10 เทรนด์ Future Food โอกาสทองผู้ประกอบการไทยบนเวทีโลก
Future Food หรือ อาหารแห่งอนาคต ยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย เมื่อโลกของอาหารกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จากอดีตที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับรสชาติและหน้าตาของอาหาร แต่วันนี้สิ่งที่ถูกมองหาไม่ใช่แค่ “อร่อย” แต่กลายเป็นเรื่องของวัตถุดิบดี สุขภาพ นวัตกรรม และความยั่งยืนซึ่งกลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ผู้บริโภคทั่วโลกคาดหวังในทุกคำที่กิน
10 เทรนด์ Future Food
ที่ผู้ประกอบการอาหาร SME ต้องรู้ เพื่อเตรียมตัวคว้าโอกาสในอนาคตที่ใกล้กว่าที่คิด
1. วัตถุดิบดี คือต้องเกินมาตรฐาน : วัตถุดิบคุณภาพในอนาคตไม่ใช่แค่ดีหรือปลอดภัย แต่ต้อง “มีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์” รองรับ เช่น โปรตีนจากพืช (Plant-Based) ต้องดูดซึมได้ดี มีงานวิจัยรองรับ ไม่ใช่แค่คำโฆษณาสวยหรู
2. โภชนาการเฉพาะบุคคล เทรนด์สุขภาพที่ตรงใจ : อาหารจะถูกออกแบบให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล เช่น อาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน ความดัน คนรักสุขภาพ หรือออกกำลังกาย กลายเป็นตลาดใหม่ที่มาแรง
3. รสชาติหลุดกรอบ สร้างสรรค์ไม่จำเจ : ลูกเล่นของรสชาติกลายเป็นจุดขาย เช่น เจลลี่รสน้ำปลาหวาน หรือขนมขบเคี้ยวรสผัดกะเพรา เป็นโอกาสในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ “แตกต่างและสนุก”
4. ดูแลลำไส้ สุขภาพดีเริ่มที่ระบบย่อย : โปรไบโอติกส์ ไฟเบอร์ และเครื่องดื่มหมักอย่างไซเดอร์หรือคอมบูชา มาแรง เพราะผู้บริโภคเชื่อว่าสุขภาพที่ดีเริ่มจากลำไส้ที่ดี
5. โปรตีนจากพืช กระแสใส่ใจธรรมชาติ : เทรนด์ไม่ใช่แค่การเลียนแบบรสชาติเนื้อสัตว์อีกต่อไป แต่คือการพัฒนาโปรตีนจากพืชแบบ “จริงใจ” ลดสารปรุงแต่ง เพื่อสุขภาพและธรรมชาติไปพร้อมกัน
6. อาหารสายยั่งยืน ปรับตัวเพื่อโลก : ผู้บริโภคต้องการรู้ว่าอาหารมาจากไหน วิธีผลิตรักษ์โลกแค่ไหน ฉลากคาร์บอนกำลังจะกลายเป็น “มาตรฐานใหม่” ที่ไม่ใช่แค่จุดขาย แต่คือใบเบิกทางสู่ตลาดยุโรป
7. อาหารกินดี ผิวดี สวยจากภายใน เน้นสุขภาพ : อาหารที่ช่วยให้ “สวยจากข้างใน” เช่น เสริมผิว ผม เล็บ หรือสมดุลฮอร์โมน กำลังเป็นอีกเซ็กเมนต์ที่มาแรงในตลาดเครื่องดื่มและของว่าง
8. อาหารท้องถิ่น พลิกโฉมด้วยการเพิ่มไอเดีย : ข้าวซอย ขนมจีน ส้มตำ กำลังกลับมาใหม่ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ พร้อมแบรนด์ดิ้งที่เชิดชูรากวัฒนธรรม และเชื่อมโยงกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อเพิ่มมูลค่า
9. อาหารช่วยปรับอารมณ์ เสริมสุขภาพจิต : สุขภาพจิตกลายเป็นปัญหาสากล อาหารที่ช่วยให้ “ใจดีขึ้น นอนดีขึ้น สมาธิดีขึ้น” จึงกลายเป็นนวัตกรรมที่แบรนด์ใหญ่เริ่มพัฒนา และ SME ไทยก็เริ่มได้เช่นกัน
10. ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกการกิน : AI ช่วยคิดสูตร คำนวณโภชนาการ ออกแบบแพ็กเกจ และวางแผนการผลิตได้แม่นยำขึ้น ผู้ประกอบการไทยที่ปรับใช้ได้ก่อน จะได้เปรียบในทุกมิติ
นอกจากเทรนด์แล้ว ประเทศไทยยังมีการวางแนวทางส่งเสริม “Future Food” อย่างจริงจัง โดยร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และหอการค้าไทย โดยแบ่ง Future Food ออกเป็น 4 กลุ่มที่เป็นดาวเด่นของไทย ได้แก่
- อาหารฟังก์ชันและส่วนประกอบอาหารเชิงฟังก์ชัน : เน้นอาหารที่มีฟังก์ชันพิเศษ เช่น อาหารสูตรลดน้ำตาล ไฟเบอร์สูง หรือมีพรีไบโอติก เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดอนาคตของไทย (คิดเป็น 95%) และสร้างจุดขายที่แตกต่างในระดับโลก
- อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล : อาหารไทยในมุมของความเป็นยาและการดูแลสุขภาพองค์รวม เช่น อาหารผู้ป่วยเบาหวาน ไต ผู้สูงอายุ หรือแม่ตั้งครรภ์ เป็นตลาดที่รัฐไทยมีแผนผลักดันในปี 2025 โดยเฉพาะการเปิดตัวในงาน Osaka Gourmet EXPO 2025
- โปรตีนทางเลือก : ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากแมลง (Insect-based), จุลินทรีย์ หรือแม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยี 3D Food Printing เพื่อสร้างเนื้อที่เหมือนจริง กำลังเป็นความหวังใหม่ของโลกอาหาร
- อาหารออร์แกนิก (Organic Food) : ผักผลไม้อินทรีย์ และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ปลอดสาร เป็นที่ต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ ไทยสามารถใช้ความได้เปรียบด้านภูมิประเทศและวัฒนธรรมอาหารเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มนี้