'ทราเวลเนส' เทรนด์ใหม่ มากกว่า 'ที่เที่ยว' แต่เป็น 'ที่เยียวยา'
หลังวิกฤตโควิด-19 ผู้คนทั่วโลกเริ่มมองหาการเดินทางที่ไม่ใช่แค่เพื่อพักผ่อน แต่ต้อง “เยียวยา” ทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ เทรนด์ใหม่นี้ถูกเรียกว่า “Trawellness” (ทราเวลเนส) รวมระหว่างการเดินทาง( Travel ) และการดูแลสุขภาพ ( Wellness) ซึ่งกำลังกลายเป็นกระแสหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพด้วย
4 เทรนด์ ทราเวลเนส น่าจับตามอง
ยูโร มอร์นิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Euromonitor International) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ(TCDC)ระบุ 4 เทรนด์ทราเวลเนสที่น่าจับตามองในปี 2025 คือ
1.Well-topia มหานครแห่งสุขภาวะ เมืองสุขภาวะแห่งอนาคต ตอบโจทย์ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนทุกกลุ่ม
2.Seen Space พื้นที่แห่งตัวตน ผู้คนต้องการพื้นที่ให้ได้แสดงตัวตนมากขึ้น สร้างพื้นที่ปลอดภัย สำหรับความหลากหลาย
3. Refueling TraWellness เติมเต็มหัวใจ ผู้คนให้ความสนใจกับสุขภาพจิตมากขึ้น โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z จัดหาบริการสปาสุดผ่อนคลาย สร้างบรรยากาศที่ดีต่อใจ
4.Metamorphic Cities เมืองที่ไม่มีวันหลับใหล เมืองที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง แหล่งเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเสมอภาค
10 เทรนด์เวลเนส 2025
จากรายงานของ Global Wellness Institute คาดว่าอุตสาหกรรม Wellness Tourism จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.2% และมีมูลค่าทั่วโลกแตะ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2028 โดยประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็น “Global Wellness Hub” ด้วยจุดแข็งด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม และบริการสุขภาพแบบองค์รวม
ฉะนั้น หากประเทศไทยที่มีจุดแข็งเรื่อง “สถานที่ท่องเที่ยว”มากมายอยู่แล้ว มาเพิ่มเติมเรื่อง “เวลเนส (Wellness) ก็จะเป็นกลายเป็น “จุดขายใหม่”ที่แตกต่างจากเดิมได้อย่างมาก
เทรนด์เวลเนสในปี 2025 จาก Global Wellness Summit มีอยู่ราว 10 เรื่อง ที่สามารถนำไปผนวกเข้ากับการท่องเที่ยวได้
1.Analog Wellness เน้นการตัดขาดจากโลกเทคโนโลยี เพื่อลดความเครียด ความกังวลจากการเปรียบเทียบ
2.Sauna Reimagined ศูนย์รวมของสังคมและสถานที่พักผ่อน ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ อย่างเรื่องของโซเชียล ซาวน่า ที่รวมกิจกรรมบำบัด เสียงเพลง และสถานที่สวยงาม พร้อมซาวน่า
3.The Supplement Paradox การปฏิวัติวงการเสริมอาหาร ที่จะมุ่งเน้นไปที่ความแม่นยำและความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องวิตามินเฉพาะบุคคลตามผลเลือด รวมถึง การใช้ AI และการตรวจสุขภาพเชิงลึกเพื่อออกแบบอาหารเสริมให้เหมาะกับบุคคล
4.Teen Wellness การดูแลสุขภาพวัยรุ่นอย่างจริงจัง เช่น เรื่องสุขภาพจิต
5.Watershed Wellness สุขภาพกับวิกฤตน้ำ
6.Augmented Biology การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพ
7.Longevityblogy Redefines Work งานวัยเกษียณที่เปลี่ยนไป พัฒนารูปแบบการทำงานที่ช่วยให้พนักงานสูงวัยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสุขภาพดี
8.Wellness Tackles Addiction สุขภาพกับการบำบัดการเสพติด นำเสนอแนวทางใหม่ ในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาการเสพติด เช่น ศูนย์บำบัดสุดหรูที่เน้นทั้งสุขภาพกายและใจ
9.Wellness on the Line การเดินทางแนวสุขภาพผ่านเรือสำราญและรถไฟ
10.The Middleon East's Wellness Ambitions ตะวันออกกลางกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยรีสอร์ทสุขภาพระดับโลกและแนวคิดที่รวมถึงศูนย์ดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน
เจาะมาน้อย พักนาน แต่จ่ายมากขึ้น
“Trawellness” ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เน้น “คุณภาพชีวิต” มากกว่า “ปริมาณนักท่องเที่ยว” ประเทศไทยมีโอกาสทองในการใช้จุดแข็งด้านวัฒนธรรมและสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืนและมีคุณค่าทางใจ
กุสุมา กิ่งเล็ก CEO อ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ท แอนด์สปา กล่าวว่า การนำเสนอเรื่อง health and wellness เป็นอนาคตของการท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ แบบที่เรียกว่านักท่องเที่ยว มาน้อย พักนาน แต่จ่ายมากขึ้น เป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ได้ต้องการนักท่องเที่ยวเชิงปริมาณ แต่ต้องการนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
อย่างที่อ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า ปัจจุบันมีห้องพัก 58 ห้อง ก็วางเรื่องของการเพิ่มรายได้ โดยไม่เพิ่มจำนวนห้อง ทำให้สามารถมีรายได้เทียบเท่ากับที่พักที่มี 200 ห้อง ก็คือ การขึ้นราคา โดยมีเหตุผล ขายในสิ่งที่เป็นสิ่งที่ลูกค้ามีความรู้สึกว่า Value for money ,Value to play ก็เพิ่มเติมลักษณะ wellness room และเพิ่มมูลค่าด้วยการการใส่บริการมูลค่าเพิ่ม คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
“ปัจจุบันนี้ จากเดิมเคยจ่ายเซอร์วิสชาร์จ พนักงานได้ แค่ 1,000 บาท ตอนนี้สามารถจ่ายได้ถึง 15,000 บาท เป็นส่วนที่สะท้อนได้ว่า ถ้าคุณทำในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างแท้จริง จะเป็นตัวสร้างกระแสในเรื่องของรายได้ให้กับชุมชนได้”กุสุมากล่าว
"Wellness 5.0" ทางออกของไทย
ขณะที่ นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และบีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)ให้มุมมองว่า อนาคตของประเทศไทยที่ต้องเดินหน้าด้วยธุรกิจ "Wellness" หรือธุรกิจสุขภาพ เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจเก่าๆ อย่างการท่องเที่ยวกับการส่งออกเริ่มจะแผ่วลง โดยธุรกิจสุขภาพนี้มูลค่ามหาศาล และโตเร็วมากๆ โดยเฉพาะ 3 อย่าง คือ
- Wellness Real Estate บ้านหรือโรงแรมที่ใส่ใจสุขภาพ เช่น บ้านปลอดฝุ่น PM 2.5 หรือโรงแรมที่เน้นเรื่องการนอนหลับโดยเฉพาะ
- Mental Wellness สุขภาพจิตใจ
- Wellness Tourism การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งประเทศไทย โตเป็นอันดับ 2 ของโลก
ทางออกของไทย เสนอแนวคิด "Wellness 5.0" คือการนำ "วิทยาศาสตร์" มาจับกับทุกอย่างที่เป็น Wellness ของไทย อย่างเช่น อาหาร ต้องมีข้อมูลโภชนาการชัดเจน , สมุนไพร ต้องมีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ ส่งออกได้ทั่วโลก ,นวดไทย ต้องยกระดับเป็นการนวดเชิงการแพทย์ มีการตรวจร่างกายก่อนนวดและสุขภาพใจ ใช้การทำสมาธิ ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัดมาช่วย ส่วนเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไม่อยากมาประเทศไทย คือ “ปัญหาฝุ่น PM 2.5”
“ประเทศไทยมีของดีอยู่ในมือจำนวนมาก ทั้งอาหาร สมุนไพร การนวด แต่ต้องยกระดับทุกอย่างด้วยวิทยาศาสตร์และความรู้จริงจัง เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก หรือเวลเนสฮับ(Wellness Hub) ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน”นพ.ตนุพลกล่าว