอเติมว่า เวลามาต่อใบอนุญาต หรือขอใบอนุญาตใหม่ ในกรณีที่เปลี่ยนแปลงจากสมุนไพรควบคุม ไปเป็นยาเสพติด ก็ต้องทำให้เรียบร้อย ว่าจะไม่มีปัญหา ไม่ฟ้องร้องเอาความ ให้กรมเติมเรื่องนี้ไปในแบบฟอร์มอนุญาต เป็นคำมั่นสัญญา ”นายสมศักดิ์กล่าวระหว่างการพบผู้ประกอบการที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ
แต่หาก “กัญชาคืนยาเสพติด” เท่ากับทุกส่วนของกัญชา ไม่ว่าจะเป็นราก กิ่ง ก้าน ใบ ช่อดอกและสารสกัดจะเป็นยาเสพติดด้วย ก็จะส่งผลไปสู่ “ผู้ประกอบการ”ที่นำกัญชามาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆด้วย เช่น เครื่องสำอาง อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จะกระจายผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐกว้างมากขึ้น
ส่วนนี้ “รัฐจะรับมืออย่างไร” หรือจะกำหนดให้ “ผลิตภัณฑ์สุขภาพตามกฎหมายที่อย.กำกับ เท่ากับเป็นการใช้กัญชาทางการแพทย์”หรือไม่
ท่ามกลาง “การเมืองผันผวน” ต้องรอดูว่า “วังวนกัญชา” ท้ายที่สุดจะถูกควบคุมการใช้ โดย “พ.ร.บ.ควบคุมกัญชา” ที่มีการยกร่างแล้วหลายฉบับ รวมถึง ฉบับของกระทรวงสาธารณสุข หรือ “คืนกัญชาเป็นยาเสพติด”